ก่อนอื่นต้องมาพิจารณาดูก่อนว่า “ค่าคอมมิชชั่น” เป็นค่าจ้างหรือไม่?
ซึ่งแนวคำพิพากษาของศาลฏีกามีทั้งที่เป็นค่าจ้างและไม่ใช่ค่าจ้าง ยกตัวอย่างเช่น คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 5394-5404/2547 ที่ศาลฟังว่า “บริษัทกำหนดอัตราการจ่ายไว้เป็นการแน่นอนว่าเที่ยวหนึ่งจะจ่ายให้จำนวนเท่าใด จึงวินิจฉัยว่าเป็นค่าจ้าง ส่วนคำพิพากษาฎีกาที่ 2246/2548 ที่วินิจฉัยว่าการจ่ายค่าคอมมิชชั่นเป็นเงินจูงใจเฉพาะพนักงานขายที่ทำยอดได้ จึงไม่ใช่ค่าจ้าง ดังนั้น โดยสรุป ถ้าค่าคอมมิชชั่นที่นายจ้างจ่ายให้กับลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงาน และเข้าองค์ประกอบ ๓ อย่างโดยไม่มีเงื่อนไขการจ่ายถือเป็นค่าจ้าง คือ ๑. เงินที่นายจ้างจ่ายให้กับลูกจ้างเป็นประจำ ๒. เงินที่นายจ้างจ่ายให้กับลูกจ้างสม่ำเสมอ และ ๓ เงินที่นายจ้างเป็นผู้จ่ายให้ ดังนั้น ในชั้นนี้ ยังขาดรายละเอียดว่าค่าคอมมิชชั่นดังกล่าวนี้เป็นค่าจ้างหรือไม่
ถ้าค่าคอมมิชชั่น เป็นค่าจ้างต้องนำมาคำนวณจ่ายเงินชดเชย , ค่าล่วงเวลา และเงินอื่นๆที่คิดจากฐานค่าจ้างด้วย
ส่วนกรณีที่บริษัทเลิกจ้างลูกจ้างโดยที่เราไม่มีความผิด ลูกจ้างก็มีสิทธิได้รับ ๑. ค่าชดเชยตามอายุงาน (ซึ่งกรณีของคุณอยู่ใน มาตรา ๑๑๘ (๓) คือ ๑๘๐ วันครับ , ๒ สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า , ๓. วันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสม , ๔. วันหยุดพักผ่อนประจำปีตามสัดส่วน ๕. สินจ้างค้างจ่าย(ถ้ามี) และ ๖ ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม กรณีที่เราไม่ได้ทำผิดกฎระเบียบข้อบังคับของบริษัทแล้วถูกเลิกจ้าง ก็ประมาณนี้ครับ
และท้ายที่สุด หากการเจรจาไม่เป็นผลและเราเชื่อมั่นว่าไม่ได้กระทำความผิดก็ “ห้าม” เซ็นต์ใบลาออกโดยเด็ดขาด หากบริษัทจะเลิกจ้างก็ให้ทำหนังสือเลิกจ้างมาแล้วไปขอใช้สิทธิทางศาลหรือพนักงานตรวจแรงงานได้ครับ ไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อนแต่ประการใด ขอให้มีสติเข้าไว้แล้วทุกอย่างจะดีเองครับ...ให้กำลังใจครับ
ทนายพร