เรียน คุณข้าวเหนียวมะม่วง
ปัญหาสำคัญของลูกจ้างประการหนึ่งก็คือการไม่เข้าใจกฎหมาย ซึ่งจะทำให้ลูกจ้างเสียเปรียบนายจ้างเสมอ
อย่างเช่นในเรื่องของคุณนี้ ที่ “พลาด” ที่ไปเขียน “ใบลาออก” ทำให้ความสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลง โดย “ความสมัครใจที่จะเป็นฝ่ายเลิกสัญญาจ้างเอง”
ดังนั้น เมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุดโดยความสมัครใจของเราเองแล้ว จึงไม่สามารถเรียกร้องตามสิทธิตามกฎหมายที่ควรจะได้รับ
อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดความกระจ่างและเป็นความรู้กับผู้ที่สนใจทั่วๆไปด้วย ก็ขอตอบตามประเด็นดังนี้ครับ
๑ จากคำถามที่ว่า “ในการนี้ดิฉันใคร่อยากทราบว่าดิฉันจะสามารถ เรียกร้องใด ๆ ได้บ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน”
ตอบ ไม่สามารถเรียกร้องเงินค่าชดเชย , สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ได้เนื่องจากเราเป็นฝ่ายเขียนใบลาออกเองครับ
๒.จากคำถามเรื่องใบผ่านงาน
ตอบ ในเรื่องนี้เป็นสิทธิของเราที่จะได้รับใบผ่านงานจากนายจ้าง โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (บรรพ ๓ ลักษณะ ๖ จ้างแรงงาน) มาตรา ๕๘๕ ได้บัญญัติว่า “เมื่อการจางแรงงานสุดสิ้นลงแลว ลูกจางชอบที่จะไดรับใบสําคัญแสดงวาลูกจางนั้นได้ทํางานมานานเทา ไหรและงานที่ทํานั้นเปนงานอยางไร” ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของนายจ้างที่จะต้องทำหนังสือใบผ่านงานให้กับเราครับ ถ้านายจ้างยังเพิกเฉยก็ให้ไปแจ้งเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานประจำเขตหรือประจำจังหวัดที่เราทำงานเพื่อบังคับให้นายจ้างออกใบผ่านงานให้เราได้ครับ
๓.จากคำถามที่ว่า “ดิฉันสามารถไปดำเนินการฟ้องร้องที่ศาลแรงงานเลยได้หรือไม่”
ตอบ ค่อนข้างยากและอาจจะไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นที่เราไปเขียนใบลาออกเอง จะเป็นข้อต่อสู้ที่สำคัญของนายจ้างที่อาจจะทำให้คุณแพ้คดีได้ครับ
ส่วนเรื่องโรงแรมมิได้ให้โอกาสในการลาออกให้ถูกต้องตามระเบียบ เพื่อรับเงินเดือนเต็มเดือน อีกทั้งมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า นั้น หากคุณไม่เขียนใบลาออก แต่ยอมให้บริษัท “เลิกจ้าง” ถ้าเป็นกรณีอย่างนี้ก็มีโอกาสสูงที่จะชนะคดีและมีสิทธิได้รับเงินชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า รวมทั้งค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้ครับ
๔. ส่วนเรื่องใบเตือนนั้น ถ้าเป็นการทำผิดวินัยที่ไม่ร้ายแรง ก็ไม่เป็นเหตุที่นายจ้างจะเลิกจ้างได้ครับ (ประเด็นในเรื่องนี้คือ เราได้เขียนใบลาออกหรือไม่? หากไม่ได้เขียนใบลาออก ก็ถือว่า นายจ้างได้เลิกจ้างคุณแล้ว ซึ่งข้อแนะนำก็จะเป็นไปตามข้อ ๓ ครับ)
ทนายพร