23/11/24 - 04:29 am


ผู้เขียน หัวข้อ: นายจ้างบังคับให้ทำบัตรเครดิตเพื่อใช้ชำระค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ  (อ่าน 4959 ครั้ง)

joyce20th

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 2
    • ดูรายละเอียด
เดิม ลูกจ้างสามารถใช้บัตรเครดิตส่วนตัวเพื่อใช้ในการชำระค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงานในต่างประเทศ หลังจากกลับจากปฏิบัติงานสามารถนำใบเสร็จมาเบิกค่าใช้จ่ายโดยให้หัวหน้างานเป็นผู้อนุมัติและฝ่ายการเงินจะทำเรื่องเบิกเงินให้ตามรอบการจ่ายเงินของบริษัทเดือนละ 2 ครั้ง หากหนี้บัตรเครดิตครบกำหนดชำระก่อนกำหนดการทำจ่ายของบริษัท ทางพนักงานต้องทำการสำรองจ่ายไปก่อน ต่อมาทางบริษัทมีนโยบายให้พนักงานส่งสำเนาบัตรประชาชนให้ฝ่ายการเงิน เพื่อทำบัตรเครดิตในนามส่วนตัวเพียงแค่บัตรเครดิตดังกล่าวเป็นของธนาคารที่ทางบริษัทใช้ทำธุรกรรมทางการเงินอยู่ ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นยังเป็นในนามของพนักงานซึ่งพนักงานต้องทำการสำรองจ่ายไปก่อนและนำใบเสร็จมาทำการเบิกกับทางบริษัทเหมือนการใช้บัตรเครดิตส่วนตัว ทางบริษัทอ้างสาเหตุการบังคับใช้นโยบายดังกล่าวคือพนักงานจะได้ระยะเวลาเครดิตยาวนานถึง 45 วันประกอบกับทางบริษัทจะได้รวมยอดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากพนักงานทุกๆท่านในการเจรจาต่อรองกับที่พักต่างๆ หากพนักงานไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าวจะไม่อนุมัติให้เบิกค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการใช้บัตรเครดิตส่วนตัวหรือการใช้เงินสดสำรองจ่าย ดิฉันมองว่าการบังคับดังกล่าวไม่เป็นธรรมเนื่องจากหนี้ที่เกิดขึ้นจากบัตรเครดิตที่ให้ทำยังอยู่ภายใต้ชื่อพนักงาน พนักงานควรมีสิทธิเลือกที่จะทำบัตรหรือไม่ก็ได้ อีกทั้งการสมัครต้องใช้สำเนาบัตรประชาชนแนบในการสมัคร ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลเช่นกันที่่จะให้หรือไม่ให้ก็ได้ ขอเรียนสอบถามว่าในกรณีนี้หากพนักงานปฏิเสธการสมัครบัตรเครดิต ถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาหรือไม่ ทางบริษัทสามารถออกใบเตือนในการฝ่าฝืนคำสั่งเพื่อใช้ในการเลิกจ้างได้หรือไม่ค่ะ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 03, 2016, 11:05:35 am โดย joyce20th »

ทนายพร

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 758
    • ดูรายละเอียด
จะเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งผู้บังคับบัญชาอันชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากคำสั่งดังกล่าวเกี่ยวข้อง , เกี่ยวเนื่องกับการทำงานหรือไม่ หากเกี่ยวกับการทำงาน คำสั่งนั้นก็บังคับได้และถือเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่หากไม่เกี่ยวข้องกันเป็นเรื่องส่วนบุคคล ถึงแม้จะเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชาก็ไม่ทำให้คำสั่งนั้นชอบด้วยกฎหมาย เมื่อเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเสียแล้ว ลูกจ้างจึงไม่มีความผิดที่ไม่ปฎิบัติตามคำสั่งนั้น

และจากเรื่องราวที่ได้เล่ามาว่า เดิมใช้บัตรเครดิตส่วนตัว นำไปรูดใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการปฎิบัติงานและในทางส่วนตัว ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีปัญหาใด สามารถเบิกจ่ายได้ ต่อมา บริษัทเห็นว่า เพื่อให้การบริหารทางการเงินของบริษัทมีความสะดวกและพนักงานจะได้ระยะเวลาเครดิตยาวนานขึ้น จึงให้พนักงานไปทำบัตรเครดิตเพิ่มอีกหนึ่งใบ โดยทำบัตรเครดิตกับธนาคารที่บริษัทกำหนด (อืมมม...มีค่าคอมมิชชั่นหาสมาชิกทำบัตรด้วยนะเนี๊ยะ) หากพนักงานปฎเสธก็จะไม่อนุมัติให้เบิกค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการใช้บัตรเครดิตส่วนตัว แล้วถามว่า ถ้าไม่ทำจะถูกใบเตือนอันนำไปสู่การเลิกจ้างมั๊ย?

อย่างนี้ครับ ประเด็นแรกต้องพิจารณาจากข้อกฎหมายตามข้อความด้านบนก่อน ว่าคำสั่งดังกล่าวเกี่ยวข้อง , เกี่ยวเนื่องกับการทำงานหรือไม่ ซึ่งจากข้อเท็จจริงก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นคำสั่งที่เกี่ยวเนื่องกับการปฎิบัติงานเหมือนกัน แต่อย่างไรก็ตาม หากคำสั่งดังกล่าวที่ให้พนักงานไปทำบัตรเครดิตนั้น พนักงานต้องเป็นผู้จ่ายค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายต่างๆในการทำบัตร อย่างนี้ก็มีเหตุที่จะปฎิเสธได้ครับ

และที่สำคัญ การที่พนักงานไปปฎิบัติงานให้กับบริษัทและเกิดค่าใช้จ่ายขึ้นแล้ว บริษัทจะปฎิเสธไม่จ่ายเงินคืนให้กับพนักงานไม่ได้

ดังนั้น หากมีค่าใช้จ่ายในการสมัครบัตรเครดิตพนักงานสามารถปฏิเสธการสมัครบัตรเครดิตนั้นได้ แต่ถ้าบริษัทรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด และกำหนดให้พนักงานใช้บัตรเครดิตที่กำหนดธนาคารไว้เพื่อใช้จ่ายเฉพาะเกี่ยวกับการปฎิบัติงาน ก็ถือว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย หากไม่ปฎิบัติตามอาจเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ทางบริษัทก็สามารถออกใบเตือนได้ด้วยเช่นกันครับ
 
ส่วนข้อแนะนำคือ หากเห็นว่าเป็นภาระกับเราและไม่เป็นธรรมก็ไม่ต้องทำ และเมื่อบริษัทมีหนังสือเตือนมาก็ค่อยไปทำตามคำสั่งนั้น แล้วใช้สิทธิฟ้องต่อศาลเพื่อขอเพิกถอนหนังสือเตือนฉบับนั้นเสีย แต่คำถามต่อไปคือ เมื่อมีข้อขัดแย้งแล้วตัวพนักงานจะทำงานได้อย่างสบายใจเหมือนเดิมหรือเปล่า ประเด็นนี้ต้องชั่งตวงวัดให้ดีนะครับ 

ทนายพร

joyce20th

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 2
    • ดูรายละเอียด
ขอบคุณสำหรับข้อมูลค่ะ ค่าธรรมเนียมทางบริษัทรับผิดชอบ คงต้องพิจารณาว่าจะยอมหักหรือจะยอมงอค่ะ