24/11/24 - 22:02 pm


ผู้เขียน หัวข้อ: ศาลตัดสินให้บริษัทจ่ายเงินแล้ว 2ศาล ยังสามารถยื่นฏีกาต่อได้ไหม  (อ่าน 4910 ครั้ง)

scorpion

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 2
    • ดูรายละเอียด
เรื่องคือบริษัทย้ายที่ทำงานซึ่งไปไกลจากที่เดิม แล้วมันมีผลกระทบกับพนักงาน จึงได้แจ้งไปที่สวัสดิการแรงงาน แล้วสวัสดิการตัดสินให้บริษัทจ่ายให้พนักงาน
แต่ทางบริษัทได้ไปยื่นร้องต่อศาล โดยวางเงินไว้ที่ศาลแล้ว และต่อมาศาลก็ตัดสินให้บริษัทจ่ายเช่นเดิม แต่บริษัทก็ยังยื่นอุทธรณ์ต่อจนวันนี้ศาลอุทธณ์ตัดสินแล้ว
ยืนตามเดิมว่าพนักงานเดือดร้อนจากการเดินทางจริง คำอุทธรณ์ของโจทย์คือบริษัทฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน  แล้วอย่างนี้บริษัทยังจะยื่นขอฏีกาต่ออีกได้ไหมครับ
และถ้าฏีกาต้องใช้เวลาอีกกี่ปี และทางลูกจ้างมีสิทธิจะได้รับดอกเบี้ยไหมครับ เพราะบางคนบอกว่าไม่ได้เพราะบริษัทวางเงินไว้ที่ศาลแต่แรกแล้ว บางคนก็บอกว่า
ไม่ได้รับดอกเบี้ยเพราะทางลูกจ้างไม่ได้เขียนคำร้องให้บริษัทจ่ายดอกเบี้ยให่้ด้วย ขอรบกวนท่านทนายให้ความรุ้ด้วยนะครับ ขอบพระคุณมาก

ทนายพร

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 758
    • ดูรายละเอียด
เป็นคำถามที่ดีมากนะครับ และคิดว่าหลายคนที่ไม่ได้เรียนกฎหมายมาก็คงจะอยากรู้
 
เอาเป็นว่าอยากให้รู้ข้อกฎหมายเกี่ยวกับการวางเงินต่อศาลและดอกเบี้ย ซึ่งในเรื่องนี้ได้บัญญัติไว้ในประมวลวิธิพิจารณาความแพ่ง พ.ศ.๒๔๗๗ (ทนายยังไม่เกิดเลย..ฮา) มาตรา ๑๓๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๔๙๙ โดยได้วางหลักไว้ว่าดังนี้
       "มาตรา ๑๓๖   ในกรณีที่จำเลยวางเงินต่อศาลโดยยอมรับผิด ถ้าโจทก์พอใจยอมรับเงินที่จำเลยวางโดยไม่ติดใจเรียกร้องมากกว่านั้น และคดีไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปอีก ให้ศาลพิพากษาคดีไปตามนั้น คำพิพากษานั้นเป็นที่สุด แต่ถ้าโจทก์ไม่พอใจในจำนวนเงินที่จำเลยวาง และยังติดใจที่จะดำเนินคดีเพื่อให้จำเลยต้องรับผิดในจำนวนเงินตามที่เรียกร้องต่อไปอีก จำเลยมีสิทธิถอนเงินที่วางไว้นั้นได้ โดยให้ถือเสมือนว่ามิได้มีการวางเงิน หรือจำเลยจะยอมให้โจทก์รับเงินนั้นไปก็ได้ ในกรณีหลังนี้ โจทก์จะรับเงินไปหรือไม่ก็ตาม จำเลยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่วาง แม้ว่าจำเลยมีความรับผิดตามกฎหมายจะต้องเสีย  ทั้งนี้ นับแต่วันที่จำเลยยอมให้โจทก์รับเงินไป
   ในกรณีที่จำเลยวางเงินต่อศาลโดยไม่ยอมรับผิด จำเลยจะรับเงินนั้นคืนไปก่อนที่มีคำพิพากษาว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดไม่ได้ การวางเงินเช่นว่านี้ ไม่เป็นเหตุระงับการเสียดอกเบี้ยหากจำเลยมีความรับผิดตามกฎหมายจะต้องเสีย"

หรือสรุปได้ว่า หากจำเลยนำเงินไปวางศาลเต็มจำนวนแล้ว โจทก์พอใจและยินยอมรับเงินนั้นไป คดีจบ จำเลยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย
หรือจำเลยนำเงินมาวางศาลเต็มจำนวน แต่จำเลยไม่ยอมรับผิดและต่อสู้คดีไป และจำเลยแถลงต่อศาลยินยอมให้โจทก์รับเงินที่วางศาลไปและโจทก์ก็ยินยอมรับเงินดังกล่าว กรณีนี้จำเลยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย
หรือ จำเลยนำเงินมาวางศาล และไม่ยอมรับผิด จำเลยจะขอรับเงินที่วางศาลคืน กรณีนี้ศาลจะไม่อนุญาตให้รับคืน หากผลสุดท้ายของคดีศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยเสียดอกเบี้ย กรณีอย่างนี้ ดอกเบี้ยเดินตลอดครับ

นั่นแสดงว่า ที่มีการถกเถี่ยงกันว่าได้ดอกเบี้ยหรือไม่ได้ดอกเบี้ยนั้นก็ไม่ผิดนัก ต้องดูเป็นกรณีไป

และอนุมานได้ว่า กรณีเป็นคำสั่งของคณะกรรมการสวัสดิการ เมื่อนายจ้างไม่เห็นด้วยและอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลภายในกำหนดและต้องนำเงินไปวางต่อศาลตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน และต่อสู้คดีไป ก็เป็นกรณีสุดท้ายที่ได้อธิบายไป

ดังนั้น ต้องกลับไปพิจารณาในคำสั่งของคณะกรรมการสวัสดิการฯว่าสั่งให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยหรือไม่ ? หากไม่มีการสั่งเรื่องดอกเบี้ย หรือไม่ได้ขอไป กรณีอย่างนี้ศาลคงจะสั่งให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยให้ไม่ได้ เพราะศาลไม่สามารถพิพากษาเกินคำขอได้ ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๕๒ ที่บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ศาลแรงงานพิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่า หรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เว้นแต่ในกรณีที่ศาลแรงงานเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความจะพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอบังคับก็ได้"

ดีใจด้วยนะครับ และขอให้กลับไปดูคำสั่งและคำพิพากษาให้ดีอีกครั้งนะครับ

และกรณีที่ถามว่า บริษัทจะยื่นฏีกาต่อได้มั๊ย ก็ตอบว่า เป็นสิทธิ์ที่สามารถยื่นฏีกาได้แต่ต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๔๙ แห่งประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง ครับ (ไปหาใน google ได้)

แต่เท่าที่ผ่านมา ศาลฏีกามักจะไม่รับพิจารณาครับ ซึ่งระยะเวลาก็อาจจะประมาณ ๖ เดือน ถึง ๑ ปีครับ

คงครบถ้วนสำหรับคำคอบนะครับ หรือถ้ายังสงสัยก็สอบถามเข้ามาใหม่นะครับ

ทนายพร.



scorpion

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 2
    • ดูรายละเอียด
ขอบคุณมากครับท่านทนาย กระจ่างเลย หลังจากที่สงสัยและถกเถียงกันมานานมาก คงต้องไปดูคำสั่งสวัสดิการอีกครั้ง
แต่คุ้นๆ ว่าจะไม่ได้มีการแจ้งเรื่องดอกเบี้ย  เพราะตอนนั้นเขียนคำร้องกันไปแค่ว่าบริษํทควรจ่ายชดเชยกี่เดือนตามกฏหมาย
ไม่ได้ระบุเรื่องดอกเบี้ย แต่ตอนนี้ขอแค่ให้ชนะก็ดีใจแล้วครับ การขึ้นศาลฟ้องร้องนี่มันนานจริง เกือบจะสามปีแล้วครับ
ถ้าต้องฏีกาต่ออีก ก็คงจะอีกยาว เฮ้อ
ต้องขอขอบคุณท่านทนายอีกครั้งครับ ได้ความรุ้ดีมากๆ ขอบคุณมากครับ