ขออภัยอย่างยิ่งด้วยภารกิจที่มากมาย ทำให้มาตอบช้ามาก ไม่แน่ใจว่าจะทันเวลาหรือไม่ อย่างไร
(1) การทำงานของแรงงานข้ามชาติ จะเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นฉบับหลักๆที่ดูแลเรื่องนี้ ในกรณีงานก่อสร้างปัญหาที่พบตลอด คือ แรงงานข้ามชาติที่ยังไม่มี passport มีแค่บัตรสีชมพู จะต้องทำงานภายในพื้นที่เขต หรืออำเภอที่ขอขึ้นทะเบียนไว้เท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติงานก่อสร้างต้องย้ายสถานที่ทำงานไปตามไซต์ก่อสร้างใหม่อยู่เรื่อย ๆ
ดังนั้นถ้าจะทำให้ถูกต้อง จะต้องไปขออนุญาตกับสำนักงานจัดหางานในพื้นที่นั้นๆอีกครั้ง ทำให้นายจ้างจึงมักหลีกเลี่ยงกลายเป็นข้อจำกัดว่าทำไมแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายยังดำรงอยู่ และถูกตำรวจเข้าจับกุมอยู่บ่อยครั้ง
(2) นายจ้างที่ลักลอบจ้างแรงงานข้ามชาติมีความผิดตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 มีโทษปรับ 1 หมื่นถึง 1 แสนบาทต่อการจ้างแรงงานข้ามชาติ 1 คน ส่วนแรงงานข้ามชาติที่ลักลอบทำงานมีความผิดจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 พัน ถึง 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แต่หากแรงงานต่างด้าวยอมกลับประเทศต้นทางภายใน 30 วัน ให้เจ้าหน้าที่ลงโทษปรับและส่งกลับประเทศต้นทาง
(3) ในกรณีที่เล่ามา ถือว่าผู้รับเหมาค่าแรงช่วง เป็นนายจ้างตัวจริงที่มีความผิดในการใช้แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย แต่สำหรับวิศวกรที่ควบคุมโครงการ เนื่องจากไม่เห็นเอกสารที่แนบมา คาดว่าน่าจะเป็นคนเซ็นสัญญาจ้างผู้รับเหมาค่าแรงช่วง ทำให้ถือได้ว่าเป็นผู้กระทำการแทนนายจ้าง
ซึ่งตำรวจจะมองว่า เรารู้เห็นในลักษณะเป็นตัวการหรือผู้สนับสนุนในการให้บริษัทรับเหมาค่าแรงใช้แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายร่วมด้วย ทำให้ตำรวจจึงเรียกวิศวกรในฐานะผู้กระทำการแทนนายจ้างในครั้งนี้ไปพบเพื่อสอบสวนเพิ่มเติมด้วย
โดยเป็นไปตามมาตรา 48 ในพ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ที่ระบุว่า ถ้านายจ้างไม่ปฏิบัติตามหนังสือสอบถามหรือหนังสือเรียกหรือไม่ยอมให้ข้อเท็จจริง หรือไม่ส่งเอกสารหรือหลักฐานแก่นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยไม่มีเหตุอันควร จะถูกปรับไม่เกิน 10,000 บาท
เอาเป็นว่า ข้อแนะนำของทนายคือไปตามคำสั่งเรียก แล้วไปเจรจาความเพื่อหาทางออก และคราวหน้าก็จัดทำเอกสารหรือสัญญาจ้างผู้รับเหมาให้รัดกุมว่า ต้องไม่ทำแรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมายมาทำงานในไซด์งานของเรา ก็จะเป็นการป้องกันปัญหาในเบื้องต้นได้ครับ
ทนายพร