ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

นายจ้างขออำนาจศาลแรงงานเลิกจ้างกรรมการลูกจ้าง

อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่  1902 - 1904/2556 ระหว่างบริษัทอาปีโกไฮเทค จำกัด (มหาชน) – ผู้ร้อง กับนายอำนาจ มณีแสง กับพวก – ผู้คัดค้าน โดยผู้ร้องขอให้ศาลเลิกจ้างผู้คัดค้านในฐานะกรรมการลูกจ้าง เนื่องจากพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 บัญญัติไว้ว่า ห้ามนายจ้างเลิกจ้างกรรมการลูกจ้าง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน

 

คดีนี้นายจ้างได้มีคำสั่งพักงานลูกจ้างและยื่นคำร้องต่อศาลแรงงาน เพื่อขอให้ศาลแรงงานเลิกจ้างกรรมการลูกจ้าง

 

ศาลแรงงานวินิจฉัยว่าลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดไม่มีเหตุอนุญาตให้นายจ้างเลิกจ้าง

 

และศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการละทิ้งหน้าที่ที่จะเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงนั้น ลูกจ้างต้องมีหน้าที่ปฏิบัติที่สำคัญให้นายจ้างแล้วไม่ปฏิบัติเป็นเวลานาน หากออกไปจากการปฏิบัติหน้าที่แล้วจะเกิดความเสียหายต่อการผลิตของนายจ้างอย่างไร

 

การที่กรรมการลูกจ้างละทิ้งหน้าที่ออกไปบอกพนักงานรับเหมาค่าแรงให้ไปรวมตัวกันที่โรงอาหารช่วงบ่าย ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างเป็นกรณีร้ายแรง

 

รายละเอียดคำพิพากษา

 

การพักงานไม่เกิน 7 วัน โดยไม่จ่ายค่าจ้าง เป็นโทษทางวินัยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้าง การที่ผู้ร้องมีคำสั่งพักงานผู้คัดค้านทั้งสองซึ่งเป็นลูกจ้างและเป็นกรรมการลูกจ้างโดยจ่ายค่าจ้างให้ไม่เป็นการลงโทษ แต่เป็นการสั่งให้ผู้คัดค้านทั้งสองหยุดทำงานชั่วคราวเพื่อดำเนินการยื่นคำร้องขออนุญาตลงโทษผู้คัดค้านทั้งสองต่อศาลแรงงานภาค 1 การกระทำของผู้ร้องไม่เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52

 

การละทิ้งหน้าที่ที่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องกรณีร้ายแรง ต้องเป็นกรณีลูกจ้างมีหน้าที่ปฏิบัติที่สำคัญให้นายจ้างแล้วไม่ปฏิบัติเป็นเวลานาน เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านที่ 1 มีหน้าที่สำคัญอย่างไร หากออกไปจากการปฏิบัติหน้าที่แล้วจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องอย่างไร

 

การที่ผู้คัดค้านที่ 1 ออกไปบอกพนักงานของบริษัทรับเหมาค่าแรงให้ไปรวมตัวกันที่โรงอาหารซึ่งเป็นเวลาช่วงบ่ายใกล้เลิกงานแล้ว ถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องเป็นกรณีร้ายแรง

 

การที่ผู้คัดค้านที่ 1 ละทิ้งหน้าที่แต่ยังไม่ถึงขนาดหรือมีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้เลิกจ้างผู้คัดค้านที่ 1 ตามคำร้องของผู้ร้อง

 

เมื่อศาลแรงงานภาค 1 เห็นว่าผู้ร้องควรลงโทษด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือเสียก่อน ศาลแรงงานภาค 1 ก็สามารถอนุญาตให้ลงโทษผู้คัดค้านที่ 1 ด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือซึ่งเป็นโทษที่อยู่ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้อง และเป็นโทษสถานเบากว่าการเลิกจ้างได้

 

ถือเป็นการใช้ดุลพินิจตามที่เห็นสมควรและเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี ไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าคำขอ

 

คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลแรงงานภาค 1 สั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกผู้ร้องในสำนวนที่สามซึ่งเป็นผู้คัดค้านในสำนวนแรกและสำนวนที่สองว่าผู้ร้อง และเรียกผู้ร้องในสำนวนแรกและสำนวนที่สองซึ่งเป็นผู้คัดค้านในสำนวนที่สามว่าผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ

 

ผู้ร้องยื่นคำร้องในสำนวนที่สามและยื่นคำคัดค้านในสำนวนแรกและสำนวนที่สองขอให้ศาลอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสอง และยกคำร้องของผู้คัดค้านทั้งสอง

 

ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำร้องในสำนวนแรกและสำนวนที่สองและยื่นคำคัดค้านในสำนวนที่สาม ขอให้เพิกถอนคำสั่งพักงานของผู้ร้อง ให้รับผู้คัดค้านทั้งสองเข้าทำงานในตำแหน่งเดิมและยกคำร้องของผู้ร้อง

 

ศาลแรงงานภาค 1 พิพากษายกคำร้องของผู้ร้องและให้เพิกถอนคำสั่งพักงานของผู้ร้อง

 

ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

 

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่า

 

ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นลูกจ้างและเป็นกรรมการลูกจ้างของผู้ร้อง ผู้ร้องมีคำสั่งพักงานผู้คัดค้านทั้งสองโดยจ่ายค่าจ้างและสวัสดิการให้ตามหนังสือการพักงาน ผู้คัดค้านทั้งสองไม่ได้เล่นการพนันทายผลฟุตบอล ในวันที่พนักงานของบริษัทผู้รับเหมาค่าแรงร่วมกันผละงานนั้น ผู้คัดค้านที่ 1 ได้ละทิ้งงาน แต่ผู้คัดค้านทั้งสองไม่ได้ยุยงส่งเสริม สนับสนุนให้พนักงานของบริษัทรับเหมาค่าแรงที่ทำงานในบริษัทผู้ร้องร่วมกันผละงานและละทิ้งหน้าที่เข้าร่วมในการผละงาน แล้ววินิจฉัยว่า

 

ผู้คัดค้านที่ 2 ไม่ได้กระทำผิดตามคำร้องจึงไม่มีเหตุอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้าง สำหรับการละทิ้งงานของผู้คัดค้านที่ 1 กรณียังถือไม่ได้ว่ากระทำผิดระเบียบข้อบังคับการทำงานที่ร้ายแรง และผู้ร้องยังไม่ได้ว่ากล่าวตักเตือนเป็นหนังสือ จึงไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านที่ 1

 

มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องในประเด็นแรกว่า ผู้คัดค้านทั้งสองมีอำนาจร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ร้องที่สั่งพักงานผู้คัดค้านทั้งสองได้หรือไม่

 

ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า คำสั่งพักงานผู้คัดค้านทั้งสองโดยจ่ายค่าจ้างและสวัสดิการให้ไม่ใช่การลงโทษตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 และไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของผู้คัดค้านทั้งสอง หรือผู้คัดค้านทั้งสองต้องใช้สิทธิทางศาลนั้น

 

เห็นว่า แม้ผู้คัดค้านทั้งสองจะมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษพักงานของผู้ร้องก็ตาม แต่การที่ผู้ร้องมีคำสั่งพักงานผู้คัดค้านทั้งสองซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้าง ก่อนยื่นคำร้องขออนุญาตลงโทษผู้คัดค้านทั้งสองต่อศาลแรงงานภาค 1 โดยจ่ายค่าจ้าง การพักงานเช่นนี้เป็นการสั่งให้ผู้คัดค้านทั้งสองหยุดทำงานชั่วคราวเพื่อดำเนินการยื่นคำร้องขออนุญาตลงโทษผู้คัดค้านทั้งสองต่อศาลแรงงานภาค 1 เสียก่อน

 

อีกทั้งข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องก็กำหนดโทษทางวินัยไว้ในข้อ 4.2 และ 4.2.3 ว่าโทษทางวินัยคือการพักงานไม่เกิน 7 วัน โดยไม่จ่ายค่างจ้าง/ค่าตอบแทน เมื่อผู้ร้องได้จ่ายค่าจ้างในระหว่างที่ผู้คัดค้านทั้งสองไม่ได้ทำงานจึงไม่ถือเป็นการลงโทษแก่ผู้คัดค้านทั้งสอง และการกระทำของผู้ร้องไม่เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 แต่อย่างใด อุทธรณ์ของผู้ร้องข้อนี้ฟังขึ้น

 

มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องในประเด็นต่อไปว่า ผู้คัดค้านทั้งสองละทิ้งหน้าที่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่

 

เห็นว่า การละทิ้งหน้าที่ที่จะเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ลูกจ้างมีหน้าที่ปฏิบัติที่สำคัญให้นายจ้างแล้วไม่ปฏิบัติเป็นเวลานานแต่ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านที่ 1 มีหน้าที่สำคัญอย่างไร หากออกไปจากการปฏิบัติหน้าที่แล้วจะเกิดความเสียหายต่อการผลิตของผู้ร้องอย่างไร

 

ดังนั้นการที่ผู้คัดค้านที่ 1 ละทิ้งหน้าที่ออกไปบอกพนักงานของบริษัทรับเหมาค่าแรงให้ไปรวมตัวกันที่โรงอาหารช่วงบ่ายใกล้เวลาเลิกงานแล้ว กรณียังถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องเป็นกรณีร้ายแรง

 

ผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างต้องตักเตือนผู้คัดค้านที่ 1 เป็นหนังสือก่อน เมื่อยังไม่ได้ดำเนินการจึงยังไม่มีเหตุสมควรที่ผู้ร้องจะเลิกจ้างผู้คัดค้านที่ 1 ทันที

 

ในส่วนของผู้คัดค้านที่ 2 ศาลแรงงานภาค 1 วินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านที่ 2 ไม่ได้ละทิ้งหน้าที่ ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ผู้คัดค้านที่ 2 ละทิ้งหน้าที่ จึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานภาค 1 ถือเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

 

มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องในประเด็นต่อไปว่า ศาลแรงงานภาค 1 วินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ละทิ้งหน้าที่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้อง ศาลต้องอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษผู้คัดค้านที่ 1 โดยการตักเตือนเป็นหนังสือโดยผู้ร้องไม่ต้องร้องขอได้หรือไม่

 

โดยผู้ร้องอุทธรณ์ว่า แม้ผู้ร้องจะไม่ได้ร้องขอ แต่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 ให้ศาลแรงงานพิพากษาเกินคำขอได้นั้น

 

เห็นว่า แม้ตามคำขอท้ายคำร้องของผู้ร้องจะขอให้ศาลแรงงานภาค 1 อนุญาตให้ลงโทษผู้คัดค้านที่ 1 ด้วยการเลิกจ้างก็ตาม

 

แต่เมื่อศาลแรงงานภาค 1 เห็นว่าผู้คัดค้านที่ 1 ละทิ้งหน้าที่ แต่ยังไม่ถึงขนาดหรือมีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้เลิกจ้างผู้คัดค้านที่ 1 โดยเห็นว่าการกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 ดังกล่าวผู้ร้องควรลงโทษด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือก่อน

 

ศาลแรงงานภาค 1 ก็สามารถอนุญาตให้ลงโทษผู้คัดค้านที่ 1 ด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือ ซึ่งเป็นโทษที่อยู่ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้อง และเป็นโทษในสถานเบากว่าการเลิกจ้างได้ ถือเป็นการใช้ดุลพินิจตามที่เห็นสมควรและเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีและไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าคำขอแต่ประการใด

 

ดังนั้นที่ศาลแรงงานภาค 1 ไม่มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษผู้คัดค้านที่ 1 ด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือให้เสร็จสิ้นไปไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของผู้ร้องข้อนี้ฟังขึ้น

 

พิพากษาแก้เป็นว่า อนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษผู้คัดค้านที่ 1 ด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือ และยกคำร้องของผู้คัดค้านทั้งสองนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 1

 

( นิยุต สุภัทรพาหิรผล - ชัยวัฒน์ เวียงธีรวัฒน์ - วิรุฬห์ แสงเทียน )

 

ศาลแรงงานภาค 1 - นายสมควร ศิริยุทธ



02/May/2015

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา