23/11/24 - 08:40 am


ผู้เขียน หัวข้อ: นายจ้างบีบบังคับให้ออกจากงานทางวาจา และไม่ยอมจ่ายเงินเดือน  (อ่าน 5822 ครั้ง)

employee

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 1
    • ดูรายละเอียด
เรียนสำนักทนายความ

รบกวนสอบถามค่ะ เนื่องจากทำงานบริษัทเอกชน และเจ้าของบริษัท พูดจาหมิ่นประมาทอย่างรุนแรง ใส่ร้ายและบังคับให้ออกทางวาจา
ซึ่งดิฉันเป็นคนเขียนลาออกเอง และไม่ไปทำงานในวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันที่เงินเดือนออก
นายจ้างแจ้งมาว่าให้กลับไปเคลียร์เอกสาร ซึ่งดิฉันได้จัดการไว้เรียบร้อยแล้ว นับตั้งแต่วันลาออก และนายจ้างยังแจ้งว่าดิฉันได้ยักยอกของบริษัท ซึ่งลายเซ็นคนเบิกของไม่ใช่ดิฉัน และดิฉันเองก็ไม่ได้ทำ สิ่งของทุกอย่างได้ทำการเคลียร์หมดเรียบร้อยก่อนยื่นใบลาออก ดิฉันสามารถแจ้งความเรื่องหมิ่นประมาท และฟ้องศาลแรงงานเรื่องถูกเอาเปรียบเรื่องเงินเดือนได้หรือเปล่าคะ
หรือดิฉันควรทำอย่างไรดี รบกวนชี้แนะด้วยนะคะ

ขอบคุณมากค่ะ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 30, 2015, 05:38:29 pm โดย employee »

ทนายพร

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 758
    • ดูรายละเอียด
ตอบตามประเด็นได้ดังนี้ครับ
1.สามารถแจ้งความข้อหาหมิ่นประมาทได้หรือไม่นั้น ต้องดู “ข้อความ” ว่า ข้อความนั้นเข้าองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ ซึ่งฐานความผิดหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 ต้องเป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม ทำให้เขาเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ซึ่งถ้าฟังจากที่เล่ามานั้น ก็จะไม่เข้าองค์ประกอบฐานความผิดเรื่องหมิ่นประมาท แต่จะเข้าองค์ประกอบในข้อหาดูหมิ่นซึ่งหน้าครับ

2.ถูกเอาเปรียบเรื่องเงินเดือน?  ข้อนี้ต้องขอรายละเอียดเพิ่มครับว่าถูกเอาเปรียบอย่างไร ส่วนการบังคับให้ลาออกนั้นประเด็นนี้ค่อนข้างสู้ยากครับ ประกอบกับเราเป็นฝ่ายเขียนใบลาออกเองด้วย ก็จะทำให้เรื่องนี้มีประเด็นของข้อเท็จจริงมากขึ้นด้วย คงต้องคุยข้อเท็จจริงอย่างละเอียดครับถึงจะวิเคราะห์ได้

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 393 ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า หรือด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ซึ่งทั้ง 2 มาตรานั้น มีข้อแตกต่างกันคือ การดูหมิ่น เป็นการกระทำต่อหน้า ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีบุคคลที่ 3 อยู่ด้วย หากซึ่งหน้าแล้ว เป็นความผิดสำเร็จ
แต่หมิ่นประมาทนั้น จะต้องเป็นการใส่ความผู้อื่น ต่อบุคคลที่สาม ดังนั้น บุคคลที่สาม ถือเป็นองค์ประกอบของความผิด ถ้าไม่มีบุคคลที่สาม มารับรู้การกระทำอันเป็นการหมิ่นประมาทนั้นก็ถือว่าไม่ครบองค์ประกอบความผิด ผู้กระทำจะไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท (หมิ่นประมาทต้องมีบุคคลที่ 3 อยู่ด้วยหรือต้องมีบุคคลที่3 มารับรู้การหมิ่นประมาท)

ตัวอย่างที่ 1. ก. ด่า ข. โดยที่ไม่มีบุคคลอื่นอยู่ด้วย อย่างนี้ เป็นความผิดซึ่งหน้า ไม่ผิดหมิ่นประมาท เพราะไม่มีบุคคลที่ 3 ไม่ครบองค์ประกอบความผิด

ตัวอย่างที่ 2. ก. ด่า ข. โดยมีคนอื่นอยู่ด้วย (บุคคลที่ 3) เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทแล้ว

ตัวอย่างที่ 3. ก. ด่า ข. โดยที่ ข. ไม่อยู่ แต่เป็นการไปใส่ความ ข. ให้ผู้อื่นฟัง ก็เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทเช่นกัน
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 05, 2015, 11:17:38 am โดย ทนายพร »