ในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา31 ได้เขียนไว้ว่า “เมื่อมีการแจ้งข้อเรียกร้องแล้ว ถ้าข้อเรียกร้องนั้นยังอยู่ในระหว่างการเจรจา ไกล่เกลี่ย หรือชี้ขาด ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้าง หรือโยกย้ายหน้าที่ของลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการ หรือสมาชิกสหภาพแรงงาน เว้นแต่บุคคลดังกล่าว
(1) ทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
(2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
(3) ฝ่าฝืนข้อบังคับ คำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง โดยนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีร้ายแรง ไม่ต้องตักเตือน ทั้งนี้ข้อบังคับ หรือคำสั่งนั้น ต้องไม่ออกเพื่อขัดขวางไม่ให้บุคคลดังกล่าวดำเนินการเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง
(4) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุสมควร”
ทั้งนี้ลูกจ้างจะได้รับความคุ้มครอง ต้องมีการยื่นข้อเรียกร้องตามกฎหมายด้วย คือ ต้องยื่นข้อเรียกร้องเป็นหนังสือ และข้อเรียกร้องนั้นต้องเป็นเรื่องสภาพการจ้างเท่านั้น และต้องมีรายชื่อลูกจ้างที่ยื่นข้อเรียกร้องอย่างน้อยร้อยละ 15 ของลูกจ้างทั้งหมดซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง หากเป็นแค่เพียงลูกจ้างกลุ่มใหญ่เข้าพบนายจ้างและเรียกร้องด้วยวาจาขอเพิ่มสวัสดิการ หรือลูกจ้างแค่ไม่กี่คน (จากลูกจ้างทั้งหมดเป็นพันคน) ยื่นหนังสือถึงนายจ้างขอปรับสภาพการจ้าง ลูกจ้างเหล่านั้นก็ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายข้างต้นครับ