24/11/24 - 01:55 am


ผู้เขียน หัวข้อ: ให้ลาออกจากงานทันที ที่ถามถึงกฏระเบียบการขอลาออก  (อ่าน 9168 ครั้ง)

เรียน ทนายพร

เนื่องด้วยดิฉันเป็นพนักงานโรงแรม แผนกครัว ตำแหน่ง เอ็กคลูซีฟ เชฟ (ผจก.แผนกครัว) มีอายุงาน 10 เดือน

สาเหตุการถูกให้เขียนใบลาออก และให้ออกในทันทีเนื่องมาจากว่า
ดิฉ้นได้ทำของหวาน คือ ข้าวเหนียวมะม่วง เสิร์ฟให้กับเจ้านายและแขก โดยไม่มีน้ำกะทิราด ทางโรงแรมจึงให้ใบเตือนครั้งสุดท้าย ซึ่งหนังสือเตือนดังกล่าวดิฉันไม่ยินยอม
เนื่องจากดิฉัน มิได้เพิกเฉยตามข้อความในใบเตือน และถ้าบริษัทถือว่า การไม่ราดน้ำกะทิลงบนข้าวเหนียวมะม่วง เป็นความผิด ก็เป็นความผิดครั้งแรก ของดิฉัน

วันถัดมา ดิฉันจึงได้ถามไปยัง หัวหน้าว่า หากดิฉันต้องการลาออก ต้องใช้เวลากี่วันตามระเบียบโรงแรม
จากนั้น ฝ่ายบุคคลได้ไลน์ให้ดิฉันลงไปเขียนใบลาออก และให้ออกในทันที
ดิฉันเห็นว่า ทางโรงแรมมิได้ให้โอกาสดิฉันในการลาออกให้ถูกต้องตามระเบียบ เพื่อรับเงินเดือนเต็มเดือน
อีกทั้งมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าแต่ให้ เขียนใบลาออกทันทีและให้ออกจากหน้าที่และสถานที่ในทันที เหมือนกับการไล่ออก
โดยฝ่ายบุคคลแจ้งว่า จะจ่ายเงินเดือนให้ จำนวน 11 วัน (1-11 มิย.) และนักขัตฤกษ์ที่ค้างจำนวน 4 วัน โดยจะจ่ายให้ ในวันที่ 2 กรกฏาคม 2515
อีกทั้งบ่ายเบี่ยงเรื่องใบผ่านงาน มาตลอดระยะเวลาที่ติดตามทวงถาม ทำให้ดิฉันไม่สามารถไปสมัครงานที่อื่นได้

ในการนี้ดิฉันใคร่อยากทราบว่าดิฉันจะสามารถ เรียกร้องใด ๆ ได้บ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
ดิฉันสามารถไปดำเนินการฟ้องร้องที่ศาลแรงงานเลยได้หรือไม่คะ

ขอขอพระคุณล่วงหน้ามา ณ โอกาสนี้

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 23, 2015, 11:20:30 pm โดย ทนายพร »

ทนายพร

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 758
    • ดูรายละเอียด
เรียน คุณข้าวเหนียวมะม่วง

ปัญหาสำคัญของลูกจ้างประการหนึ่งก็คือการไม่เข้าใจกฎหมาย ซึ่งจะทำให้ลูกจ้างเสียเปรียบนายจ้างเสมอ

อย่างเช่นในเรื่องของคุณนี้ ที่ “พลาด” ที่ไปเขียน “ใบลาออก” ทำให้ความสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลง โดย “ความสมัครใจที่จะเป็นฝ่ายเลิกสัญญาจ้างเอง”
 
ดังนั้น เมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุดโดยความสมัครใจของเราเองแล้ว จึงไม่สามารถเรียกร้องตามสิทธิตามกฎหมายที่ควรจะได้รับ

อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดความกระจ่างและเป็นความรู้กับผู้ที่สนใจทั่วๆไปด้วย ก็ขอตอบตามประเด็นดังนี้ครับ

๑ จากคำถามที่ว่า “ในการนี้ดิฉันใคร่อยากทราบว่าดิฉันจะสามารถ เรียกร้องใด ๆ ได้บ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน” 
ตอบ  ไม่สามารถเรียกร้องเงินค่าชดเชย , สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ได้เนื่องจากเราเป็นฝ่ายเขียนใบลาออกเองครับ

๒.จากคำถามเรื่องใบผ่านงาน
ตอบ  ในเรื่องนี้เป็นสิทธิของเราที่จะได้รับใบผ่านงานจากนายจ้าง โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (บรรพ ๓ ลักษณะ ๖ จ้างแรงงาน) มาตรา ๕๘๕ ได้บัญญัติว่า “เมื่อการจางแรงงานสุดสิ้นลงแลว ลูกจางชอบที่จะไดรับใบสําคัญแสดงวาลูกจางนั้นได้ทํางานมานานเทา ไหรและงานที่ทํานั้นเปนงานอยางไร” ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของนายจ้างที่จะต้องทำหนังสือใบผ่านงานให้กับเราครับ ถ้านายจ้างยังเพิกเฉยก็ให้ไปแจ้งเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานประจำเขตหรือประจำจังหวัดที่เราทำงานเพื่อบังคับให้นายจ้างออกใบผ่านงานให้เราได้ครับ

๓.จากคำถามที่ว่า “ดิฉันสามารถไปดำเนินการฟ้องร้องที่ศาลแรงงานเลยได้หรือไม่”
 ตอบ   ค่อนข้างยากและอาจจะไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นที่เราไปเขียนใบลาออกเอง จะเป็นข้อต่อสู้ที่สำคัญของนายจ้างที่อาจจะทำให้คุณแพ้คดีได้ครับ
ส่วนเรื่องโรงแรมมิได้ให้โอกาสในการลาออกให้ถูกต้องตามระเบียบ เพื่อรับเงินเดือนเต็มเดือน อีกทั้งมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า นั้น หากคุณไม่เขียนใบลาออก แต่ยอมให้บริษัท “เลิกจ้าง” ถ้าเป็นกรณีอย่างนี้ก็มีโอกาสสูงที่จะชนะคดีและมีสิทธิได้รับเงินชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า รวมทั้งค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้ครับ

๔. ส่วนเรื่องใบเตือนนั้น ถ้าเป็นการทำผิดวินัยที่ไม่ร้ายแรง ก็ไม่เป็นเหตุที่นายจ้างจะเลิกจ้างได้ครับ (ประเด็นในเรื่องนี้คือ เราได้เขียนใบลาออกหรือไม่? หากไม่ได้เขียนใบลาออก ก็ถือว่า นายจ้างได้เลิกจ้างคุณแล้ว ซึ่งข้อแนะนำก็จะเป็นไปตามข้อ ๓ ครับ)

ทนายพร
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 23, 2015, 11:15:16 pm โดย ทนายพร »

Oveatkez

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 2
    • ดูรายละเอียด
กำลังศึกษาข้อมูลอยู่พอดีเลยครับ แอ็ดมินตอบเร็วดีครับ ชอบมากครับ

Poloyamaka

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 2
    • ดูรายละเอียด
เหมือนโดนเอาเปรียบเลยนะครับผม ในกรณีแบบนี้