29/03/24 - 08:40 am


ผู้เขียน หัวข้อ: นำรถไปจอดในห้างสรรพสินค้า และถ้ารถเกิดการสูญหาย ห้างต้องรับผิดชอบและมีความผิด  (อ่าน 7029 ครั้ง)

ทนายพร

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 750
    • ดูรายละเอียด
เนื่องจากมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ได้วางบรรทัดฐานไว้ว่า “ห้างสรรพสินค้าที่จัดให้มีที่จอดรถ ถ้ารถลูกค้าเกิดการสูญหาย ห้างดังกล่าวนั้นต้องรับผิดชอบร่วมกับบริษัทที่เข้ามาดูแลรักษาความปลอดภัยของห้างสรรพสินค้านั้นๆ”


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4125/2557

สัญญาที่จำเลยร่วม (ในที่นี้ คือ ห้างสรรสินค้า) ตกลงให้จำเลยที่ 1 (ในที่นี้ คือ บริษัทรักษาความปลอดภัย) ดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยบริเวณห้างสรรพสินค้า เป็นการทำอย่างใดอย่างหนึ่งจนสำเร็จแล้ว จำเลยร่วมตกลงจ่ายเงินค่าตอบแทนในผลสำเร็จของงานที่ทำ

การดูแลรักษาความปลอดภัยตามสัญญาจำนองที่ 1 เป็นผู้ควบคุมดูแลพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจ้าง และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 ต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของจำเลยร่วม

สัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยร่วม จึงเป็นสัญญาจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587

ขณะผู้มาใช้บริการขับรถเข้าห้างสรรพสินค้าของจำเลยร่วม จะมีพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 (ในที่นี้ คือ บริษัทจัดการเรื่องรับบัตรเข้าจอดรถ) มอบบัตรจอดรถให้ และรับบัตรจอดรถคืนจากผู้มาใช้บริการเมื่อขับรถออกจากห้าง

พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ย่อมทำให้ลูกค้าที่มาใช้บริการโดยทั่วไปเข้าใจได้ว่า ที่จำเลยร่วมจัดที่จอดรถให้แก่ลูกค้า จำเลยร่วมได้จัดให้มีบริการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยสำหรับทรัพย์สินของจำเลยร่วม

โดยจำเลยร่วมว่าจ้างจำเลยที่ 1 และพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนรับดูแลรักษาความเรียบร้อยและความปลอดภัยแทนจำเลยร่วม โดยถือว่าเป็นการให้บริการอย่างหนึ่งของจำเลยร่วม เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าผู้มาใช้บริการ ซึ่งถือได้ว่ามีผลโดยตรงต่อยอดการจำหน่ายสินค้าของจำเลยร่วมด้วย

เมื่อพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดโดยปล่อยปละละเลยให้คนร้ายลักรถของ ก. ผู้เอาประกันภัย ซึ่งจอดรถอยู่ในลานจอดรถของจำเลยร่วมไป

จำเลยร่วมซึ่งเป็นตัวการที่มอบหมายให้จำเลยที่ 1 และพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนดูแลรักษาความเรียบร้อยและความภัยในบริเวณลานจอดรถของจำเลยร่วม จึงต้องร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 ประกอบมาตรา 420 และมาตรา 425

2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7471/2556

กรณีนี้ พบว่า ห้างไม่มีการแจกบัตรจอดรถ ไม่เก็บค่าที่จอดรถ มีแต่กล้องวงจรปิด แต่ห้างก็ยังต้องรับผิดชอบในความสูญหายของรถลูกค้าเช่นเดียวกัน

จำเลยเป็นห้างสรรพสินค้าขายปลีกและขายส่งสินค้าอุปโภคและบริโภค ย่อมต้องให้ความสำคัญด้านบริการต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการเกี่ยวกับสถานที่จอดรถ ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของลูกค้าที่จะเข้าไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการอื่น ๆ หรือไม่

แม้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 8 (9), 34 บัญญัติให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของอาคาร ต้องจัดให้มีพื้นที่จอดรถเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การจราจร แต่จำเลยยังต้องคำนึงและมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของลูกค้าทั้งในชีวิตและทรัพย์สิน มิใช่ปล่อยให้ลูกค้าระมัดระวังหรือเสี่ยงภัยเอาเอง

การที่จำเลยเคยจัดให้มีการแจกบัตรสำหรับรถของลูกค้าที่เข้ามาในห้างซึ่งเป็นวิธีการที่ค่อนข้างรัดกุม เพราะหากไม่มีบัตรผ่าน กรณีจะนำรถยนต์ออกไปจะต้องถูกตรวจสอบโดยพนักงานของจำเลย

แต่ขณะเกิดเหตุกลับยกเลิกวิธีการดังกล่าวเสียโดยใช้กล้องวงจรปิดแทน เป็นเหตุให้คนร้ายสามารถเข้าออกลานจอดรถห้างฯ ของจำเลยและโจรกรรมรถได้โดยง่ายยิ่งขึ้น

แม้จำเลยจะปิดประกาศว่าจะไม่รับผิดชอบต่อการสูญหายหรือเสียหายใด ๆ รวมทั้งการที่ลูกค้าก็ทราบถึงการยกเลิกการแจกบัตรจอดรถ แต่ยังนำรถเข้ามาจอดก็ตาม ก็เป็นเรื่องข้อกำหนดของจำเลยแต่ฝ่ายเดียว ไม่มีผลเป็นการยกเว้นความรับผิดในการทำละเมิดของจำเลย
 

3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5800/2553

กรณีนี้ คือ รถหายในห้างที่แจกบัตรเข้าออกลานจอดรถ ซึ่งศาลฎีกาได้พิพากษาให้ห้างรับผิดชอบในความสูญหายของรถ


จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในการรับฝากรถของลูกค้าที่นำมาจอดเพื่อใช้บริการของห้างจำเลยที่ 1

แต่จำเลยที่ 1 ก่อสร้างห้างจำเลยที่ 1 อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ซึ่งกำหนดให้เจ้าของอาคารต้องมีที่จอดรถ จำเลยที่ 1 จึงต้องจัดสร้างที่จอดรถดังกล่าวและจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ในการดูแลรักษาความปลอดภัยห้างของจำเลยที่ 1

ซึ่งในการนำรถยนต์เข้ามาจอด ต้องรับบัตรจอดรถจากพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 และเมื่อจะนำรถยนต์ออกต้องแสดงบัตรจอดรถที่ตรงกับหมายเลขทะเบียนรถต่อพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ตรวจดูว่าถูกต้องจึงจะอนุญาตให้นำรถออกจากห้องของจำเลยที่ 1 ได้

แม้จำเลยที่ 1 ไม่เก็บค่าจอดรถ แต่ก็เป็นการจัดที่จอดรถให้แก่ลูกค้าตามพระราชบัญญัติของกฎหมาย และตามพฤติการณ์ยังเป็นการให้บริการอย่างหนึ่งของห้างจำเลยที่ 1 ที่มีผลต่อยอดจำหน่ายสินค้าของจำเลยที่ 1 โดยตรง ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอื่น

จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ให้บริการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 3

ทั้งห้างของจำเลยที่ 1 มีลูกค้าขับรถยนต์มาจอดและเข้าซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก การดำเนินคดีย่อมเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคโดยส่วนรวมตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 39 คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคโจทก์ย่อมมีอำนาจรับเรื่องไว้พิจารณาและแต่งตั้งให้พนักงานอัยการดำเนินคดีแทนผู้บริโภคได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 19 นาฬิกา ผู้บริโภคขับรถยนต์พิพาทไปจอดที่ลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 โดยรับบัตรจอดรถฉบับบนจากจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ที่ประจำอยู่ประตูทางเข้าของห้าง

โดยจำเลยที่ 4 ได้เขียนกำกับหมายเลขทะเบียนรถยนต์ของผู้บริโภคไว้ในบัตรจอดรถก่อนมอบให้ผู้บริโภค

เมื่อจอดรถแล้วผู้เสียหายได้เข้าไปซื้อสินค้าในห้างของจำเลยที่ 1

หลังจากนั้นประมาณ 50 นาที ผู้บริโภคได้กลับมาที่จอดรถ ปรากฏว่ารถยนต์พิพาทหายไปแล้ว โดยบัตรจอดรถยังอยู่ที่ผู้บริโภค

การออกบัตรจอดรถให้เจ้าของรถยนต์ที่ผ่านเข้ามาจอดในลานจอดรถไม่ได้ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอ โดยเขียนกำกับเฉพาะหมายเลขทะเบียนแต่ไม่ได้ระบุหมวดตัวอักษรหน้าหมายเลขทะเบียน และบัตรอ่อนไม่ระบุวันเดือนปีและเวลาที่รถยนต์เข้ามาจอด จึงง่ายต่อการปลอมแปลงและนำมาใช้ซ้ำ

การที่พนักงานรักษาความปลอดภัยปล่อยให้คนร้ายนำรถของผู้บริโภคออกจากลานจอดรถโดยไม่ระมัดระวังในการตรวจบัตรจอดรถโดยเคร่งครัด จึงเป็นผลโดยตรงที่ทำให้รถยนต์ถูกลักไป เป็นการประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 และที่ 4 พนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นลูกจ้างที่กระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 อันเป็นการละเมิดต่อผู้บริโภค ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และ 425 จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งการละเมิดต่อผู้บริโภค


ตามสัญญาว่าจ้างงานรักษาความปลอดภัย ครอบคลุมเฉพาะการรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของผู้ว่าจ้างและลูกจ้างของผู้ว่าจ้างเท่านั้น แต่ตามสัญญาข้อ 1 ระบุว่านอกจากจำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 ทำการรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 และลูกจ้างของจำเลยที่ 1 แล้วยังรวมตลอดถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์หรืออยู่ภายใต้การควบคุมดูแลหรือครอบครองของจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ในบริเวณห้างจำเลยที่ 1 ด้วย

นอกจากนี้ยังได้ระบุในสัญญาว่าจ้างงานรักษาความปลอดภัย ข้อ 7.3 ว่า “ประสานงานและให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือในการป้องกันและปราบปรามโจรกรรม การก่อวินาศกรรม การก่ออาชญากรรมทุกรูปแบบตลอดจนการก่อความวุ่นวาย การจลาจลต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นภายในบริเวณสถานที่ของผู้ว่าจ้าง” ด้วย

จึงย่อมรวมถึงรถยนต์ของผู้บริโภคซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 ที่มาจอดในบริเวณห้างและถูกคนร้ายลักไปเพราะการลักทรัพย์ถือเป็นการโจรกรรมและการก่ออาชญากรรมอย่างหนึ่ง จึงอยู่ในขอบเขตการว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยตามสัญญาว่าจ้างงานรักษาความปลอดภัย

จำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวแทนที่รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ในการรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินในห้างจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันกระทำละเมิดทำให้รถยนต์พิพาทของผู้บริโภคสูญหายไป

จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการจึงต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งตัวแทนของจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในกิจการที่รับมอบหมายให้ทำแทนนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 14, 2015, 02:44:05 pm โดย ทนายพร »

No comments for this topic.