อืมมม...ไม่เชิงจะถามปัญหา แต่ชวนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นมากกว่า...แต่ก็ดีครับเพราะหลายท่านก็ถามมาหลังไมค์ในลักษณะนี้มากเหมือนกัน
และคำตอบต่อไปนี้คือความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ และไม่ใช่ข้อยุติที่จะนำไปอ้างอิงได้ ซึ่งทนายมีความคิดเห็นตามหัวข้อที่ถามดังนี้ครับ
๑.หากมีศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษ โดยเฉพาะคดีแรงงานนั้น บางมุมก็ดูจะเร็วขึ้นโดยคดีต่างๆจะอุทธรณ์สู่ศาลอุทธรณ์ภาค ซึ่งคาดว่าจะมีการเปิดอยู่หลายจังหวัด ซึ่งก็จะส่งผลให้มีท่านผู้พิพากษาประจำศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาคดีให้เสร็จเร็วขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ชัดว่าจะเปิดศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษตามภาคต่างๆหรือไม่ ในเบื้องต้นที่เป็นข่าววงในที่เกี่ยวดองหนองยุ่งกับการเปิดทำการของศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษนี้ จะเปิดเพียงศาลเดียว ทำหน้าที่เสมือนศาลฏีกาแผนกคดีแรงงานในปัจจุบัน ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไป
แต่อย่างไรก็ตาม หากเปิดศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแล้ว ในบางมุม กลับมาความล่าช้า เนื่องจากคู่ความยังสามารถอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ไปยังศาลฎีกา(มีอยู่ศาลเดียว) ในข้อกฎหมายที่เป็นข้อสำคัญอันควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลฏีกา ซึ่งจะส่งผลให้ระยะเวลากว่าคดีจะยุติก็จะถูกยืดออกไปจากเดิมที่กำหนดไว้ในคดีแรงงานเพียง ๒ ศาล คือศาลชั้นต้น กับศาลฏีกา ก็จะเปลี่ยนเป็น ๓ ศาล สรุปก็คือ มีทั้งรวดเร็วกว่าเดิม และช้ากว่าเดิมครับ
แต่ปัญหาสำคัญไม่ใช่อยู่ที่จะเร็วหรือจะช้า ประเด็นมันอยู่ที่ว่า ต่อไปจะหาแนวคำพิพากษาเพื่อนำมาเป็นบรรทัดฐานได้หรือไม่ เนื่องจาก เมื่อเปิดศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษแล้ว สมมุติว่าเปิดมากกว่าหนึ่งแห่ง นั้นก็หมายความว่า จะมีองค์คณะพิจารณาคดีในชั้นอุทธรณ์ประจำแต่ละแห่ง แล้วคำถามคือ ในทุกศาลคณะจะพิพากษาคดีเหมือนกันหรือไม่ เพราะแต่ละคณะก็จะมีดุลพินิจของท่านเองเป็นอิสระ โดยเฉพาะประเด็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเพราะประเด็นนี้เป็นข้อกฎหมายซึ่งสามารถอุทธรณ์ได้ ซึ่งแต่เดิมจะอุทธณ์ข้อกฎหมายก็จะต้องอุทธรณ์ต่อศาลฏีกา ซึ่งมีอยู่ศาลเดียว ซึ่งคำพิพากษาของศาลฏีกาก็จะเป็นแนวทางในการเรียนรู็กฎหมายมาโดยตลอด...ทั่นทั้งหลายก็ช่วยกันคิดต่อก็แล้วกันว่าจะทำกันอย่างไร...ทนายก็ตั้งเป็นประเด็นไว้เผื่อว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายจะหาแนวทางแก้ไขและปิดช่องว่างตรงนี้นะครับ
๒.โดยปกติก็จะมีการบอกไว้อยู่ในกฎหมายว่า ในกรณีเช่นนี้มีทางออกอย่างไร และโดยปกติหากฟ้องแล้วคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาและมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น หากศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษ ยังไม่เปิดทำการ หากมีการอุทธรณ์ก็จะให้อุทธรณ์ไปยังศาลฏีกาเหมือนเดิม แต่หากมีการเปิดศาลขั้นมาก่อนก็ "น่าจะ" อุทธรณ์ต่อศาลชำนัญพิเศษที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลครับ แต่ทั้งนี้ต้องดูบทเฉพาะกาลหรืออาจจะมีซักหนึ่งมาตราที่กล่าวเรื่องนี้ไว้ คงต้องดูในกฎหมายด้วยว่าบัญญัติไว้ว่าอย่างไรครับ
๓.ตอบง่ายๆเลยนะครับว่า...ทนายก็ไม่รู้เหมือนกันครับ...คงต้องดูความพร้อมของทุกฝ่าย ทั้งผู้พิพากษาที่จะมานั่งทำหน้าที่พิจารณาคดีความ , เจ้าหน้าที่ประจำศาล , อาคารสถานที่ , งบประมาณ และ ฯลฯ แต่ทั้งหมดทั้งมวล จะเปิดทำการหรือย้ายไปอยู่ที่แห่งหนตำบลใด ทนายความก็ไม่มีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านได้ ก็คงต้องตามไปทำงานกับท่านๆทั้งหลายจนกว่าจะเลิกวิชาชีพทนายความล่ะครับ...อิอิ
ทนายพร