21/11/24 - 20:00 pm


ผู้เขียน หัวข้อ: ตอกบัตรลงเวลาไม่ตรงกับความจริง นายจ้างเลิกจ้างได้ไหม  (อ่าน 17411 ครั้ง)

ทนายพร

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 758
    • ดูรายละเอียด
เมื่อหลายวันมาแล้ว มีลูกจ้างคนหนึ่งโทรมาคุยกับผมว่า ตนเองเป็นลูกจ้างที่บริษัทแห่งหนึ่ง แต่ได้ลงเวลาทำงานไม่ถูกต้องกับความเป็นจริง  2 ครั้ง คือ เวลาจริง 17.30 น. แต่ได้บันทึกเวลาตอกบัตรเป็นเวลา 19.00 น. กับครั้งที่ 2 จากเวลาจริง 20.00 น. บันทึกเวลาตอกบัตรเป็นเวลา 21.14 น.  เมื่อหัวหน้างานทราบตนเองก็ได้แก้ไขให้ถูกต้องแล้ว แต่เมื่อมีการสอบสวนขึ้นมา และการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น แต่ตนเองกลับได้รับคำสั่งเลิกจ้างแล้ว จะต้องทำอย่างไรดี
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 20, 2013, 05:12:10 pm โดย ทนายพร »

ทนายพร

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 758
    • ดูรายละเอียด
ในกรณีนี้ หลังจากสืบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ผมได้ให้คำปรึกษาไปว่า

(1)   ลูกจ้างคนนี้มีความผิดจริงเรื่องการลงเวลาบันทึกการปฏิบัติงานที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง แต่ถือว่าเป็นเพียงการปฏิบัติผิดระเบียบข้อบังคับการทำงานเท่านั้น ทั้งนี้แม้บริษัทจะกล่าวอ้างว่าลูกจ้างมีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต แต่ก็ยังไม่สามารถถือได้ว่าทุจริตต่อหน้าที่แต่อย่างใด และนายจ้างมิอาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้ (อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 1103/2531)

(2)   ทางคณะผู้สอบสวนยังไม่มีการแจ้งความผิดและออกหนังสือตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรต่อผู้กล่าวหา หรือมีการลงโทษทางวินัย อีกทั้งยังไม่มีการสอบสวนผู้เกี่ยวข้องต่อกรณีดังกล่าวนี้ร่วมด้วย

(3)   แม้มีคำพิพากษาฎีกาที่ 2648/2525 ที่ 3438/2526 และที่ 1076/2541  เรื่องการตอกบัตรลงเวลาทำงานโดยไม่ตรงกับความจริง อันอาจทำให้เป็นหลักฐานให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างและอาจต้องจ่ายรางวัลการทำงานแก่พนักงานผู้นั้นมากกว่าความเป็นจริง ให้ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ร้ายแรง แต่ในกรณีดังกล่าวนี้ พบว่า ความผิดดังกล่าวยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนในกรณีที่ร้ายแรง เนื่องจากการลงเวลาที่ไม่ถูกต้องนั้น มิได้ทำให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างหรือค่าตอบแทนอื่นๆ เช่น เบี้ยขยัน แก่พนักงานผู้นั้นมากกว่าความเป็นจริงที่ได้รับอยู่แล้วเป็นรายเดือนแต่อย่างใด

(4)   การบันทึกเวลาไม่ถูกต้องไป 1 ชั่วโมง ไม่ได้ส่งผลต่อความเสียหายในการปฏิบัติงานของบริษัท ไม่ได้เป็นการกระทำเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ในค่าจ้างโดยไม่ชอบและประสงค์ให้นายจ้างได้รับความเสียหายแก่การผลิตแต่อย่างใด อีกทั้งลูกจ้างได้ทำงานให้บริษัทมาตลอดทั้งวัน ไม่ได้มีการละทิ้งหน้าที่ ยิ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าลูกจ้างมุ่งผลสำเร็จของงานบริษัทเป็นสำคัญ เหตุการณ์ดังกล่าวจึงยังไม่พอถือได้ว่าลูกจ้างทำการทุจริตต่อหน้าที่และยังไม่เป็นการทำผิดอาญาแก่นายจ้างแต่อย่างใด เพราะคำว่า “ทุจริต” ตามพจนานุกรม มีความหมายว่า ความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง (อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 2839/2528 คำพิพากษาฎีกาที่ 2127/2530 คำพิพากษาฎีกาที่ 1102/2531 คำพิพากษาฎีกาที่ 1806/2540)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 21, 2013, 01:33:25 pm โดย ทนายพร »