ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

ทำร้ายร่างกายผู้อื่นในบริเวณบริษัท เลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า

มีคำพิพากษาฎีกาที่ 13806/2555 ระหว่างนายสันติพงศ์ แจ่มทวีกุล โจทก์  กับบริษัท แฟร์ดีล เซอร์วิส จำกัด จำเลย กรณีที่โจทก์ทำร้ายร่างกายผู้อื่นในบริเวณบริษัท ทำให้บริษัทเลิกจ้างโดยไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า แต่ยังต้องจ่ายค่าชดเชยอยู่

 

สาระสำคัญของคำพิพากษา

 

(1) โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนมีนาคม 2547 จำเลยจ้างโจทก์เข้าเป็นลูกจ้างตำแหน่งพนักงานสำรวจอุบัติเหตุ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 6,500 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างให้ทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 20 มกราคม 2549 จำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย

 

 

(2) จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2549 ขณะที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานของจำเลย ได้ก่อเหตุทำร้ายร่างกายนายอรรถพร ในบริเวณสถานที่ทำงานของจำเลย ซึ่งการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงและการดำเนินธุรกิจของจำเลย เป็นการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีร้ายแรง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากับค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้อง

 

 

(3) ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์จำนวน 8,449.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์จำนวน 19,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 มกราคม 2549 จนกว่าจะชำระเสร็จ 

 

(4) จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

 

(5) ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 05.30 นาฬิกา โจทก์กับนายอรรถพรพนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุเพื่อนร่วมงานของโจทก์ได้โต้เถียงกันอยู่ประมาณ 5 นาที ในสถานที่ทำงานของจำเลย แล้วโจทก์ใช้กำลังชกต่อยนายอรรถพร 2 ครั้ง ครั้งแรกเฉียดแก้ม และครั้งที่สองถูกที่ท้ายทอย ไม่ปรากฏบาดแผล

 

ต่อมาโจทก์ถูกพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางรัก ปรับ 1,000 บาท ในข้อหาใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ซึ่งแม้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยหมวดที่ 7 ข้อ 3.9 ระบุว่าการทำร้ายหรือพยายามทำร้ายร่างกายผู้อื่นในบริเวณบริษัทฯ เป็นการกระทำผิดวินัยกรณีร้ายแรงก็ตาม แต่การจะเป็นความผิดวินัยกรณีร้ายแรงหรือไม่ต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นประกอบด้วย หาใช่ถือตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยแต่อย่างเดียวไม่

 

 

การที่โจทก์ใช้กำลังทำร้ายเพื่อนร่วมงานนั้น   เหตุเกิดขึ้นในห้องพนักงานสำรวจอุบัติเหตุในเวลาประมาณ 05.30 นาฬิกา เป็นเวลาก่อนการทำงานตามปกติของพนักงานทั่วไป และเมื่อมีผู้เข้าห้ามปรามก็เลิกรากันไป จึงไม่เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของจำเลย การกระทำของโจทก์จึงเป็นเพียงการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีที่ไม่ร้ายแรง เมื่อจำเลยไม่เคยตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือมาก่อน จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชยหาได้ไม่ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้ จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์จึงชอบแล้ว

 

แต่การที่โจทก์ใช้กำลังทำร้ายเพื่อนร่วมงาอันเป็นการฝ่าฝาข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เป็นการทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583

 

 

การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์จึงไม่ถูกต้อง อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน

 

 

(6) พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง
 



09/Sep/2014

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา