บริษัทมีผลประกอบการที่ไม่ค่อยดี จึงได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างในการบริหารจัดการด้วยการเพิ่มเนื้องานเพื่อไม่ต้องลดคน ถามว่า วิธีการแบบนี้ถูกต้องหรือไม่?
เป็นคำถามที่ตอบยากพอสมควร เนื่องจากว่ามันมิใช่เรื่องที่จะชี้ผิดชี้ถูกได้โดยไม่พิจารณาจากองค์ประกอบอื่นๆ ซึ่งถ้ามองในมิติของนายจ้างก็ถือว่าเป็นการที่พยายามประคับประคองสถานการณ์เพื่อให้สามารถทำงานอยู่ได้ และได้ “เลือก” คุณซึ่งเป็นผู้มีความสามารถให้ “อยู่ต่อ” ดังนั้นคุณจึงเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในสายตาของนายจ้างและนายจ้างก็ได้พิจารณาแล้วว่าคุณน่าจะทำงานนี้ได้เป็นอย่างดี
แต่อีกมิติหนึ่งก็เหมือนว่างานคุณจะมากขึ้นและได้รับมอบหมายงานที่ไม่ถนัด อันจะส่งผลให้ผลงานออกมาไม่ดี และอาจถูกเพิ่งเล็งและอาจถูกนายจ้างเลิกจ้างได้ ซึ่งทนายมองประเด็นนี้ว่า หากเราทำงานอย่างเต็มความสามารถ ไม่ว่าจะถนัดหรือไม่ถนัด หากอยากจะเรียนรู้และทำด้วย “ใจและความสนุก” งานก็จะต้องออกมาดีอย่างแน่นอน ถึงแม้ว่างานจะออกมาไม่ดีเท่าที่ควรแต่การที่เราทุ่มเทและมีความพยายามอย่างเต็มที่นายจ้างก็คงจะมองเห็นแน่นอน และจงเชื่อมั่นในความสามารถของเราครับ
ส่วนท้ายที่สุดหากนายจ้างให้เราออกด้วยเหตุนี้ นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน (มาตรา ๑๑๘) , สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า หากไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ถูกต้องตามกฎหมาย , ค่าจ้างค้างจ่าย(ถ้ามี) , ค่าตอบแทนในวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสม และตามส่วนในปีที่ถูกให้ออก และ ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมครับ
ทนายพร