22/11/24 - 18:57 pm


ผู้เขียน หัวข้อ: ถูกเลิกจ้างแบบนี้ทำอะไรได้บ้างครับ  (อ่าน 6439 ครั้ง)

kong

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 1
    • ดูรายละเอียด
ขอเข้าเรื่องให้ฟังเลยนะครับ ก่อนอื่นผมทำงานเป็นล่ามภาษาญี่ปุ่นครับ รับงานฟรีแลนซ์ตามโรงงานญี่ปุ่นผ่านทางบริษัทรีครุต จนเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2558มีบริษัทรีครูตแห่งหนึ่งติดต่อมาว่าต้องการล่ามเพื่อไปล่ามที่บริษัท เอ ระยะเวลาตั้งแต่วันที่13 ก.ค-30พ.ย 2558 โดยสัญญาการจ้างงานจ่ายเป็นรายวันเป็นบริษัทรีครุตทำสัญญากับบริษัทเอโดยตรง ผมเป็นแค่สัญญาวาจาในการจ้างงาน  จากนั้นช่วงปลายเดือนพ.ย ทางบริษัทก็แจ้งมาว่าทางบริษัทเอ จะต่อสัญญาไปอีก6เดือน จนถึง31พ.ค (มีล่ามสัญญาจ้างเหมือนกัน2คนครับ) ผมก็ตอบตกลงว่าจะทำต่อไปอันนี้รีครุคกับผมก็ไม่มีสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรเหมือนเดิม แต่รีครุตมีสัญญากับบริษัทเอ จากนั้นก็ทำงานด้วยดีเสมอมา จนกระทั่งวันสุดท้ายของวันทำงานก่อนหยุดปีใหม่วันศุกร์ที่25 ธันวา( บริษัทเอหยุด 26ธ.ค-4ม.ค2559) ทางบริษัทรีครุตก็แจ้งมาว่า ทางบริษัทเอ จะขอยกเลิกล่าม ทั้ง2คนให้ทำงานวันนี้เป็นวันสุดท้ายเหตุผลเนื่องจากขาดงานบ่อย (ผมขาดไป11 วัน โดยไม่ได้รับค่าจ้างในวันที่หยุด) แล้วให้ทางรีครุต หาล่ามคนใหม่มาทำงานแทนในวันที่ 5 มกราคม  สิ่งที่ผมอยากถามและขอความช่วยเหลือคือ
1 กรณีนี้ผมจะทำอะไรได้บ้างครับ ฟ้องศาลแรงงานได้ไหม ถ้าได้มีโอกาสชนะไหม
2 ถ้าฟ้องร้องเกิดขึ้น ผมจะฟ้องใครระหว่าง รีครุตหรือบริษัท เอ  ( ทุกครั้ง จะได้ค่าจ้างโอนมาจากบริษัทรีครุต)

ขอคำแนะนำด้วยครับ


ทนายพร

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 758
    • ดูรายละเอียด
Re: ถูกเลิกจ้างแบบนี้ทำอะไรได้บ้างครับ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มกราคม 04, 2016, 03:15:08 pm »
ตอบ

ต้องเข้าใจก่อนว่าบริษัท รีครูทเม้น (Recruitment Agency) ก็คือบริษัทที่รับจัดหาคนให้กับบริษัทที่ต้องการคนงาน โดยจะทำการคัดกรองใบสมัคร สัมภาษณ์เบื้องต้นให้ เมื่อทางบริษัทตกลงรับพนักงานเข้าทำงาน ก็จะเป็นพนักงานของทางบริษัทต้นสังกัดโดยตรงและจะมีความแตกต่างกับการรับงานแบบเหมาค่าแรงงาน (Outsource)

โดยหากเป็นการเหมาค่าแรงงานคนงานจะเป็นลูกจ้างของบริษัทรับเหมาหรือ Outsource แต่บริษัทแม่หรือบริษัทที่เราเข้าไปทำงานก็ยังต้องเป็นนายจ้างของเราตามลำดับชั้นตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541

เอาเป็นว่าไม่ต้องสาธยายยืดยาว ตอบตามคำถามเลย

คำถามที่ 1 ถามว่า “ผมจะทำอะไรได้บ้างครับ ฟ้องศาลแรงงานได้ไหม ถ้าได้มีโอกาสชนะไหม” เป็น 1 คำถามใหญ่ 3 คำถามย่อย ไม่เป็นปัญหา ถามมาก็ตอบไป

คืออย่างนี้ครับ ต้องดูที่นิติสัมพันธ์ในทางการจ้างว่า เราเป็นลูกจ้างของใคร และใครคือนายจ้างของเรา และเท่าที่เล่ามาก็มีติดใจคำว่า “ฟรีแลนซ์” เพราะถ้ารับงาน “ฟรีแลนซ์” ก็จะเป็นสัญญา “จ้างทำของ” แต่ถ้าไม่ใช่ “ฟรีแลนซ์” ก็จะเป็นจ้างแรงงาน ซึ่งจะต้องอยู่ภายใต้ พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541

อย่างไรก็ตามในกรณีของคุณต้องดูว่าการทำงานเข้าองค์ประกอบของสัญญาประเภทใด

บริษัท เอ มีอำนาจบังคับบัญชา หรือให้คุณให้โทษได้หรือไม่เพียงใด หากเป็นกรณีที่บริษัท เอ สามารถให้คุณให้โทษ หรือมีอำนาจบังคับบัญชาเหนือคุณ ก็เป็นสัญญาจ้างแรงงาน (สัญญาจ้างแรงงานไม่จำเป็นต้องทำสัญญาเป็นหนังสือ จะจ้างด้วยวาจา หรือโดยปริยายก็ถือว่ามีสัญญาจ้างกันโดยสมบูรณ์)

ดังนั้น หากรายละเอียดเป็นสัญญาจ้างแรงงาน คุณก็สามารถที่จะฟ้องศาลแรงงานได้ครับ ส่วนจะแพ้หรือชนะนี้ ก็ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่าย (ฝ่ายโจทก์ คือผู้ฟ้อง – ฝ่ายจำเลยคือผู้ถูกฟ้องหรือบริษัท) ที่จะนำเสนอต่อศาลให้วินิจฉัย เมื่อมีการสืบพยานหลักฐานต่างๆเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะอยู่ในดุลพินิจของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนจะพิจารณาว่าให้ใครแพ้ใครชนะ หรือชนะฝ่ายละครึ่ง หรือแพ้ทั้งสองฝ่าย หรือชนะทั้งสองฝ่าย ก็อยู่ที่รูปคดีและน้ำหนักของพยานหลักฐานครับ ซึ่งในกรณีของคุณต้องมีการสอบถามข้อมูลข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจึงจะวิเคราะห์ได้ครับ

คำถามข้อ 2 ถามว่า “ถ้าฟ้องร้องเกิดขึ้น ผมจะฟ้องใครระหว่าง รีครุตหรือบริษัท เอ” ...นั่นงัยล่ะ..ชักรู้สึก งงๆ แล้วใช่ใหมล่ะว่า เราทำงานมาตั้งนาน ไม่รู้ว่าใครคือนายจ้าง (เอาละซิ ยุ่งแระ) และผู้ถามได้เพิ่มเติมคำอธิบายไว้ในวงเล็บด้วยว่า “ทุกครั้ง จะได้ค่าจ้างโอนมาจากบริษัทรีครุต”

คืออย่างนี้ครับ กรณีที่จะได้รับเงินโอนมาจากใครไม่สำคัญ ต้องพิจารณาว่า ใครเป็นผู้จ่ายเงินค่าจ้างให้กับเรา

ซึ่งจากที่เล่ามาก็จะเห็นได้ว่า บริษัท เอ นั้น ได้จ่ายค่าจ้างผ่านบริษัทตัวแทนหรือ Recruitment Agency ซึ่งในสัญญาระหว่างบริษัทตัวแทนกับบริษัท เอ นั้น อาจจะมีข้อตกลงบางอย่างที่คุณไม่รู้ เช่น บริษัทเอ อาจตกลงจ้างคุณในอัตราห้าหมื่นบาท แต่บริษัทตัวแทน มาจ่ายให้คุณเพียง สี่หมื่นบาท อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งส่วนต่างก็จะเป็นของบริษัทตัวแทน

ดังนั้น แม้จะมีการจ่ายเงินผ่านบริษัทตังแทนในกรณีอย่างนี้บริษัทตัวแทนจะไม่มีสถานะบริษัทตัวแทนอีกต่อไป แต่จะกลับกลายมาเป็นบริษัท Outsource หรือบริษัทรับเหมาค่าแรง ที่ได้ส่วนต่างจากการทำงานของคุณ

ซึ่งกรณีอย่างนี้ ทั้งบริษัทเอ และบริษัทตัวแทนก็จะเป็นนายจ้างคุณทั้งสองบริษัทตามความใน พรบ.คุ้มครองแรงงานครับ และเวลาจะฟ้องก็ฟ้องทั้งสองครับ
 
ทนายพร