ผมคงตอบไม่ได้ว่าจะให้ย้ายได้หรือไม่ได้นะครับ แต่อย่างไรก็ตามได้มีกฎกระทรวงฉบับหนึ่งออกมาซึ่งน่าจะปรับใช้ได้กับกรณีของเจ้าของคำถาม คือกฎกระทรวง “กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจำคุก โดยวิธีการอื่นที่สามารถจำกัดการเดินทางและอาณาเขต พ.ศ. 2556” ซึ่งเน้นลดจำนวนนักโทษชราและเจ็บป่วยเป็นมะเร็ง เอดส์ระยะสุดท้าย ไตวายเรื้อรัง เป็นต้น
กฎกระทรวงบัญญัติว่า ข้อ ๒ ในการยื่นคําร้องต่อศาลเพื่อขอให้มีการจํากัดการเดินทางและอาณาเขตแก่ผู้ซึ่งต้องจําคุกผู้ใด ให้เจ้าพนักงานคํานึงถึงเหตุจําเป็นซึ่งรวมถึงเหตุ ดังต่อไปนี้ (๑) ผู้ซึ่งต้องจำคุกจะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจําคุก (๒) ผู้ซึ่งต้องจําคุกจําเป็นต้องเลี้ยงดูบิดา มารดา สามี ภริยา หรือบุตร ซึ่งพึ่งตนเองมิได้และขาดผู้อุปการะ (๓) ผู้ซึ่งต้องจําคุกเจ็บป่วยและต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง (๔) ผู้ซึ่งต้องจําคุกมีเหตุควรได้รับการทุเลาการบังคับให้จําคุกด้วยเหตุอื่น ๆ) ดังนั้น ขอให้ติดต่อกับเรือนจำที่สังกัดเพื่อขอใช้สิทธิตามกฎกระทรวงนี้ได้ครับ
กรณีที่ผู้ต้องขังจะเรียกร้องสิทธิกรณีที่ไม่ได้กระทำผิดแต่ถูกจำคุกในขณะที่อยู่ระหว่างพิจารณาด้วยเหตุต่างๆกัน เช่น ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว , ไม่มีหลักทรัพย์ไปประกันตัว เป็นต้น และท้ายที่สุด หากศาลตัดสินว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง กรณีอย่างนี้ สามารถเรียกค่าชดเชยจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมได้ครับ ซึ่งจะชดเชยให้เป็นรายวันๆละไม่เกิน 200 บาท
แต่หากเป็นกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาว่า “มีเหตุอันควรสงสัย ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย” ซึ่งหมายความว่าในทางคดีฝ่ายโจทก์ไม่สามารถนำสืบในทางคดีให้ศาลเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดจริง กรณีอย่างนี้จะไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะได้รับเงินชดเชยครับ
ทนายพร