ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

แม้นายจ้างจะปิดงานโดยถูกขั้นตอนตามกฎหมาย แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก็สามารถใช้ดุลพินิจมีคำสั่งให้นายจ้างที่ปิดงาน รับลูกจ้างกลับเข้าทำงานตามเดิม โดยจ่ายค่าจ้างตามอัตราที่เคยจ่าย เพื่อรอการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้ ถือว่าใช้อำนาจตามพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 35 โดยถูกกฎหมาย

อ้างอิงจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1666/2557

 

ก่อนที่จำเลยทั้งสองออกคำสั่งที่ 94/2550 สั่งให้โจทก์รับลูกจ้างในส่วนที่โจทก์ปิดงานกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าจ้างให้ตามอัตราที่เคยจ่าย จำเลยทั้งสองให้โอกาสโจทก์และสหภาพแรงงานอัลมอนด์ดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาโดยตลอดจนถึงขั้นตอนที่โจทก์ใช้สิทธิปิดงานสำหรับลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานประมาณ 150 คน

 

และหลังจากนั้นจำเลยทั้งสองยังคงควบคุมดูแลข้อพิพาทแรงงานอย่างใกล้ชิดตลอดมาโดยให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานเข้าไกล่เกลี่ยอีกหลายครั้ง แต่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ และมีทีท่าจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

 

ฝ่ายลูกจ้างจำนวนมากที่ได้รับความเดือดร้อนจากการปิดงานพากันไปชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล สถานทูตสหรัฐอเมริกา และไปพบคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติที่กองทัพบก ปรากฏว่าแต่ละหน่วยงานไม่สามารถแก้ปัญหาข้อพิพาทแรงงานนี้ได้

 

ทั้งพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าหากปล่อยเวลาให้เนิ่นนานออกไปอีกเหตุการณ์อันเนื่องมาจากข้อพิพาทแรงงานอาจเกิดเหตุร้ายแรงขึ้นได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศ อาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน หรืออาจขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน

 

แม้กิจการของโจทก์เป็นการผลิตและส่งออกสินค้าประเภทเครื่องประดับ และโจทก์ปิดงานโดยถูกขั้นตอนตามกฎหมายก็ตาม ก็ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 35 ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจะใช้ดุลพินิจมีคำสั่งให้นายจ้างซึ่งปิดงานรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานตามเดิมโดยจ่ายค่าจ้างตามอัตราที่เคยจ่ายเพื่อรอการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้ คำสั่งที่ 94/2550 ของจำเลยทั้งสองจึงชอบด้วยกฎหมาย

 

ไม่มีเหตุเพิกถอน

 

คำพิพากษาย่อยาว

 

มาตรา 24 เป็นบทบัญญัติให้นำมาใช้แก่ข้อพิพาทแรงงานที่อยู่ในขั้นตอนที่เป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ แต่ขณะที่จำเลยทั้งสองออกคำสั่งที่ 94/2550 ข้อพิพาทแรงงานรายนี้ได้ล่วงเลยขั้นตอนข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้จนถึงขั้นตอนการปิดงานแล้ว จึงนำมาตรา 24 มาใช้บังคับไม่ได้

 

โจทก์ฟ้องว่า  โจทก์ประกอบธุรกิจผลิตเครื่องประดับกายเพื่อการส่งออกได้ร้บการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน  ในสถานประกอบการของโจทก์มีสหภาพแรงงานอัลมอนด์ซึ่งมีสมาชิกที่เป็นลูกจ้างของโจทก์  165  คน  จากลูกจ้างทั้งหมด  587  คน 

 

ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมระหว่างโจทก์กับสหภาพแรงงานฯ  ทำขึ้นเมื่อวันที่  19  ตุลาคม  2547  มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่  1  พฤศจิกายน  2547 –  วันที่  31  มกราคม  2550  เมื่อวันที่  30  มกราคม  2550  สหภาพแรงงานฯ แจ้งข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง วันเดียวกันโจทก์ก็ได้แจ้งข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อสหภาพแรงงานฯ  เช่นกัน  มีการประชุมเจรจากันหลายครั้งแต่ไม่สามารถหาข้อยุติได้

 

พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานดำเนินการไกล่เกลี่ยหลายครั้งก็ไม่สามารถหาข้อยุติได้  จึงเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้  สมาชิกสหภาพแรงงานฯได้เคลื่อนไหวรวมตัวชุมนุม  ขัดขวางการดำเนินธุรกิจของโจทก์  กดดัน  ก่อกวนสร้างความวุ่นวายขึ้น  มีแนวโน้มจะเกิดความรุนแรงและไม่ปลอดภัยในร่ายกายและทรัพย์สินของโจทก์

 

เพื่อป้องกันความเสียหายดังกล่าวเมื่อวันที่  7  เมษายน  2550  โจทก์จึงใช้สิทธิปิดงานตั้งแต่เวลา 7 น. ของวันที่  9  เมษายน  2550  เป็นต้นไป  เฉพาะลูกจ้างของโจทก์ที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องซึ่งมีจำนวนร้อยละ  30  ของลูกจ้างทั้งหมด 

 

ลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ ได้สร้างความวุ่นวาย  กดดัน  ข่มขู่ลูกจ้างอื่น  รวมตัวไปชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล  หน้ารัฐบาลและหน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกา 

 

วันที่  30  เมษายน  2550  ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานสัมพันธ์  กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน  มีหนังสือถึงโจทก์ขอความร่วมมือให้ยุติการปิดงาน 

 

แต่โจทก์ไม่เห็นด้วยและมีหนังสือชี้แจงกลับไป  เมื่อวันที่  11  พฤษภาคม  2550  จำเลยที่  1  โดยจำเลยที่  2  มีคำสั่งที่  94/2550  อ้างหากปล่อยให้ข้อพิพาทแรงงานยืดเยื้อต่อไปอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศหรืออาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน หรืออาจขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนได้  จึงมีคำสั่งให้โจทก์รับลุกจ้างที่ถูกปิดงานกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าจ้างให้และให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดำเนินการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานรายนี้โดยเร็ว 

 

โจทก์เห็นว่าคำสั่งของจำเลยทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เพราะฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  ฉบับที่  6  ลงวันที่  20  กันยายน 2549 ทั้งการปิดงานของโจทก์ไม่เข้าองค์ประกอบในมาตรา  35  แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์  พ.ศ.2518  ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่  94/2550  ลงวันที่  11  พฤษภาคม  2550 ของจำเลยทั้งสอง

 

จำเลยทั้งสองให้การว่า  โจทก์และสหภาพแรงงานอัลมอนด์ต่างยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง  เจรจากันเองรวม  6  ครั้ง  ไม่สามารถตกลงกันได้  ทั้งสองฝ่ายแจ้งพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน  พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานไกล่เกลี่ย  3 ครั้ง  ไม่สามารถตกลงกันได้ 

 

โจทก์มีหนังสือแจ้งกรมสวัสดิการและคุ้มครองใช้สิทธิปิดงานเฉพาะสมาชิกสหภาพแรงงานฯ  228  คน  ตั้งแต่วันที่  9  เมษายน  2550  เป็นต้นไป  

 

ต่อมาวันที่  19 เมษายน  2550  สมาชิกสหภาพแรงงานฯ  ซึ่งถูกปิดงานประมาณ  150  คน  ไปยื่นหนังสือร้องเรียนนายกรัฐมนตรี  วันที่  26  เมษายน  2550  สมาชิกสหภาพแรงงานฯไปยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือที่สถานทูตสหรัฐอเมริกา

 

ระหว่างปิดงานพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้ทำการไกล่เกลี่ยอีกรวม  5  ครั้ง  ก็ไม่สามารถตกลงกันได้  วันที่  8  พฤษภาคม  2550  ตัวแทนสหภาพแรงงานฯ  เข้าพบรองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 

 

ขณะเดียวกันสมาชิกสหภาพแรงงานฯ  ประมาณ 80  คน  ไปชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลและเดินทางไปที่กองบัญชาการกองทัพบกเพื่อยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือ  วันที่  11  พฤษภาคม  2550  จำเลยที่  2  นัดทั้งสองฝ่ายมาเจรจา  แต่ฝ่ายโจทก์ไม่มาตามนัดและปฏิเสธการเจรจา 

 

จำเลยที่  2  เห็นว่าหากปล่อยให้ข้อพิพาทแรงงานนี้ยืดเยื้อต่อไปอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศ  อาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนได้  จึงใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์  พ.ศ.  2518  มาตรา  35  สั่งให้โจทก์ผู้เป็นนายจ้างซึ่งปิดงานรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าจ้างตามอัตราที่เคยจ่าย และให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดำเนินการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานระหว่างโจทก์กับสหภาพแรงงานฯ  โดยเร็ว  คำสั่งกระทรวงแรงงานที่  94/2550 ชอบด้วยเหตุผลและกฎหมาย  ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนเปลี่ยนแปลง  ขอให้ยกฟ้อง

 

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว  พิพากษายกฟ้อง

 

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฏีกา

 

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว  ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า  คำสั่งของจำเลยทั้งสองที่  94/2550  ลงวันที่  11  พฤษภาคม  2550  ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  มีเหตุเพิกถอนหรือไม่ 

 

เห็นว่า  จำเลยทั้งสองอ้างว่าได้ออกคำสั่งดังกล่าวอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์  พ.ศ.  2518  มาตรา  35  ซึ่งบัญญัติว่า  ในกรณีที่รัฐมนตรีเห็นว่าการปิดงานหรือการนัดหยุดงานอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศ  หรืออาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนหรืออาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ  หรืออาจขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน  ให้รัฐมนตรีมีอำนาจดังต่อไปนี้

 

1  สั่งให้นายจ้างซึ่งปิดงานรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าจ้างตามอัตราที่เคยจ่ายให้แก่ลูกจ้างนั้น

4  สั่งให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดำเนินการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน 

 

ที่มาของการออกคำสั่งข้างต้นของจำเลยทั้งสองปรากฏตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาว่า  โจทก์ประกอบกิจการผลิตเครื่องประดับเพื่อส่งออก  ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน  โจทก์มีลูกจ้างประมาณ  580  คน  ในสถานประกอบการของโจทก์ลูกจ้างได้ก่อตั้งสหภาพแรงงานอัลมอนด์มีสมาชิกประมาณ  220  คน

 

เดิมโจทก์และสหภาพแรงงานฯ  มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งทำขึ้นเมื่อวันที่  19  ตุลาคม  2547  มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่  1  พฤศจิกายน  2547  ถึงวันที่  31  มกราคม  2550 

 

เมื่อวันที่  30  มกราคม  2550  สหภาพแรงงานฯ  ยื่นข้อเรียกร้อง  10  ข้อ  ขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อโจทก์  วันเดียวกันโจทก์ก็ได้ยื่นข้อเรียกร้อง  7  ข้อ  ขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อสหภาพแรงงานฯ  ตามเอกสารหมาย  จ.7  และ  จ.8  ตัวแทนทั้งสองฝ่ายเจรจากันเอง  6  ครั้ง  ไม่สามารถตกลงกันได้  คู่กรณีทั้งสองฝ่ายแจ้งข้อพิพาทแรงงานต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน  พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานไกล่เกลี่ย  3  ครั้ง  ไม่สามารถตกลงกันได้ 

 

โจทก์มีหนังสือแจ้งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานใช้สิทธิปิดงานเฉพาะสมาชิกสหภาพแรงงานฯ  ตั้งแต่วันที่  9  เมษายน  2550 

 

หลังจากโจทก์ปิดงานแล้ว  พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานยังนัดไกล่เกลี่ยอีก  ก็ไม่สามารถตกลงกันได้  วันที่  19  เมษายน  2550  ลูกจ้างที่ถูกปิดงานประมาณ  150  คน  ไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาลขอให้นายกรัฐมนตรีช่วยเหลือ 

 

หลังจากนั้นพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานนัดไกล่เกลี่ยอีก  2  ครั้ง  แต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้  วันที่  26  เมษายน  2550  สมาชิกสหภาพแรงงานฯ  ที่ถูกปิดงานประมาณ  150  คน  รวมตัวกันไปยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือที่สถานทูตสหรัฐอเมริกา 

 

พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานทำการไกล่เกลี่ยอีก  2  ครั้ง  ก็ไม่สามารถตกลงกันได้  วันที่  8  พฤษภาคม  2550  สมาชิกสหภาพแรงงานฯ  ประมาณ  80  คน  ชุมนุมกันที่หน้าทำเนียบรัฐบาลและเดินทางไปยื่นหนังสือที่กองบัญชาการทหารบกเพื่อขอความช่วยเหลือต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ วันที่ 11 พฤษภาคม  2550  จำเลยที่  2  นัดเจรจาไกล่เกลี่ยครั้งสุดท้าย  ฝ่ายโจทก์ไม่มาตามนัด 

 

จำเลยที่  2  จึงใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์  พ.ศ.  2518  มาตรา  35  ออกคำสั่งให้โจทก์ยุติการปิดงาน  โดยรับลูกจ้างที่ถูกปิดงานกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าจ้างในอัตราที่เคยจ่ายและให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดำเนินการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานโดยเร็วตามคำสั่งที่  94/2550  ลงวันที่  11  พฤษภาคม  2550  เอกสารหมาย  จ.4  และ  จ.5 

 

หลังจากจำเลยที่  2  ออกคำสั่งดังกล่าวแล้ว  โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่  2  แต่ไม่พอใจคำสั่งดังกล่าว  จึงได้ใช้สิทธิฟ้องร้องคดีนี้ก่อนคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานระหว่างโจทก์กับสหภาพแรงงานฯ  ตามคำชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์  ที่  1/2550  เอกสารหมาย  ล.2  จะเห็นได้ว่า 

 

ก่อนที่จำเลยทั้งสองออกคำสั่งที่  94/2550  สั่งให้โจทก์รับลูกจ้างในส่วนที่โจทก์ปิดงานกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าจ้างให้ตามอัตราที่เคยจ่าย  จำเลยทั้งสองให้โอกาสและสหภาพแรงงานอัลมอนด์ดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์  พ.ศ.  2518 มาโดยตลอดจนถึงขั้นตอนที่โจทก์ใช้สิทธิปิดงานสำหรับลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ   ประมาณ  150  คน 

 

และหลังจากนั้นจำเลยทั้งสองยังคงควบคุมดูแลข้อพิพาทแรงงานรายนี้อย่างใกล้ชิดตลอดมาโดยให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานเข้าไกล่เกลี่ยอีกหลายครั้ง  ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามหลักการให้เกิดแรงงานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างโจทก์กับลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานอย่างเต็มที่แล้ว 

 

แต่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้  และมีทีท่าจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ  ฝ่ายลูกจ้างจำนวนมากที่ได้รับความเดือดร้อนจากการปิดงานของโจทก์พากันไปชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล  สถานทูตสหรัฐอเมริกา  และไปพบคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติที่กองทัพบก  ปรากฏว่าแต่ละหน่วยงานไม่สามารถแก้ปัญหาข้อพิพาทแรงงานนี้ได้ 

 

ทั้งพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าหากปล่อยเวลาให้เนิ่นนานออกไปอีกเหตุการณ์อันเนื่องมาจากข้อพิพาทแรงงานอาจเกิดเหตุร้าย แรงขึ้นได้  ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศ  อาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน  หรืออาจขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน 

 

แม้กิจการของโจทก์เป็นผลิตและส่งออกสินค้าประเภทเครื่องประดับ  และโจทก์ปิดงานโดยถูกขั้นตอนตามกฎหมายก็ตามก็ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์  พ.ศ.  2518  มาตรา  35  ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจะใช้ดุลพินิจมีคำสั่งให้นายจ้างซึ่งปิดงานรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานตามเดิมโดยจ่ายค่าจ้างตามอัตราที่เคยจ่ายเพื่อรอการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้ คำสั่งที่  94/2550  ของจำเลยทั้งสองจึงชอบด้วยกฎหมาย  ไม่มีเหตุเพิกถอน

 

ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า  การที่จำเลยทั้งสองออกคำสั่งดังกล่าวโดยใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์  พ.ศ.  2518  มาตรา  35  เป็นการข้ามขั้นตอน  เพราะที่ถูกต้องใช้อำนาจตามมาตรา  24  ก่อน  นั้น  เห็นว่า  มาตรา  24  เป็นบทบัญญัติให้นำมาใช้แก่ข้อพิพาทแรงงานที่อยู่ในขั้นตอนที่เป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ 

 

แต่ขณะที่จำเลยทั้งสองออกคำสั่งที่  94/2550  ข้อพิพาทแรงงานรายนี้ได้ล่วงเลยขั้นตอนข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้จนถึงขั้นตอนการปิดงานแล้ว  จึงนำมาตรา  24  มาใช้บังคับไม่ได้  อุทธรณ์ดังกล่าวของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

 

ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า จำเลยทั้งสองไม่ยอมรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์ที่จะแสดงว่าโจทก์ปิดงานถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายโดยไม่ได้นำเรื่องที่ลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ  ก่อความวุ่นวาย  ขัดขวางการดำเนินกิจการของโจทก์  ก่อให้โจทก์ได้รับความเสียหายมาพิจารณาประกอบ 

 

แต่กลับรับฟังพยานหลักฐานของลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ  และพนักงานประนอมข้อพิพาทนำเสนอเพียงฝ่ายเดียวว่าการปิดงานของโจทก์ทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ  เห็นว่า 

 

อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้โจทก์ไม่ได้กล่าวไว้ในคำฟ้อง  แต่เพิ่งยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน  พ.ศ.  2522  มาตรา  54  วรรคหนึ่ง  ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

 

พิพากษายืน



21/Dec/2015

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา