24/11/24 - 11:04 am


ผู้เขียน หัวข้อ: มีหลายคนถามมาว่า พาดพิงบุคคลอื่นขนาดไหนที่จะถือว่าหมิ่นประมาท  (อ่าน 8854 ครั้ง)

ทนายพร

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 758
    • ดูรายละเอียด
การที่จะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น จะต้องเป็นการใส่ความผู้อื่นโดยยืนยันข้อเท็จจริงที่ใส่ความนั้นต่อบุคคลที่สาม และการใส่ความนั้นน่าจะทำให้ผู้อื่นที่ถูกใส่ความเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ทั้งนี้การกล่าวเปรียบเทียบที่เลื่อนลอย ไม่ยืนยันข้อเท็จจริง ไม่ถือเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

รวมถึงการกล่าวข้อความที่หยาบคาย หรือถ้อยคำเปรียบเทียบที่ไม่สุภาพหรือเป็นการเหยียดหยามให้อับอาย ก็ไม่ถือว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ผมอ้างอิงจากคำพิพากษาศาลฎีกา สามารถสรุปได้ดังนี้ครับ

1.   การใส่ความผู้อื่นที่ยังไม่ถูกตัดสินว่ามีความผิด หรือยังอยู่ในระหว่างการสอบสวน (อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 79/2537)

โจทก์ร่วมซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่ถูกร้องเรียนว่ายักยอกเงินโครงการอาหารกลางวันและอื่น ๆ ถูกตั้งกรรมการสอบสวนและได้รับคำสั่งให้ไปช่วยราชการที่อื่น จำเลยซึ่งรักษาการแทนโจทก์ร่วมทำหนังสือสั่งธนาคารระงับการจ่ายเงินเดือนให้โจทก์ร่วม และได้พูดกับ พ.ผู้ช่วยสมุหบัญชีธนาคารว่า "ยักยอก ตามตัวไม่พบ" คำพูดดังกล่าวมีความหมายให้ พ. เข้าใจว่าโจทก์ร่วมยักยอกเงินของทางราชการแล้วหนีไป จึงเป็นการใส่ความโจทก์ร่วม โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังจึงเป็นถ้อยคำหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม จำเลยมีเจตนากล่าวถ้อยคำโดยเจตนาใส่ความโจทก์ร่วมทั้งถ้อยคำดังกล่าวก็เป็นความเท็จ เพราะจำเลยทราบดีว่าขณะนั้นโจทก์ร่วมอยู่ในระหว่างถูกผู้บังคับบัญชาตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยและได้สั่งให้โจทก์ร่วมไปช่วยราชการที่อื่น หาใช่ว่าคณะกรรมการสอบสวนดำเนินการเสร็จแล้วและลงความเห็นว่าโจทก์ร่วมกระทำผิดวินัยและหลบหนีไปแต่อย่างใดไม่ การกล่าวถ้อยคำของจำเลยจึงมิใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต จำเลยกระทำความผิดก่อนวันใช้บังคับของพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมิได้เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 เดิม


2.   การเจตนาจงใจใส่ความที่ยังไม่ทราบว่าเป็นความจริงหรือความเท็จ แม้จะเป็นเพียงข้อความตามที่ได้รับบอกเล่ามาก็ตาม (อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 380/2503    และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4301/2541 )

นางใย อาของโจทก์เล่าให้จำเลยฟังว่าโจทก์ (เป็นนางสาว) กับนายอนันต์ซึ่งเป็นญาติของโจทก์ รักใคร่กันทางชู้สาวนอนกอดจูบกันและได้เสียกัน ต่อมานางสงวนมาถามจำเลยว่า นางใยมาเล่าอะไรให้จำเลยฟัง จำเลยก็เล่าข้อความตามที่นางใยเล่าแก่จำเลยให้นางสงวนฟัง นางสงวนได้เอาข้อความนั้นไปเล่าให้โจทก์ฟังอีกชั้นหนึ่งเช่นนี้ ถ้อยคำที่จำเลยกล่าว เป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์อย่างเห็นได้ชัด เมื่อจำเลยกล่าวออกไปแม้จะโดยถูกถามก็ดี จำเลยควรต้องสำนึกในการกระทำและเล็งเห็นผลของการกระทำของจำเลย ถือได้ว่า จำเลยจงใจกล่าวข้อความยืนยันข้อเท็จจริงโดยเจตนาใส่ความโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4301/2541 : สิทธิส่วนบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวย่อมได้รับความคุ้มครอง การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการธนาคารกล่าวข้อความว่า"โจทก์มีปัญหาในครอบครัว ทะเลาะเบาะแว้งกัน มีปัญหากับพนักงานในสาขาถึงได้ถูกย้ายไปสำนักงานใหญ่คงอยู่ไม่ได้นานต้องถูกไล่ออก" ต่อ อ. ลูกค้าของธนาคาร ย่อมเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงที่ล่วงสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งข้อความดังกล่าววิญญูชนทั่วไปย่อมจะเข้าใจได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานฝ่ายสินเชื่อ เป็นคนไม่ดี ทะเลาะกับสามี มีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน จนต้องถูกย้ายและกระทำความผิดร้ายแรงถึงขนาดจะถูกไล่ออกจากงานด้วย จึงเป็นข้อความที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังอันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท หาใช่เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่สามีภริยาทะเลาะกัน หรือเป็นคำติชมของผู้บังคับบัญชา หรือเป็นการกล่าวคาดคะเนแต่อย่างใดไม่ แต่เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีที่จำเลยกล่าวข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ต่อญาติของโจทก์เพียงคนเดียว และข้อความหมิ่นประมาทก็มิได้ทำให้ โจทก์เสียหายมากมายนัก นับว่าเป็นการกระทำความผิดที่มีลักษณะ ไม่ร้ายแรง ที่ศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำคุกและรอการลงโทษนั้น หนักเกินไปควรให้ปรับจำเลย 5,000 บาท


3. เอาจดหมายที่มีข้อความหมิ่นประมาทให้ผู้อื่นอ่าน (อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2822/2515)

การที่จำเลยแสดงข้อความในจดหมายที่ได้รับจากผู้อื่นให้บุคคลที่สามทราบ โดยรู้อยู่ว่าจดหมายนั้นมีข้อความหมิ่นประมาทผู้เสียหาย นับว่าจำเลยได้ใส่ความผู้เสียหาย แล้วไม่ต่างอะไรกับที่จำเลยได้กล่าวด้วยถ้อยคำวาจา และเมื่อบุคคลที่สามเข้าใจข้อความในจดหมายนั้นแล้วการกระทำของจำเลยก็ครบองค์ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 จำเลยจะได้กล่าวยืนยันข้อความนั้นว่าเป็นความจริงหรือไม่ ไม่เป็นข้อสำคัญ


No comments for this topic.