25/11/24 - 13:03 pm


ผู้เขียน หัวข้อ: สอบถามเรื่องบริษัทย้ายสถานที่ประกอบการ  (อ่าน 14831 ครั้ง)

ticky

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 1
    • ดูรายละเอียด
เนื่องจากบริษัทเดิมตั้งอยู่ที่ถ.สุขาภิบาล 5 จะทำการย้ายไปที่ ถ.เกษตร นวมินทร์ /ถ.สุคนธสวัส ซึ่งสถานที่ใหม่ ห่างจากสถานที่ทำงานเดิมห่างประมาณ 5 กิโลกว่าๆ (ซึ่งดูไม่ไกลแต่รถติดมากค่ะ )

ดิฉันอยากสอบถามหากดิฉันไม่พร้อมใจจะย้ายไปตาม ดิฉันจะมีสิทธิ์ฟ้องร้องชนะบริษัทได้หรือไม่ จะได้รับเงินชดเชยเต็มจำนวนหรือไม่ค่ะ ดิฉันทำงานที่นี้มา 8 ปีกว่า บ้านดิฉันอยู่รังสิตคลอง 2 การจะมาทำงานที่ ณ ปัจจุบันนี้ก็รถติดจะแย่อยู่แล้ว  พอย้ายสถานที่ประกอบการใหม่เข้าไปในเส้นที่รถติดหนัก ทำให้ต้องตื่นเช้าและกลับถึงบ้านเย็นกว่าเดิม เสียสุขภาพจิตรถติด ค่าครองชีพก็สูงขึ้น  เฉพาะค่าทางด่วน/มอเตอร์เวย์เพิ่มขึ้นตกเดือนละ 3000บาท ซึ่งดิฉันไม่สมัครใจจะไปทำงานที่ใหม่ด้วยนี้ จะสามารถขอรับเงินชดเชยตามกฏหมายแรงงานได้หรือไม่? เพราะว่าบริษัทบอกว่าเขาจะจ่ายแค่ 50% ( คือตามกฏหมายที่อ่านมาดิฉันมีสิทธิ์รับ 8 เดือน แล้วบริษัทจะขอจ่ายแค่ 50% คือ 4 เดือน ) ดิฉํนเห็นว่าไม่เป็นธรรม ทางบริษัทจริงบอกว่าให้ไปฟ้องรองเอากับกรมแรงงาน ซึ่งเขาก็พูดขู่ๆว่าจะเอา 50%นี่ หรือจะไปฟ้องร้องเอาซึ่งอาจจะไม่ได้อะไรเลย เขาพูดมาแบบนี้ดิฉันจึงสงสัยว่าถ้าถึงขั้นฟ้องร้องกันจริง ดิฉันมีสิทธ์ชนะและได้รับเงินเต็มจำนวน 8 เดือนหรือไม่คะ ?

รบกวนช่วยชี้แน่ะด้วยค่ะ :'(


ทนายพร

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 758
    • ดูรายละเอียด
Re: สอบถามเรื่องบริษัทย้ายสถานที่ประกอบการ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มีนาคม 03, 2016, 01:17:55 am »
ก่อนอื่นต้องมาดูข้อกฎหมายที่เขียนไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑  ความว่า

          “มาตรา ๑๒๐ ในกรณีที่นายจ้างจะย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่นอันมีผลกระทบสําคัญต่อการดํารงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัว นายจ้างต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนวันย้ายสถานประกอบกิจการ ในการนี้ถ้าลูกจ้างไม่ประสงค์จะไปทํางานด้วยให้ลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากนายจ้างหรือวันที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ แล้วแต่กรณีโดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าอัตราค่าชดเชยที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา ๑๑๘ 
           (วรรค ๒) ในกรณีที่นายจ้างไม่แจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าตามวรรคหนึ่ง ให้นายจ้างจ่าย
ค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน หรือเท่ากับค่าจ้างของการทํางานสามสิบวันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย
            (วรรค๓)ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษ หรือค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้างภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ลูกจ้างบอกเลิกสัญญา”

   ก่อนที่จะตอบคำถามต้องเข้าใจก่อนว่า “ย้ายสถานประกอบกิจการ” หมายถึง การย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ ที่แห่งใหม่ โดยสถานประกอบกิจการเดิมได้ปิดตัวลง หรือไม่มีการผลิตหรือการทำงานในที่เดิมแล้ว จึงจะเข้าองค์ประกอบตามมาตรา ๑๒๐ ครับ

   แต่หากบริษัทมีหลายสาขา และมีการโยกย้ายพนักงานไปยังสาขาที่บริษัทมีอยู่แต่เดิม กรณีเช่นนี้จะไม่ใช่การย้ายสถานประกอบกิจการครับ

เอาละ เมื่อได้รู้ข้อกฎหมายแล้วก็มาดูคำตอบเลย..

๑.   ดิฉันอยากสอบถามหากดิฉันไม่พร้อมใจจะย้ายไปตาม ดิฉันจะมีสิทธิ์ฟ้องร้องชนะบริษัทได้หรือไม่
ตอบ ถ้าไม่อยากไปก็บอกเลิกสัญญากับบริษัทซะก่อน แล้วบอกให้บริษัทจ่ายเงินชดเชยพิเศษให้กับเราตามมาตรา ๑๒๐ ครับ ถ้าไม่จ่าย ก็ไปร้องต่อคณะกรรมการสวัสดิการ ได้ครับ

๒.    จะได้รับเงินชดเชยเต็มจำนวนหรือไม่ค่ะ
ตอบ ถ้าไม่ถูกหักก็จะได้รับเต็มจำนวนตามมาตรา ๑๑๘ ครับ

๓.   ดิฉันทำงานที่นี้มา 8 ปีกว่า บ้านดิฉันอยู่รังสิตคลอง 2 การจะมาทำงานที่ ณ ปัจจุบันนี้ก็รถติดจะแย่อยู่แล้ว  พอย้ายสถานที่ประกอบการใหม่เข้าไปในเส้นที่รถติดหนัก ทำให้ต้องตื่นเช้าและกลับถึงบ้านเย็นกว่าเดิม เสียสุขภาพจิตรถติด ค่าครองชีพก็สูงขึ้น  เฉพาะค่าทางด่วน/มอเตอร์เวย์เพิ่มขึ้นตกเดือนละ 3000บาท ซึ่งดิฉันไม่สมัครใจจะไปทำงานที่ใหม่ด้วยนี้ จะสามารถขอรับเงินชดเชยตามกฏหมายแรงงานได้หรือไม่?
ตอบ คำตอบเหมือนข้อ ๑ ครับ (โหยยย..ตอบสั้นไปป่ะ..อิอิ)

๔.   เพราะว่าบริษัทบอกว่าเขาจะจ่ายแค่ 50% ( คือตามกฏหมายที่อ่านมาดิฉันมีสิทธิ์รับ 8 เดือน แล้วบริษัทจะขอจ่ายแค่ 50% คือ 4 เดือน ) ดิฉํนเห็นว่าไม่เป็นธรรม ทางบริษัทจริงบอกว่าให้ไปฟ้องรองเอากับกรมแรงงาน ซึ่งเขาก็พูดขู่ๆว่าจะเอา 50%นี่ หรือจะไปฟ้องร้องเอาซึ่งอาจจะไม่ได้อะไรเลย เขาพูดมาแบบนี้ดิฉันจึงสงสัยว่าถ้าถึงขั้นฟ้องร้องกันจริง ดิฉันมีสิทธ์ชนะและได้รับเงินเต็มจำนวน 8 เดือนหรือไม่คะ
ตอบ บริษัทคงจะไปดูกฎหมายเก่าแน่ๆเลย เนื่องจากมาตรา ๑๒๐ ได้ถูกแก้ไขเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๑ โดยก่อนหน้านี้ ได้กำหนดให้จ่ายเพียงร้อยละ ๕๐ แต่หลังจากปี พ.ศ.๒๕๕๑ ต้องจ่ายเต็มตามอายุงานตามมาตรา ๑๑๘ ครับ ส่วนคำขู่อื่นๆ ก็อย่าไปสนใจเลยครับ ใช้สิทธิตามกฎหมาย โดยไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสวัสดิการที่กระทรวงแรงงานหรือจะไปที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดที่บริษัทตั้งอยู่ หรือในเขตพื้นที่หากอยู่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งถ้าจะให้ดีก็ลองพูดคุยกันดีๆ เพราะเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วค่อนข้างที่จะใช้เวลานานครับ แต่ถ้าคุยแล้วไม่เข้าหูก็ลุยเลยครับ เพื่อรักษาสิทธิ์ของเราครับ จะร้องต่อคณะกรรมการสวัสดิการ หรือจะฟ้องศาลก็เลือกเอาตามสะดวกเลยครับ

ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร