อยากลาออก แต่เจ้านายไม่ให้ออก เอาละซิ อย่างงี้ก็ต้องเป็นลูกจ้างตลอดไป อยากจะไปประกอบอาชีพอะไรก็คงไม่ได้ล่ะมั๊งเนี๊ยะ...หยอกครับหยอก
เอาเป็นว่า ตามหลักกฎหมาย ทั้งนายจ้างและลูกจ้างมีสิทธิเลิกสัญญาจ้างต่อกัน โดยการแสดงเจตนาต่ออีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อแสดงเจตนาแล้วก็ไม่จำต้องรอคำอนุมัติใดๆทั้งสิ้น และนายจ้างก็ไม่มีสิทธิที่จะเหนี่ยวรั้งเราไว้ได้
ซึ่งถ้าอยากออกจริงๆก็ทำหนังสือยื่นให้ผู้มีอำนาจหรือหัวหน้างาน แล้วก็เดินออกมาเลย ถึงแม้ว่าจะมีข้อบังคับให้ต้องลาออกก่อนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๓๐ วันหรือจะกี่วันก็ตาม เพียงแต่ว่า หากเราไม่แจ้งการลาออกให้กับนายจ้างตามข้อบังคับ หากเกิดความเสียหายและสามารถคิดเป็นมูลค่าได้ นายจ้างก็สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากเราได้
แต่กรณีที่ถาม มีเรื่องการออกรถมาเกี่ยวพันด้วย ซึ่งหากพิจารณาก็จะเห็นว่า ความเป็นนายจ้าง-ลูกจ้าง กับเรื่องการออกรถ มันเป็นคนละเรื่องกัน ทางแก้ง่ายๆถ้าไม่อยากเป็นเรื่องก็คือ คืนรถให้กับนายจ้างไป เพราะผู้ถือกรรมสิทธิ์เป็นของนายจ้าง แต่ถ้าอยากลองกันซักตั้ง ก็เอารถไป และผ่อนชำระตามสัญญาให้ครบถ้วน เมื่อครบถ้วนแล้วก็ทวงถามให้นายจ้างส่งมอบรถให้กับเราในฐานะผู้เช่าซื้อ ถ้าไม่ให้ก็ไปแจ้งความว่านายจ้างยึดหน่วงทรัพย์เราโดยมิชอบด้วยกฎหมายครับ
ส่วนที่นายจ้างขู่ว่าจะแจ้งตำรวจว่าเราขโมยรถนั้น คงไม่เข้าองค์ประกอบของการกระทำผิดในข้อหาลักทรัพย์นะครับ เพราะถ้าชื่อในเล่มทะเบียนลงชื่อเราเป็นผู้ครอบครองจะมาแจ้งว่าเราลักทรัพย์ไม่ได้ครับ เว้นแต่ ชื่อผู้ถือกรรมสิทธิและชื่อผู้ครอบครองเป็นชื่อของนายจ้าง กรณีอย่างนี้ ทนายแนะนำให้ตัดใจคืนรถไปเลยดีกว่าครับ จะได้ไม่ต้องยุ่งยากภายหลังครับ
ขอให้โชคดีครับ
ทนายพร