ถือเป็นการเสวนากันในปัญหาข้อกฎหมาย
ขอยกฎีกา ที่เทียบเคียง ปอ. ม.(1) มาให้ศึกษาดู อาจจะพอเข้าใจได้
ฎีกาที่4901/2555
ศาลในต่างประเทศพิพากษาให้ลงโทษจำเลยข้อหาค้าประเวณี แต่คดีนี้จำเลยกระทำความผิดข้อหาเป็นธุระจัดหาซึ่งบุคคลใดเพื่อการอนาจาร และเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณีเป็นคนละข้อหากันและการกระทำต่างกัน การห้ามมิให้ลงโทษจำเลยในราชอาณาจักรตาม ป.อ. มาตรา 10 ต้องเป็นการลงโทษเพราะการกระทำเดียวกัน คือ เมื่อลงโทษข้อหาใดในต่างประเทศแล้วจะลงโทษข้อหาเดียวกันซ้ำในราชอาณาจักรอีกไม่ได้
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 283, 310 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 วรรคแรก พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสี่ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 5 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 282 วรรคแรก พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือไม่ จำเลยถูกจับกุมวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2547 ข้อหาค้าประเวณี และเมื่อพิจารณาโทรสารของกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กระทรวงต่างประเทศ ที่ส่งถึงงานพิทักษ์เด็ก เยาวชน และสตรี ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แผ่นที่ 3 และที่ 4 ประกอบสำเนาโทรเลข สอท. (สถานเอกอัครราชทูต) แล้วได้ความว่า กระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมานามา ว่าจะดำเนินการส่งตัวหญิงไทยจำนวน 11 คน (ดังรายชื่อแนบ) ซึ่งถูกชักชวนไปค้าประเวณีที่ประเทศบาห์เรนพร้อมกับจำเลยซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ชักชวนหญิงไทยไปค้าประเวณีให้เดินทางกลับประเทศไทย และสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นแม่แท็กหรือแม่เล้า ดังนั้น การที่จำเลยเดินทางเข้าประเทศบาห์เรน 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 และที่ 2 ไปค้าประเวณี ครั้งที่ 3 ไปทำงานในโรงแรมฟาร์คอลตำแหน่งบริกรทั่วไปและได้รับบัตรลงทะเบียนประชาชนประเทศบาห์เรน แต่จำเลยยังคงค้าประเวณีจนถูกจับกุมส่งตัวกลับประเทศไทย แม้นางสาวอุไรพร พยานจำเลยซึ่งถูกจับกุมข้อหาเดียวกันและถูกส่งตัวกลับพร้อมกันจะเบิกความว่า จำเลยชอบช่วยเหลือคนไทย ที่ไปทำงานในโรงแรมฟาร์คอล และตอบโจทก์ถามค้านว่า ผู้หญิงไทยในโรงแรมขาดเหลืออะไรจะโทรศัพท์หาจำเลยและติดขัดเรื่องใดจำเลยสามารถพูดภาษาอาหรับช่วยประสานงานให้ก็ตาม พฤติการณ์จำเลยตามที่ได้ความมาเชื่อว่าจำเลยมีอาชีพบริกรทั่วไปหรือแม่บ้านบังหน้า จำเลยไปรับผู้เสียหายที่สนามบินประเทศบาห์เรนพามาโรงแรมฟาร์คอลซึ่งมีหญิงไทยประมาณ 10 คนค้าประเวณี และพาผู้เสียหายไปห้องอื่นให้ค้าประเวณีกับชาวต่างชาติ ฟังได้ว่า จำเลยเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่นเป็นธุระจัดหาเพื่อให้ผู้เสียหายกระทำการค้าประเวณี พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคงรับฟังลงโทษจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาประการต่อมาว่า ศาลในต่างประเทศพิพากษาให้ลงโทษและจำเลยได้พ้นโทษแล้ว ห้ามมิให้ลงโทษจำเลยในราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 10 เห็นว่า ศาลในต่างประเทศพิพากษาให้ลงโทษจำเลยข้อหาค้าประเวณี แต่คดีนี้จำเลยกระทำความผิดข้อหาเป็นธุระจัดหาซึ่งบุคคลใดเพื่อการอนาจารและเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณีเป็นคนละข้อหากัน และการกระทำต่างกันการห้ามมิให้ลงโทษจำเลยในราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 10 ต้องเป็นการลงโทษเพราะการกระทำเดียวกันคือ เมื่อลงโทษข้อหาใดในต่างประเทศแล้วจะลงโทษข้อหาเดียวกันซ้ำในราชอาณาจักรอีกไม่ได้ ดังนั้น คดีนี้ย่อมลงโทษจำเลยได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาประการสุดท้าย ขอให้รอการลงโทษ เห็นว่า จำเลยกระทำความผิดข้อหาเป็นธุระจัดหาซึ่งบุคคลใดเพื่อการอนาจารและเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณีนอกราชอาณาจักร เป็นการเสื่อมเสียชื่อเสียงหญิงไทยและประเทศไทย ชาวต่างชาติในประเทศบาห์เรนอาจคิดว่าหญิงไทยเดินทางมาเพื่อต้องการค้าประเวณี ตามพฤติการณ์ไม่มีเหตุรอการลงโทษ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่รอการลงโทษชอบแล้ว แต่คำให้การจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา สมควรลดโทษให้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า คำให้การจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3