เป็นการพยายามทำหน้าที่พ่ออย่างน่าชื่นชมครับ
ส่วนการรับรองบุตร กรณีที่บิดา-มารดา ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันนั้น มีได้หลายกรณี เช่น บิดา-มารดา ไปจดทะเบียนสมรสกัน , ไปยื่นขอรับรองว่าเป็นบุตรกับนายทะเบียน ซึ่งกรณีนี้จะต้องได้รับความยินยอมจากแม่เด็ก และตัวเด็กเองก็ต้องรู้ภาษาหรือตอบคำถามได้แล้วจึงจะสามารถทำได้ หรือไปขอใช้อำนาจทางศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าเป็นบุตร
ซึ่งจากที่เล่ามา กว่าเด็กจะรู้เดียงสาก็คงอีกหลายปี และผู้ถามก็คงหมดไปอีกหลายสตางค์ และก็ไม่แน่ว่าแม่เด็กจะมาให้ความยินยอมแต่โดยดีหรือไม่
อย่ากระนั้นเลย ทนายแนะนำช่องทางที่สามละกัน ให้ไปติดต่อเจ้าหน้าที่ของศาลเยาวชนและครอบครัว สอบถามดูว่าต้องทำอย่างไร หรือจะใช้บริการทนายความอาสาที่ประจำอยู่ที่นั่นก็ได้ ทั้งนี้ หลังจากที่ยื่นคำร้องแล้วท่านต้องไปให้ปากคำต่อผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็ก(หลายท่านอาจจะ งงๆว่ามันเกี่ยวอะไรกับสถานพินิจ ก็ตอบว่า มันเป็นขั้นตอนของกฎหมายเพื่อรับรองว่าเราเป็นพ่อที่แท้จริงหรือไม่และเป็นการคุ้มครองเด็ก ซึ่งเค้าก็จะถามว่าเด็กเกิดที่ใหนอย่างไร ใครเลี้ยง ซึ่งหากเป็นบุตรของท่านจริงก็ต้องตอบได้ แล้วสถานพินิจฯก็จะมีหนังสือมาที่ศาลเพื่อแจ้งว่าได้ทำการสอบปากคำแล้วเห็นว่าเป็นบุตรจริงอะไรประมาณนี้ครับ)
หลังจากนั้น อีกไม่นาน (ประมาณไม่เกิน ๔๕ วัน) ศาลก็จะนัดไปไต่สวนคำร้อง ท่านก็ไปเบิกความตามลำดับขั้นตอนว่า อยู่กินกะใคร ชื่อไร เมื่อใหร่ และท้องเมื่อไหร่ (ไม่ต้องบอกจำนวนครั้งที่ทำนะ..ฮา..หยอกครับหยอก) คลอดที่ใหน ใครรู้เห็นบ้าง ใครไปแจ้งเกิด อะไรประมาณนี้ ซึ่งทนายก็คงจะแนะนำและทำการซักซ้อมกันท่านก่อนขึ้นเบิกความ
หลังจากนั้น ศาลก็จะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาว่า ท่านเป็นบิดา-บุตร กันจริง เมื่อได้คำสั่งมาแล้ว ท่านก็นำคำสั่งไปที่อำเภอเพื่อขอให้นายทะเบียนจดทะเบียนรับรองบุตรให้ เป็นอันจบข่าวเท่านี้ครับ
ไม่ยากๆ
ทนายพร.