24/11/24 - 10:40 am


ผู้เขียน หัวข้อ: สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการไม่เหมือนกับพนักงานประจำ  (อ่าน 10250 ครั้ง)

สุภาพร#16

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 1
    • ดูรายละเอียด
หนูได้ถูกเรียกสัมภาษณ์งานจากบริษัท A เมื่อช่วงตุลาคม 2555และทางบริษัท A แจ้งให้ไปทำสัญญากับบริษัทจัดหางาน อเด็คโก้ วันที่ 9 ตุลาคม 2555 โดยสัญญาจ้างงานระบุุเริ่มทำงาน 16 ธันวาคม 2555 ถึง 15 ธันวาคม 2556 ในตำแหน่ง sales support จนวันนึง ผู้จัดการแผนกของบริษัท A ได้แจ้งว่าจะทำการต่อสัญญาเพิ่มจาก 1 ปี เป็น 3 ปี โดยทางบริษัทจัดหางาน อเด็คโก้ ได้ส่งเอกสารสัญญามาให้เซ็น ในสัญญาจ้างงานระบุุวันที่ 1 ตุลาคม 2556 - 31 ธันวาคม 2559
มีการขึ้นเงินเดือนทุกเดือนเมษายน ของทุกปีและโบนัสจะจ่ายให้เดือนเมษายนของทุกปี (โบนัสได้ 1เดือน แต่พนักงานประจำแล้วแต่ผลการประเมินจากหัวหน้างาน)
อยากทราบว่าสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการต่างๆควรเหมือนกับพนักงานประจำหรือไม่
เนื่องจากบริษัทจัดหางาน อเด็คโก้ เป็นผู้จ่ายเงินเดือน โบนัส โอที
1.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) เราสามารถมีได้มั้ย และต้องทำกับบริษัท A หรือบริษัทจัดหางาน อเด็คโก้
2.โบนัส เราสามารถให้ทางบริษัท A หรือบริษัทจัดหางาน อเดโก้ เป็นผู้เพิ่มเพื่อให้เหมือนพนักงานประจำของบริษัท A
3.การรักษาพยาบาลของพนักงานประจำบริษัท A ทางบริษัท Aทำกรุงเทพประกันชีวิตให้กับพนักงานประจำ
- ค่าห้องและอาหาร  2,800 บาท (31วัน)
- ค่าใช้จ่ายทั่วไป  35,000 บาท
- ค่าดูแลโดยแพทย์ 1,100 บาท (31วัน)
- ค่าปรึกษาแพทย์พิเศษ 4,000 บาท
- ค่าอุบัติเหตุฉุกเฉิน 5,000 บาท
- detal  จำไม่ได้
- ผู้ป่วยนอก (ต่อปี) 20,000 บาท
4.บริษัทจัดหางาน อเด็คโก้ ทำประกันบูภาให้กับทางหนู
- Room&Bord  800 /day
- Hos. Service 12,000
- Surgery 15,000 (Per Schedule)
- Doctor's Visit 300/day
- ER accident 3,500
- OPD 700/Visit/Day (Max. 30 Visits)
มันต่างกันเยอะเลยเราสามารถทำแบบเดียวกับพนักงานประจำได้หรือไม่
5.ในสัญญาที่ทางบริษัทจัดหางาน อเดโก้ ทำกับเราได้ระบุว่า
อเด็คโก้ ตกลงว่าจ้างและพนักงานตกลงรับจ่างทำงานให้กับทางบริษัทจัดหางานอเด็คโก้ โดยได้รับมอบหมายให้เข้าปฎิบัติงานที่ บริษัท A ในตำแหน่ง sales support โดยระยะเวลาการจ้างว่าเร่ิมตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2556 - 31 ธันวาคม 2559 โดยเป็นที่เข้าใจทั้งสองฝ่ายว่าในกรณีที่ บริษัท A บอกเลิกสัญญากับ อเด็คโก้ ก็ถือว่าสัญญาระหว่าง อเด็คโก้กับพนักงานสิ้นสุดลงเช่นกัน และจะไม่เรียกร้องเงินใด ๆ จากผู้ว่าจ้างทั้งสิ้น  อยากทราบว่าเราไม่สามารถเรียกร้องค่าชดเชยใดๆได้เลยหรอคะ ถ้าเรียกได้เราเรียกร้องได้จากบริษัทใด
ุ6.การต่อสัญญาไปเรื่อย ๆ  โดยที่บริษัท A ยังไม่บรรจุุเป็นพนักงานประจำ อยากทราบว่ามีกฎหมายหรือข้อบังคับใด ที่สามารถระบุว่าการต่อสัญญาสามารถทำได้กี่ครั้ง หรือว่าสามารถต่อได้เรื่อยๆ โดยไม่ผิดกฎหมาย ขอบคุณคะ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 31, 2016, 06:32:19 pm โดย สุภาพร#16 »

ทนายพร

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 758
    • ดูรายละเอียด
ถามมาอย่างยาว...ไม่รู้ล่ะ...ทนายก็จะตอบแบบยาวๆเหมือนกัน จะได้เท่าเทียมตามหลักสากลครับ..ขอตอบตามคำถามเลยนะครับ

1. ในสัญญาจ้างงานได้ระบุว่า “อเด็ค โก้ ตกลงว่าจ้างและพนักงานตกลงรับจ้างทำงานให้กับทางบริษัทจัดหางานอเด็คโก้ โดยได้รับมอบหมายให้เข้าปฏิบัติงานที่ บริษัท A ในตำแหน่ง sales support โดยระยะเวลาการจ้างว่าเริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2556 - 31 ธันวาคม 2559” อยากทราบว่าสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการต่างๆควรเหมือนกับพนักงานประจำหรือไม่ เนื่องจากบริษัทจัดหางาน อเด็คโก้ เป็นผู้จ่ายเงินเดือน โบนัส โอที?

ตอบดังนี้ครับ..สัญญาจ้างงาน เป็นข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างแต่ละคน เกี่ยวกับเรื่องเงื่อนไขการจ้างการทำงานที่กำหนด ทั้งสถานที่ทำงาน วันเวลาทำงาน งานที่ได้รับมอบหมายให้ทำ ค่าจ้าง สวัสดิการ การเลิกจ้าง ประโยชน์อื่นของนายจ้างหรือลูกจ้างเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงาน ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 5 ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

เมื่อลูกจ้างเซ็นสัญญาทำงานกับบริษัท อเด็คโก้ ดังนั้นบริษัทจัดหางานถึงถือเป็น “นายจ้าง” โดยตรง  ค่าจ้าง สวัสดิการต่างๆจึงต้องขึ้นอยู่กับบริษัทจัดหางาน อเด็คโก้ ไม่ใช่บริษัท A ที่หนูถูกส่งไปทำงานด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 มาตรา 11/1 ได้กำหนดให้บริษัท A เป็นนายจ้างของลูกจ้างที่เข้าไปทำงานด้วย ดังนั้น กรณีอย่างนี้ ในทางกฎหมายคุณก็มีนายจ้าง 2 คน ตราบใดที่คุณยังทำงานอยู่ในบริษัท A และคุณเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของบริษัท A คุณก็คือลูกจ้างของบริษัท A ด้วย
และนอกเหนือจากนั้นแล้ว บริษัท A   จะต้องปฎิบัติตามมาตรา 11/1 ก็คือต้องให้ค่าจ้างและจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ที่เป็นธรรมหรือใกล้เคียงกับลูกจ้างโดยตรงอีกด้วย

ข้อ 2.ถามว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) เราสามารถมีได้มั้ย และต้องทำกับบริษัท A หรือบริษัทจัดหางาน อเด็คโก้?

ทนายขอตอบว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ กองทุนที่ลูกจ้างและนายจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจ(ต้องสมัครใจทั้งสองฝ่าย) มาจากเงินที่ลูกจ้างจ่ายเงินสะสมและนายจ้างจ่ายเงินสมทบ เพื่อเป็นหลักประกันแก่ลูกจ้างเมื่อยามลูกจ้างเกษียณหรือออกจากงาน ดังนั้นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึงเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่งที่นายจ้างจัดให้แก่ลูกจ้าง ดังนั้นถ้าหนูต้องการมีสวัสดิการดังกล่าวนี้ ต้องเรียกร้องเอาจากบริษัทจัดหางาน อเด็คโก้ ได้เลยครับ หากบริษัทตอบว่าโอเคร....ก็ดีใจด้วยครับ แต่เกรงว่าจะได้รับคำตอบโคเครล่ะครับงานนี้ เพราะคือการเพิ่มรายจ่ายของนายจ้างครับ

ข้อ3.โบนัส เราสามารถให้ทางบริษัท A หรือบริษัทจัดหางาน อเดโก้ เป็นผู้เพิ่มเพื่อให้เหมือนพนักงานประจำของบริษัท A, การรักษาพยาบาลของพนักงานประจำบริษัท A ทางบริษัท A ทำกรุงเทพประกันชีวิตให้กับพนักงานประจำ บริษัทจัดหางาน อเด็คโก้ ทำประกันบูภาให้กับทางหนู มันต่างกันเยอะเลยเราสามารถทำแบบเดียวกับพนักงานประจำได้หรือไม่?

อืมมมม....ข้อนี้ค่อนข้างซับซ้อนและสามารถทำได้ใน ๒ กรณี แต่มีเงื่อนไขดังนี้

ทางแรก พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ได้กำหนดไว้ว่า ถ้าลูกจ้างเห็นว่าสภาพการจ้าง เช่น ค่าจ้าง สวัสดิการ วันเวลาทำงานไม่เหมาะสม บัญญัติให้ลูกจ้างมีสิทธิยื่นข้อเรียกร้องต่ออีกฝ่ายหนึ่งได้ เช่น เพื่อขอให้ปรับค่าจ้าง เงินเดือน จัดรถรับส่ง ชุดทำงาน วันเวลาทำงาน สวัสดิการค่ารักษาพยาบาล โบนัส เงินขึ้นประจำปี เป็นต้น และให้ทั้งสองฝ่ายตั้งผู้แทนมาเจรจาต่อรองกัน เมื่อตกลงกันได้ สภาพการจ้างก็เป็นไปตามข้อตกลงนั้น ซึ่งเรียกว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง

โดยก่อนที่จะยื่นข้อเรียกร้องนี้ ต้องมีลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง ลงลายมือชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของลูกจ้างทั้งหมดของบริษัทจัดหางานอเด็คโก้ เช่น ทั้งบริษัทมีลูกจ้างทั้งหมด 100 คน ต้องมีพนักงานมาเข้าร่วมยื่นข้อเรียกร้องกับหนูจำนวน 15 คน เป็นต้น

และต้องทำข้อเรียกร้องเป็นหนังสือ และระบุชื่อผู้แทนในการเจรจาจำนวนไม่เกิน 7 คน และให้ยื่นต่อนายจ้างอย่างเป็นทางการ

ในเรื่องนี้จะมีรายละเอียดมากกว่านี้ ซึ่งเรียกว่า “การเจรจาต่อรอง” (เป็นภาษากฎหมายแรงงาน) ถ้าหนูสนใจและเพื่อนๆสนใจ ค่อยมาคุยกันในรายละเอียดที่เกี่ยวข้องว่าต้องดำเนินการอะไร อย่างไรบ้าง
 
และทางที่สอง ถ้าตามเงื่อนไขข้างต้นมันยุ่งยาก ก็ไปแจ้งพนักงานตรวจแรงงาน ให้บริษัท A ปฎิบัติตาม มาตรา 11/1 ได้ครับ

ข้อ 4.ในสัญญาระบุว่า “ในกรณีที่ บริษัท A บอกเลิกสัญญากับ อเด็คโก้ ก็ถือว่าสัญญาระหว่าง อเด็คโก้กับพนักงานสิ้นสุดลงเช่นกัน และจะไม่เรียกร้องเงินใด ๆ จากผู้ว่าจ้างทั้งสิ้น” อยากทราบว่าเราไม่สามารถเรียกร้องค่าชดเชยใดๆได้เลยหรอคะ ถ้าเรียกได้เราเรียกร้องได้จากบริษัทใด?

อย่างนี้ครับ..เนื่องจากสัญญานี้ ได้กำหนดระยะเวลาการจ้างว่า “เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2556 - 31 ธันวาคม 2559” หรือระยะเวลา 3 ปี ดังนั้นนายจ้าง คือ อเด็คโก้ ต้องจ่ายค่าชดเชยตามระยะเวลาในการทำงาน คือ 90 วัน ให้ลูกจ้าง ถ้าไม่จ่ายถือว่ามีความผิดตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และสามารถเรียกร้องทางกฎหมายได้ ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 118 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541

ทนายได้รับคำถามนี้แบบนี้บ่อยว่า “เมื่อสิ้นสุดสัญญาจ้าง ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้าง หรือไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินชดเชยใดๆจากนายจ้าง” จริงหรือไม่

ขอตอบว่าถึงนายจ้างจะเขียนไว้แบบนี้ และลูกจ้างก็เซ็นรับทราบไปแล้ว แต่ก็หาได้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายไม่ เนื่องจากสัญญาฉบับดังกล่าวมีข้อความอันขัดต่อกฎหมาย จึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 14/1 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ไม่มีผลบังคับใช้ ลูกจ้างยังคงมีสิทธิเต็มที่จะเรียกร้องเงินชดเชยได้ตามกฎหมาย หากมีสิทธิได้รับครับ
ดังนั้น ยืนยันว่าสามารถเรียกร้องเงินค่าชดเชยตามมาตรา 118 ได้ครับ


5.การต่อสัญญาไปเรื่อย ๆ  โดยที่บริษัท A ยังไม่บรรจุเป็นพนักงานประจำ อยากทราบว่ามีกฎหมายหรือข้อบังคับใด ที่สามารถระบุว่าการต่อสัญญาสามารถทำได้กี่ครั้ง หรือว่าสามารถต่อได้เรื่อยๆ โดยไม่ผิดกฎหมาย ?

ข้อนี้ขอตอบว่า นายจ้างสามารถต่อสัญญาได้เรื่อยๆ ตามความพอใจทั้งของนายจ้างและลูกจ้างที่ได้ตกลงกัน เนื่องจากไม่มีกฎหมายข้อใดบัญญัติว่าบริษัทต้องบรรจุลูกจ้างเป็นพนักงานประจำภายในเวลาเท่านั้นเท่านี้ หรือลูกจ้างทำงานมาครบกี่ปี บริษัทต้องบรรจุเป็นพนักงานประจำ  ดังนั้น จึงอยู่ที่ความพอใจของทั้งสองฝ่ายว่ายังประสงค์จะเป็นนายจ้าง-ลูกจ้างกันต่อไปหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการต่อสัญญากันหลายๆรอบโดยมีลักษณะการทำงานที่เหมือนเดิมและต่อเนื่องกัน ในทางกฎหมายให้นับอายุงานต่อเนื่องไปนับแตวันเข้าทำงานวันแรกครับ

ทนายพร

Piyaporn

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 2
    • ดูรายละเอียด
สวัสดิการ เท่าไหร่ค่ะ