มีคำถามเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาที่จดทะเบียนโดยถูกต้องตามกฎหมาย กับสามีภรรยาที่ไม่จดทะเบียนกัน หรือเรียกกันว่าคู่ชีวิตว่าทรัพย์สินดังกล่าวจะจัดการอย่างไร ผลของกฎหมายเป็นอย่างไร
ทนายก็ขออนุญาตอ้างอิงข้อมูลจากหนังสือ “หลักกฎหมายครอบครัว” ซึ่งเขียนด้วยศาสตราจารย์พิเศษประสพสุข บุญเดช เมื่อปี 2543 ซึ่งเป็นอดีตประธานวุฒิสภา และปัจจุบันเป็นอาจารย์บรรยายวิชากฎหมายครอบครัว ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเนติบัณฑิตยสภา ได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนว่า
- มาตรา 1457 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่า การสมรสจะมีได้เมื่อได้จดทะเบียนสมรสกันแล้วเท่านั้น ชายและหญิงที่อยู่ด้วยกันดังกล่าวจึงไม่เป็นคู่สมรสต่อกัน บุตรที่เกิดมาก็ถือว่าเป็นบุตรของหญิงฝ่ายเดียว สินส่วนตัวและสินสมรสไม่เกิดขึ้น
- แต่อย่างไรก็ตามทรัพย์สินที่ชายหญิงคู่นี้ได้ลงทุนร่วมแรงทำมาหาได้ร่วมกัน ระหว่างที่อยู่กินด้วยกันนั้น ถือว่าเป็นเจ้าของร่วมกันและมีส่วนในทรัพย์สินเหล่านั้นคนละครึ่งเท่ากัน แม้ทางกฎหมายจะไม่ถือว่าเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็หาได้กระทบกระเทือนถึงสิทธิในทรัพย์สินที่ชายหญิงจะพึงมีได้ตามกฎหมายทั่วไปไม่
เช่น หญิงชายอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส ได้ร่วมกันซื้อนาและทำกินเป็นการแสดงเจตนาให้ถือได้ว่าเป็นเจ้าของร่วมกัน ส่วนเงินที่ซื้อ ฝ่ายใดจะยืมใครมาเป็นอีกเรื่องหนึ่งไม่เกี่ยวกับตัวทรัพย์ ต้องถือว่าต่างมีสิทธิเป็นเจ้าของคนละครึ่ง เป็นต้น
- สำหรับทรัพย์สินที่ต่างคนต่างทำมาหาได้แยกกันนั้นเป็นสิทธิของฝ่ายนั้นผู้เดียว อีกฝ่ายหนึ่งไม่มีส่วนแบ่งด้วยเพราะไม่ถือว่าเป็นสินสมรสตามมาตรา 1474(1) ฉะนั้น สามีภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ภรรยาจึงไม่มีสิทธิฟ้องของแบ่งทรัพย์จากสามี ในส่วนทรัพย์ที่ภรรยามิได้ร่วมแรงร่วมทุนทำมาหาได้กับสามีแต่อย่างใด
- การลงทุนร่วมแรงทำมาหาได้ร่วมกัน โดยหลักการแล้วหมายถึงเฉพาะการที่ชายและหญิงร่วมกันทำการค้าหรือดำเนินกิจการใดโดยเฉพาะเจาะจงแล้วได้เงินหรือทรัพย์สินมา เงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวจึงจะถือว่าชายและหญิงเป็นเจ้าของร่วมกันในส่วนเท่ากัน
- ตัวอย่างเช่น หากชายรับราชการได้เงินเดือนเดือนละ 15,000 บาท เงินเดือนและค่าจ้างเป็นของชายโดยเฉพาะ หรือหญิงได้รับมรดกเป็นที่ดิน 3 แปลง ที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวก็เป็นของหญิงโดยลำพังเช่นเดียวกัน
- การที่ชายหญิงมาอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสกัน ชายประกอบกิจการค้าส่วนหญิงอยู่บ้านเลี้ยงบุตร ดูแลบ้าน ทำอาหารเลี้ยงดูครอบครัวเป็นเวลาหลายปี มีทรัพย์สินหลายสิ่งหลายอย่างเพิ่มขึ้น จะถือว่าการที่หญิงเป็นแม่บ้านดูแลครอบครัว เป็นการลงทุนร่วมแรงทำมาหาได้ร่วมกันกับชาย จึงมีส่วนแบ่งในทรัพย์สินส่วนนี้หรือไม่
ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ในปี 2512 ว่า การที่หญิงดูแลครอบครัวให้ชายเป็นการร่วมกันกับชาย ทำมาหากินแสวงหาทรัพย์สินมาเป็นสมบัติร่วมกันแล้ว ชายหญิงจึงมีส่วนในทรัพย์สินดังกล่าวเท่า ๆ กัน
- สำหรับการที่ชายกับชายก็ดี หรือหญิงกับหญิงก็ดี มาอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยานั้น เนื่องจากบุคคลทั้งสองไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ เพราะขัดต่อเงื่อนไขของการสมรสที่ฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นชาย และอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นหญิง แต่ในทางด้านทรัพย์สินที่บุคคลทั้งสองทำมาหาได้ด้วยกันในระหว่างอยู่กินด้วยกันนี้ ต้องถือว่าบุคคลที่สองมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมกัน โดยมาตรา 1357 ให้สันนิษฐานว่าผู้เป็นเจ้าของร่วมกันมีส่วนเท่ากัน จึงต้องแบ่งกันคนละครึ่ง
- เคยมีคดีที่โจทก์เป็นหญิงแต่มีนิสัยและทำตัวเป็นชาย มีอาชีพขายเนื้อโค กระบือ ส่วนจำเลยก็เป็นหญิงมีอาชีพเป็นนักร้อง โจทก์และจำเลยได้มาอยู่ร่วมกันในบ้านเดียวกันโดยจำเลยเลิกอาชีพดังกล่าวและทำพิธีเข้าถือศาสนาอิสลามเช่นเดียวกับโจทก์ ระหว่างที่อยู่กินด้วยกันมาเกิดมีทรัพย์สินคือ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างรวม 3 แปลง โดยที่ดินทั้งสามแปลงนี้มีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โจทก์จึงมาฟ้องขอแบ่งที่ดินดังกล่าว
- ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “แม้โจทก์จำเลยเป็นหญิงไม่สามารถจะเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย แต่ตามพฤติกรรมที่บุคคลทั้งสองได้อยู่ร่วมกันเป็นเวลาเกือบ 20 ปี โดยจำเลยทำหน้าที่เป็นแม่บ้าน แต่ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์เองว่าบางครั้งจำเลยก็มาช่วยโจทก์ขายเนื้อในตลาด ในการซื้อ โค กระบือนั้น หากจ่ายเป็นเช็คก็ใช้เช็คของจำเลย
แสดงให้เห็นว่าโจทก์จำเลยได้ร่วมกันทำมาหากิน แสวงหาทรัพย์สินมาเป็นสมบัติของโจทก์จำเลยร่วมกัน บรรดาทรัพย์ที่โจทก์หรือจำเลยทำมาหาได้ระหว่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นด้วยแรงหรือเงินของฝ่ายใดหาใช่ข้อสำคัญไม่ แต่ต้องถือเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างที่โจทก์จำเลยอยู่ร่วมกัน จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมายและความยุติธรรมเป็นอย่างยิ่งที่จะให้โจทก์และจำเลยมีส่วนในทรัพย์สินที่พิพาททั้งหมดคนละกึ่งหนึ่ง” พิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินทั้งสามแปลงนี้ให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง
- ในกรณีที่ชายมีภริยาชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว แต่มาได้หญิงอีกคนหนึ่งเป็นภริยาน้อยชายและภริยาน้อย ร่วมกันทำมาหาได้ทรัพย์สินใดมา ทรัพย์สินที่ได้มานี้เป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างชายกับภริยาน้อย โดยภริยาน้อยมีส่วนครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งที่เป็นของชายเป็นสินสมรสชายกับภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ถ้าภริยาน้อยไม่มีส่วนร่วมในการทำมาหาได้ ทรัพย์สินที่ได้มาเป็นสินสมรสระหว่างชายกับภริยาหลวงทั้งหมด
เช่น ชายกับภริยาน้อยร่วมกันทำการค้าได้กำไรไปซื้อที่ดินแปลงหนึ่ง หากจะต้องแบ่งที่ดินแปลงนี้ให้ภริยาน้อยครึ่งหนึ่งภริยาหลวงได้เศษหนึ่งส่วนสี่ และชายได้เศษหนึ่งส่วนสี่ เป็นต้น
นอกจากคำอธิบายจากหนังสือข้างต้นแล้ว ขออธิบายเพิ่มเติมว่า
- ปกติสามีภริยาหากอยู่ด้วยกันโดยไม่จดทะเบียนสมรส ทรัพย์สินที่หามาได้ร่วมกัน เรียกว่าเป็นกรรมสิทธิ์รวม แต่ถ้าจดทะเบียนสมรส ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้หลังจดทะเบียน คือ สินสมรส ทั้ง 2 กรณี ต้องแบ่งครึ่งเช่นเดียวกัน
- หากจดทะเบียนสมรส ถือว่าเป็นสินสมรส ต้องฟ้องศาลเยาวชนและครอบครัว เพราะเป็นสิทธิในครอบครัว เป็นคดีครอบครัว
- แต่หากไม่ได้จดทะเบียนสมรส ไม่ใช่สิทธิในครอบครัว เพราะถือว่าเป็นภรรยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีสิทธิ์ฟ้องแบ่งตามหลักสินสมรส ต้องฟ้องศาลในคดีแพ่ง เพื่อขอให้แบ่งทรัพย์สินในกรรมสิทธิ์รวมนั้น
- กรรมสิทธิ์รวม ใครหามาคนนั้นได้ไป แต่ถ้าช่วยกันหามาต้องแบ่งตามสัดส่วน หากหาสัดส่วนไม่ได้ก็ต้องแบ่งครึ่ง เช่น ทำไร่ด้วยกัน และเก็บเงินซื้อรถกระบะ ซื้อที่ดิน อันนี้จะเข้าหลักกรรมสิทธิ์รวมที่จะต้องมาแบ่ง แต่ถ้าเป็นการหามาเองหรือเป็นลาภที่เกิดขึ้นจากการถูกหวย จะถือว่าเป็นเงินส่วนตัว ไม่ใช่กรรมสิทธิ์รวมแต่อย่างใด เพราะมิใช่เงินที่ได้มาจากการลงน้ำพักน้ำแรงร่วมกันแต่อย่างใด
ทนายพร.