เรื่องค้ำประกันนี่เป็นอะไรที่น่าปวดใจมากนะครับ หากเพื่อนมาขอให้ค้ำประกันให้ ถ้าไม่ค้ำก็ดูเหมือนเราจะเป็นคนไม่มีน้ำใจ อาจจะถึงขั้นเสียเพื่อนก็เป็นได้ แต่ถ้าจำใจต้องค้ำประกันก็ต้องลุ้นอีกว่า เจ้าเพื่อนจะผ่อนได้ตรงตามกำหนดหรือไม่ ถ้าเพื่อนหนีหนี้ ก็เจ็บใจล่ะครับ ดังคำที่ว่า เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง แต่เอากระดูกมาแขวนคอ ซึ่งทนายก็ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับผู้ถามนี่แหละครับ..ฮา
เข้าเรื่องเลย
อย่างแรกต้องกลับไปดูที่สัญญาค้ำประกันว่า เราค้ำในฐานะลูกหนี้ร่วมหรือไม่ และในสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเราได้ยินยอมให้หักเงินเดือนไว้ในสัญญาหรือไม่ หากพลิกคว่ำพลิกหงายแล้วปรากฎว่า เราไปยินยอมไว้ในสัญญา ถ้าเป็นเช่นนี้อาจทำได้แค่อย่างเดียวคือทำใจละครับ
แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะไม่ยินยอมไว้ สหกรณ์ฯก็อาจไปใช้สิทธิทางศาลในการฟ้องเราในฐานะคนค้ำประกันให้ร่วมชำระหนี้ได้
ซึี่งก็ไม่พ้นที่จะต้องร่วมชำระอยู่ดี หากเพื่อนตัวดีหนีหนี้ไป โดยทั่วไปวิธีการของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา(สหกรณ์ฯ) ก็จะไปบังคับคดีด้วยการอายัดเงินเดือน (หากมีเงินเดือนเกินกว่า ๒ หมื่นบาท) หรือเงินโบนัสและเงินได้อื่นๆ ได้อยู่ดีล่ะครับ
ขอแนะนำของทนายคือ ไปขอประนอมหนี้กับสหกรณ์ฯ โดยขอชำระขั้นต่ำเท่าที่เราสามารถจะชำระได้ ซึ่งกรณีอย่างนี้ สหกรณ์ฯคงไม่ใจไม้ใส้ระกำหรอกมั๊งครับ เพราะเงินเราก็ไม่ได้ใช้ แต่ต้องมารับชำระหนี้แทน
ส่วนจะไปฟ้องศาลเพื่อเอาผิดสหกรณ์นั้น ยากอยู่ครับ
เอาใจช่วยนะครับ
ทนายพร