24/11/24 - 11:05 am


ผู้เขียน หัวข้อ: ทำอย่างไรเมื่อท่านได้รับหมายศาล  (อ่าน 9894 ครั้ง)

ทนายพร

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 758
    • ดูรายละเอียด
ทำอย่างไรเมื่อท่านได้รับหมายศาล
« เมื่อ: ตุลาคม 09, 2014, 10:03:04 pm »
หมายศาลนั้นมีหลายประเภท ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา ซึ่งหมายศาลแต่ละประเภทนั้นได้ก่อให้เกิดหน้าที่ของผู้รับหมายแตกต่างกัน ดังต่อไปนี้

หมายศาลในคดีแพ่ง เฉพาะที่สำคัญ ๆ ได้แก่


1.หมายเรียกและคำฟ้อง หรือหมายเรียกคดีแพ่งสามัญ ซึ่งหากท่านได้รับหมายดังกล่าวก็หมายความว่าท่านได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลแล้วนั้นเอง

หน้าที่ของผู้ที่ได้รับหมายเรียกดังกล่าวนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 ได้บัญญัติเอาไว้ว่า

“เมื่อได้ส่งหมายเรียกและคำฟ้องให้จำเลยแล้ว ให้จำเลยทำคำให้การเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายในสิบห้าวัน”

ดังนั้นท่านที่ได้รับหมายเรียกและคำฟ้อง จึงมีหน้าที่ต้องทำคำให้การเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหมาย มิฉะนั้นแล้วท่านจะหมดสิทธิในการต่อสู้คดีอันมีผลให้ท่านต้องแพ้คดี หรือต้องรับผิดตามที่โจทก์ได้ฟ้องมา

2.หมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ (คดีแพ่ง) หรือที่เรียกว่า “คำสั่ง” เรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ (คดีแพ่ง)”

ท่านที่ได้รับหมายดังกล่าว มีหน้าที่ต้องจัดส่งเอกสารหรือวัตถุพยานไปยังศาลตามรายการและวันที่ที่ระบุ ไว้ในหมายดังกล่าว หากท่านไม่ยอมส่งพยานเอกสารหรือพยานวัตถุตามคำสั่งเรียกอาจถูกฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 170 อันมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งในหลังหมายหรือคำสั่งเรียกนั้น จะมีคำเตือนดังกล่าวไว้

อย่างไรก็ดี หากท่านไม่มีเอกสารหรือวัตถุพยานที่ระบุไว้ในคำสั่งเรียกนั้นไว้ในความครอบครอง ท่านก็ไม่ต้องจัดเอกสารหรือวัตถุพยานนั้นไปยังศาล แต่ท่านจะต้องทำหนังสือชี้แจงถึงเหตุดังกล่าวไปยังศาล เพื่อให้ศาลและผู้ขอหมายเรียกพยานได้รับทราบต่อไป

แต่หากท่านมีเอกสารหรือวัตถุพยานนั้นในความครอบครองเพียงบางส่วน หรือมีอยู่ทั้งหมดตามที่ระบุไว้ในคำสั่งเรียก แต่ท่านไม่สามารถจัดส่งไปยัง ศาลได้ทันกำหนดเวลาเพราะเหตุใดก็ตาม ท่านก็ต้องมีหนังสือแจ้งเหตุขัดข้องดังกล่าวไปยังศาลเพื่อขออนุญาตศาลจัดส่ง เอกสารหรือวัตถุพยานไปยังศาลในคราวอื่น

ซึ่งหากท่านละเลยไม่ดำเนินการใด ๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เพื่อแก้ไขเหตุขัดข้อง ท่านก็อาจได้รับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 170 เช่นกัน

3.หมายเรียกพยานบุคคล

ท่านได้รับหมายเรียกดังกล่าว มีหน้าที่ต้องไปศาลตามวันและเวลาที่กำหนดไว้ในหมายเรียกเพื่อเบิกความเป็นพยานต่อศาล หากขัดขืนไม่ไปศาลตามหมายเรียกดังกล่าว ศาลอาจออกหมายจับเอาตัวกักขังได้ ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 111(2) และอาจถูกฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 170 โดยมาตราดังกล่าวมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในการเบิกความต่อศาลนั้น หากเบิกความเท็จในคดีแพ่งก็มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 177 หรือ 180 ซึ่งมีโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินห้าปีและปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

อย่างไรก็ดี หากท่านมีเหตุขัดข้องไม่สามารถไปศาลตามวันและเวลาที่ระบุไว้ในหมายท่านก็ สามารถทำหนังสือแจ้งเหตุขัดข้องต่อศาลได้ ซึ่งในกรณีนี้หากผู้ที่ขอหมายเรียกร้องประสงค์จะให้ท่านเบิกความเป็นพยานต่อศาลอีก ก็จะต้องส่งหมายเรียกมายังท่านอีกครั้งหนึ่ง

หากท่านได้รับหมายเรียกดังกล่าว และท่านอยากทราบว่าท่านจะมีความผิดประการใดหากไม่ไปศาลตามวันและเวลาระบุไว้ในหมาย ท่านก็สามารถพลิกดูคำเตือนพยานซึ่งอยู่ด้านหลังของหมายเรียกดังกล่าวได้

4.หมายบังคับคดี


ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยแพ้คดีแล้ว และจำเลยไม่ยอมชำระหนี้ เมื่อจำเลยได้รับหมายบังคับคดีดังกล่าวแล้ว จำเลยมีหน้าที่ต้องปฎิบัติการชำระหนี้ตามคำพิพากษา มิฉะนั้นโจทก์สามารถนำเจ้าพนักงานบังคับคดีมาทำการยึดทรัพย์สินของจำเลยออก ขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ไปได้หรือบังคับการใด ๆ ตามคำพิพากษาต่อไป

หมายในคดีอาญา ที่สำคัญ ๆ ได้แก่


1.หมายนัดไต่สวนมูลฟ้อง

เมื่อท่านได้นับหมายนัดไต่สวนมูลฟ้อง สิ่งที่ท่านควรจะทำมีดังนี้

1.ดูรายละเอียดในหมายก่อนว่า ศาลได้กำหนดวันนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันใด และคำฟ้องมีสาระสำคัญประการใด

2.หากท่านประสงค์จะขอประนีประนอมกับโจทก์ก็ต้องเจรจากับตัวความซึ่งหากโจทก์ ยินยอมตามที่ท่านขอประนีประนอม และยินยอมถอนฟ้องออกไปคดีก็เป็นอันเสร็จสิ้น หมายนัดไต่สวนมูลฟ้องดังกล่าวก็เป็นอันเสร็จสิ้นผลไปทันที

3.หากท่านประสงค์จะสู้คดี หรือโจทก์ไม่ยินยอมประนีประนอมยอมความด้วยท่านก็ต้องรีบนำคดีไปปรึกษาทนายความและทำหนังสือแต่งตั้งทนายความ เพื่อให้ทนายความไปทำการซักค้านพยานโจทก์ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องแทนท่าน

โดยในวันนัดดังกล่าวท่านไม่จำเป็นต้องไปศาลตามวันที่และเวลาที่ระบุไว้แต่ อย่างใดแต่หากท่านจะไปศาลในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องท่านก็เตรียมหลักทรัพย์ไปเพื่อเตรียมประกันตัวในกรณีศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องไว้พิจารณา

2.หมายเรียกพยานบุคคล

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 53 บัญญัติไว้ว่า “หมายเรียกต้องทำเป็นหนังสือ” และมีข้อความดังต่อไปนี้

(1) สถานที่ที่ออกหมาย
(2) วันเดือนปีที่ออกหมาย
(3) ชื่อและตำบลที่อยู่ของบุคคลที่ออกหมายเรียกให้มา
(4) เหตุที่ต้องเรียกผู้นั้นมา
(5) สถานที่ วันเดือนปีและเวลาที่จะให้ผู้นั้นไปถึง
(6) ลายมือชื่อและประทับตราของศาล หรือลงลายมือชื่อและตำแหน่งเจ้าพนักงานผู้ออกหมาย

ท่านได้รับหมายเรียกดังกล่าว ท่านต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับท่านที่ได้รับหมายเรียกพยานบุคคลในคดีแพ่งดัง ได้กล่าวมาแล้ว

3.หมายเรียกพยานเอกสารหรือวัตถุ (คดีอาญา)

หากท่านได้รับหมายเรียกให้ส่งพยานเอกสารหรือพยานวัตถุต่อศาลท่านมีหน้าที่ ต้องจัดส่งเอกสารหรือพยานวัตถุไปยังศาลตามวันที่กำหนดไว้ในหมายดังกล่าว หากท่านไม่สามารถจัดส่งให้ได้ เนื่องจากไม่มีเอกสารหรือพยานวัตถุดังกล่าวอยู่ในความครอบครอง หรือมีเพียงบางส่วนหรือไม่สามารถจัดส่งไปได้ทันเพราะเหตุใดๆ ก็ตาม ท่านมีหน้าที่ต้องแจ้งไปยังศาล โดยอาจทำเป็นหนังสือไปแถลงต่อศาลด้วยวาจาในวันที่ระบุในหมายเรียกก็ได้

ท่านที่ไม่แจ้งเหตุขัดข้องต่อศาล หรือขัดขืนไม่จัดส่งพยานเอกสารหรือพยานวัตถุต่อศาลตามวันที่กำหนดไว้ในหมาย ท่านอาจถูกฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ท่านที่ได้รับหมายเรียกดังกล่าวสามารถดูคำเตือนด้านหลังหมายว่าจะต้องรับผิดประการใดหากขัดขืนหมายศาลดังกล่าว

4.หมายจับ ค้น ขัง จำคุก และปล่อย

สิ่งที่ท่านควรกระทำเมื่อได้รับหมายค้นและหมายจับ ก็คือ

1.อ่านรายละเอียดในหมายว่า ระบุให้ใคร กระทำการอะไร ที่ไหนเวลาอะไร ใครเป็นผู้ขอให้ออก และออกด้วยสาเหตุใด นอกจากนี้ ต้องดูอีกว่าผู้ใดเป็นผู้ออกหมายและหมายดังกล่าวได้ออกโดยถูกต้องตามกฎหมาย หรือไม่

2.หากตรวจดูรายละเอียดในหมายแล้ว เห็นว่าเป็นหมายที่ถูกต้องตามกฎหมายท่านก็ต้องปฏิบัติตามที่ระบุไว้ในหมาย ดังกล่าว เช่น หากเป็นหมายค้นก็ต้องยอมให้ตรวจค้นได้แต่การตรวจค้นจะต้องกระทำภายในเวลาและสถานที่ที่ระบุไว้ในหมายเท่านั้น และต้องกระทำอย่างเรียบร้อย ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ตรวจค้น หากพบว่าการตรวจค้นไม่ชอบ ท่านสามารถดำเนินคดีเอากับผู้ตรวจค้นได้ หากเป็นหมายจับ ท่านก็ต้องถูกจับ และต้องประกันตัวต่อศาลเพื่อต่อสู้คดี หรือเจรจาประนีประนอมยอมความเอากับผู้เสียหายต่อไป

สำหรับหมายขัง จำคุก และปล่อยนั้น เป็นเรื่องที่ศาลจะกำหนดไว้ในหมายว่าจะดำเนินการเมื่อใด อย่างไร ซึ่งท่านก็ต้องถูกบังคับให้เป็นไปตามนั้น

หลักเกณฑ์ในการออกหมายค้น จับ ขัง จำคุก หรือปล่อย เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 59 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า

“เจ้าพนักงานหรือศาลผู้มีอำนาจออกหมายจับ หมายค้น หรือหมายขัง จะออกหมายนั้นโดยพลการหรือโดยมีผู้ร้องขอก็ได้
ในกรณีที่มีผู้ร้องขอ เจ้าพนักงานหรือศาลผู้ออกหมายจะต้องสอบให้ปรากฏเหตุผลสม-ควรที่จะออกหมาย นั้นเสียก่อน เหตุผลนี้จะได้มาจากคำแจ้งความโดยสาบานตัวหรือจากพฤติการณ์อย่างอื่นก็ได้”

มาตรา 30 หมายจับ ค้น ขัง จำคุก หรือปล่อย ต้องทำเป็นหนังสือและมีข้อความดังต่อไปนี้
(1)สถานที่ที่ออกหมาย
(2)วันเดือนปีที่ออกหมาย
(3)เหตุที่ต้องออกหมาย
(4) (ก)ในกรณีออกหมายจับ ต้องระบุชื่อหรือรูปพรรณของบุคคลที่จะจับ

(ข)ในกรณีออกหมายขัง จำคุก หรือปล่อย ต้องระบุชื่อบุคคลที่จะถูกขัง จำคุก หรือปล่อย

(ค)ในกรณีออกหมายค้น ให้ระบุสถานที่ที่จะค้นและชื่อหรือรูปพรรณบุคคลหรือลักษณะสิ่งของที่ต้องการ ค้น กำหนดวันเวลาที่จะทำการค้น และชื่อกับตำแหน่งของเจ้าพนักงานผู้จะทำการค้นนั้น

(5) (ก)ในกรณีออกหมายจับ หมายขัง หรือหมายค้นให้ระบุความผิด
(ข)ในกรณีออกหมายจำคุก ให้ระบุความผิดและกำหนดโทษตามคำพิพากษา
(ค)ในกรณีออกหมายขังหรือจำคุก ให้ระบุสถานที่ซึ่งจะให้ขังหรือจำคุก
(ง)ในกรณีออกหมายปล่อย ให้ระบุเหตุที่ให้ปล่อย

(6)ลายมือชื่อ และประทับตราของศาล หรือลายมือชื่อและตำแหน่งของเจ้าพนักงานผู้ออกหมาย



maraphanee

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 2
    • ดูรายละเอียด
Re: ทำอย่างไรเมื่อท่านได้รับหมายศาล
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: ตุลาคม 15, 2014, 07:09:14 pm »
ดีมากๆครับทนายพร

sintonped

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 2
    • ดูรายละเอียด
    • บาคาร่า มือถือ
Re: ทำอย่างไรเมื่อท่านได้รับหมายศาล
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: พฤศจิกายน 03, 2014, 05:16:03 pm »
มีความรู้มากครับ