หากตามพฤติการณ์ เป็นการล่อซื้อ แน่นอนว่า คงถูกตั้งข้อหา ครอบครองมียาเสพติดให้โทษประเภท ๑ เพื่อจำหน่ายและจำหน่าย ซึ่งมีโทษค่อนข้างสูงมาก
และคงจะเปลี่ยนแปลงข้อหาไม่ได้ เว้นแต่ ชุดจับกุมจะทำบันทึกจับกุมว่า "พบจำเลยท่าทางมีพิรุธ จึงได้ขอตรวจค้นพบยาบ้าในตัว ๗ เม็ด สอบสวนรับว่าเป็นของจำเลยมีไว้เพื่อเสพ" ถ้าอย่างนี้ ก็จะถูกตั้งข้อหาว่า ครอบครองเพื่อเสพละครับ
แต่ถ้าชุดสอบสวนทำบันทึกจับกุมว่า "..มีสายลับรายงานว่า จำเลยเป็นผู้ค้ายาเสพติดประเภท ๑ จึงได้ส่งสายลับไปติดต่อล่อซื้อ โดยได้ทำสำเนาธนบัตร เมื่อถึงเวลานัดหมาย พบจำเลยนำยาเสพติดมาส่งมอบให้กับสายลับ จึงเข้าทำการจับกุม" ถ้าอย่างนี้ ไม่รอดข้อหา ครอบครองและจำหน่ายแน่นอนครับ
ส่วนอัตราหลักทรัพย์ประกันตัวคดียาเสพติด
หากเป็นข้อหาจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่าย
-ไม่เกิน ๑๕ เม็ด สามแสนห้า
-๑๕-๕๐ เม็ด ห้าแสน
-๕๑-๑๐๐ เม็ด แปดแสน
-๑๐๑-๑๕๐ เม็ด สองล้านบาท หากเกินกว่า ๑๕๐ เม็ด จะเป็นดุลพินิจของศาลที่จะให้ประกันตัวหรือไม่
แต่หากเป็นครอบครองเพื่อเสพ
- ไม่เกิน ๑๐ เม็ด หนึ่งหมื่นบาท
- ๑๑-๑๔.๙ เม็ด สองหมื่นบาท อาจสงสัยว่าไอ้ ๑๔.๙ เม็ดมันยังงัย..ก็ประมาณว่า เม็ดสุดท้ายถูกหักไปครึ่งขา หรือไม่เต็มเม็ดนั่นเเหละ...
ส่วนเสพแล้วขับขี่ หรือเรียกว่าตรวจฉี่ม่วงพบขณะขับรถ จะต้องใช้หลักประกัน ๒ หมื่นบาท
ส่วนที่ถามว่าจะถูกจำคุกกี่ปี?
อืมมม....ทนายไม่ได้เป็นผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีนี้ด้วยซิครับ คงตอบไม่ได้ แต่ในฐานะที่ทำคดียาเสพติดและแนวคำพิพากษาศาลฏีกา (หรือเรียกว่าคดียี่ต้อก) ศาลมักจะลงโทษตามฐานความผิด ปกติหากเป็นครอบครองเพื่อเสพศาลจะลงโทษกระทงละ ๔ ปี รับสารภาพลดโทษให้กึ่งนึงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๘ คงเหลือ จำคุก ๒ ปี ส่วนจะติดจริงหรือรอลงอาญานั้น อยู่ที่พฤติการณ์ในแต่ละคดี และเทคนิคของทนายความที่ทำคดีให้นะครับ แต่หากเป็นจำหน่ายโทษจะสูงกว่านั้นมากครับ
และแน่นอนว่ามีค่าปรับด้วยแน่นอนครับ เตรียมเงินไปได้เลย หากไม่มีค่าปรับก็ติดคุกแทนการจ่ายค่าปรับครับ
ขอให้โชคดีครับ
ทนายพร.