ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

ที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ถือว่าเป็นป่าตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ.2484

ที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ก. ถือว่ายังคงเป็นป่าตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484  การที่จำเลยตัดฟันโค่นไม้ประดู่อันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ในที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ก. โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงมีความผิดฐานทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ

 

 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8371/2551

พนักงานอัยการจังหวัดอุตรดิตถ์     โจทก์

 

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2545 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยทั้งสองกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยทั้งสองร่วมกันทำไม้โดยการตัด ฟัน โค่นล้มไม้ประดู่อันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ที่มีและขึ้นอยู่ในป่าท้ายหมู่บ้านป่าสัก ตำบลน้ำหมัน อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ อันเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าด้วยเกียงพาและป่าน้ำไคร้ แล้วตัดออกเป็นท่อน ๆ เพื่อแปรรูปและชักลากออกจากป่าต่อไป อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่และโดยไม่ได้รับการยกเว้นใด ๆ ตามกฎหมาย

 

จำเลยทั้งสองร่วมกันแปรรูปไม้ประดู่ท่อนดังกล่าว โดยการเลื่อนออกเป็นแผ่น ได้ไม้ประดู่แปรรูปจำนวน 11 แผ่น ปริมาตร 0.18 ลูกบาศก์เมตร ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

 

 

และจำเลยทั้งสองร่วมกันมีไม้ประดู่อันยังมิได้แปรรูปจำนวน 10 ท่อน ปริมาตร 0.32 ลูกบาศก์เมตร ไว้ในครอบครองโดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขาย เหตุเกิดที่ตำบลน้ำหมัน อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 14, 31, 35 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 7, 11, 47, 48, 69, 73, 74, 74 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และริบของกลาง

 

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

 

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคหนึ่ง จำคุก 6 เดือน และปรับ 6,000 บาท คำให้การของจำเลยที่ 1 ในชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 เดือน และปรับ 4,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

 

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
 

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ด้วย คืนไม้ประดู่ที่ไม่ได้แปรรูป 10 ท่อน และไม้ประดู่แปรรูป 11 ท่อน กับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บ-0321 อุตรดิตถ์ ของกลาง แก่เจ้าของ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

 

โจทก์ฎีกา
 

 

ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ตัด ฟัน โค่นล้มไม้ประดู่อันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ในที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ก. ของนายสะอาดซึ่งได้รับอนุญาตจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวและอยู่ในเขตการปฏิรูปที่ดินเพื่อ เกษตรกรรม ตามสำเนา ส.ป.ก. 4-01 ก. เอกสารหมาย ล.1

 

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 หรือไม่

 

โจทก์ฎีกาว่า เอกสาร ส.ป.ก. 4-01 มิใช่หลักฐานแสดงถึงการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามกฎหมายอื่นตามความหมายของมาตรา 3 (2) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ดินที่นายสะอาดครอบครองอยู่จึงยังเป็นป่า การตัดฟันและโค่นไม้ประดู่ในที่ดิน ส.ป.ก. จึงถือว่าเป็นการทำไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ ฯ ปัญหาดังกล่าว

 

พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 36 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า บรรดาที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ใด ๆ ที่ ส.ป.ก. ได้มาตามพระราชบัญญัตินี้ หรือได้มาโดยประการอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรม ไม่ให้ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุ และให้ ส.ป.ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

 

เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 36 ทวิ วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้ ส.ป.ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ใด ๆ ที่ได้มาก็เพื่อนำไปใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมิได้มุ่งหมายให้ ส.ป.ก. มีกรรมสิทธิ์เช่นเดียวกับเจ้าของทรัพย์สินทั่วไปที่มีสิทธิ์ใช้สอย จำหน่าย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 เมื่อที่ดินพิพาทเดิมเป็นป่าสงวนแห่งชาติเป็นที่ดินของรัฐ แม้ถูกเพิกถอนสภาพจากการเป็นป่าสงวนแห่งชาติอันเนื่องจากการดำเนินการตามพระ ราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 26 (4) ก็ตาม ก็ยังคงเป็นที่ดินของรัฐอยู่เพียงแต่เปลี่ยนประเภทของที่ดิน วัตถุประสงค์และการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และเปลี่ยนหน่วยงานของรัฐผู้ดูแลและใช้ประโยชน์ในที่ดินจากกรมป่าไม้เป็น ส.ป.ก. โดยให้ ส.ป.ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามมาตรา 36 ทวิ

 

ที่ดินพิพาทยังคงเป็นที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 2 ไม่อาจถือได้ว่า ส.ป.ก. เป็นบุคคลผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามกฎหมายอื่นตามความหมายของ ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 3 (2) ที่ดินพิพาทยังเป็นที่ดินที่มิได้มีบุคคลใดได้มาตามกฎหมายที่ดิน การที่ ส.ป.ก. ออก เอกสาร ส.ป.ก. 4-01 จัดสรรในที่ดินของรัฐให้แก่เกษตรกรจึงเป็นเพียงหนังสืออนุญาตให้เข้าทำ ประโยชน์ในที่ดินที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเท่านั้น ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงสถานนะทางกฎหมายของที่ดินนั้น

 

ดังนั้นที่นายสะอาดได้ที่ดินที่มีเอกสาร ส.ป.ก. 4-01 ก. ตามเอกสารหมาย ล.1 ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามกฎหมายอื่นตามที่ บัญญัติในมาตรา 3 (2) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ดินดังกล่าวจึงยังมิได้มีบุคคลได้มาตามประมวลกฎหมายที่ดิน และยังคงเป็นป่าตามมาตรา 4 (1) แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ ฯ การที่จำเลยที่ 1 ตัดฟันโค่นไม้ประดู่อันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ในที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ก. ของนายสะอาดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงเป็นความผิดฐานทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าไม้ ฯ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามาเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”

 

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11, 73 วรรคหนึ่ง ให้บังคับโทษจำเลยที่ 1 และริบของกลางไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6
 
 
(สุทัศน์ ศิริมหาพฤกษ์ - สบโชค สุขารมณ์ - ชัยวุฒิ โลหชิตรานนท์ )



14/Oct/2014

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา