ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 121 ไม่ได้บัญญัติให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ต้องวินิจฉัยว่าการเลิกจ้างที่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ต้องใช้เหตุเลิกจ้างเฉพาะที่ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้างเท่านั้น สามารถยกข้อเท็จจริงที่ได้จากการสอบสวนพยานฝ่ายลูกจ้างและฝ่ายนายจ้างขึ้นวินิจฉัยได้

อ้างอิงจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่  3943/2557 ระหว่างนายสมาน ศึกษา ลูกจ้างในฐานะโจทก์ และนายอัมพร นีละโยธิน กับพวก ในฐานะจำเลย

 

ย่อสั้น

 

พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 121 ไม่ได้บัญญัติให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ต้องวินิจฉัยว่าการเลิกจ้างที่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมต้องใช้เหตุเลิกจ้างเฉพาะที่ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้างเท่านั้น จะยกเหตุอื่นนอกเหนือไม่ได้ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 (คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์) จึงวินิจฉัยเหตุเลิกจ้างที่ได้จากข้อเท็จจริงที่ได้จากโจทก์และจำเลยที่ 11 (นายจ้าง) ได้

 

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 จึงยกข้อเท็จจริงที่ได้จากการสอบสวนพยานฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยที่ 11 ขึ้นวินิจฉัยได้ว่าจำเลยที่ 11 เลิกจ้างเพราะโจทก์ใช้วาจาไม่เหมาะสม แสดงกิริยาวาจาไม่เคารพและเชื่อฟังผู้บังคับบัญชา มีความเห็นขัดแย้งกับผู้บังคับบัญชาโดยตลอด ไม่อาจทำงานร่วมกันอย่างราบรื่นได้ แม้จะไม่ใช่เหตุเลิกจ้างที่จำเลยที่ 11 อ้างในหนังสือเลิกจ้างก็ตาม

 

โจทก์ยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยที่ 11 ต่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ว่าจำเลยที่ 11 เลิกจ้างเพราะโจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานและเป็นประธานอนุกรรมการสหภาพแรงงาน เป็นการยื่นคำร้องว่าจำเลยที่ 11 กระทำการอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา 121 (2) ที่บัญญัติห้ามไม่ให้นายจ้างเลิกจ้างเพราะเหตุที่ลูกจ้างเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน ไม่ใช่การห้ามไม่ให้นายจ้างเลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดมีผลใช้บังคับ ซึ่งยกเว้นให้นายจ้างเลิกจ้างได้ในกรณีลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งในกรณีร้ายแรงตามมาตรา 123 (3)

 

ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 11 ไม่ได้เลิกจ้างเพราะโจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน และไม่ใช่การเลิกจ้างที่อยู่ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดมีผลใช้บังคับ แม้โจทก์ไม่ได้ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งในกรณีร้ายแรง จำเลยที่ 11 ก็เลิกจ้างโจทก์ได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 121 (2), 123 (3)

________________________________

ย่อยาว

 

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ 5/2548 ลงวันที่ 25 มกราคม 2548 ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ให้จำเลยที่ 11 รับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่ไม่ต่ำกว่าเดิม โดยคำนึงถึงการเสียโอกาสและความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ผลประโยชน์ตอบแทน และสวัสดิการในระหว่างถูกเลิกจ้าง ให้จำเลยที่ 11 ชำระค่าเสียหายในระหว่างเลิกจ้างเท่ากับรายได้เดือนสุดท้ายที่โจทก์ได้รับในอัตราเดือนละ 18,720 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะรับโจทก์กลับเข้าทำงาน

 

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ให้การขอให้ยกฟ้อง

 

จำเลยที่ 11 ให้การขอให้ยกฟ้อง

 

ศาลแรงงานกลางเห็นว่า สามารถวินิจฉัยข้อกฎหมายในคดีได้จากข้อเท็จจริงในสำนวนการสอบสวนและวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10) จึงให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ส่งสำนวนการสอบสวนและวินิจฉัยชี้ขาดต่อศาล และให้ถือรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ 15/2548 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นพยานศาล

 

คู่ความแถลงรับกันว่า เอกสารท้ายคำฟ้องยกเว้นสำเนาหนังสือมอบอำนาจ และเอกสารท้ายคำให้การของจำเลยทั้งสิบเอ็ดเป็นเอกสารที่มีอยู่จริงและมีข้อความดังที่ปรากฏในเอกสาร ศาลแรงงานกลางเห็นว่าพอวินิจฉัยคดีจากข้อเท็จจริงในเอกสารได้ ให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย

 

ทนายโจทก์แถลงขอส่งต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ภายใน 15 วัน ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางลงวันที่ 27 มีนาคม 2550 แต่โจทก์ไม่ได้ส่งต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจต่อศาล

 

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

 

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

 

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันได้ความว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 เป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 11 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นหัวหน้าส่วนครัวเนื้อ แผนกครัว ได้รับค่าจ้างเดือนละ 12,000 บาท ค่าบริการเดือนละ 5,500 บาท ถึง 13,000 บาท เดือนสุดท้ายก่อนถูกเลิกจ้างได้รับค่าบริการ 6,720 บาท วันที่ 1 พฤษภาคม 2547 โจทก์สมัครเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานกิจการโรงแรมแห่งประเทศไทย สหภาพแรงงานรับโจทก์เป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2547 วันที่ 15 ตุลาคม 2547 สหภาพแรงงานแต่งตั้งโจทก์เป็นประธานอนุกรรมการสหภาพแรงงานสายโรงแรมฮิลตัน หัวหิน สหภาพแรงงานมีหนังสือลงวันที่ 15 ตุลาคม 2547 แจ้งการแต่งตั้งโจทก์เป็นประธานอนุกรรมการให้จำเลยที่ 11 ทราบ จำเลยที่ 11 ได้รับหนังสือวันที่ 19 ตุลาคม 2547 เวลา 10.49 นาฬิกา ในวันเดียวกันจำเลยที่ 11 มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ อ้างว่าโจทก์ปฏิบัติงานไม่ได้มาตรฐาน ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา และเคยได้รับใบเตือนมาแล้วก่อนหน้านี้

 

มีปัญหาวินิจฉัยประการแรกว่าโจทก์มอบอำนาจให้นายสมทัต ฟ้องคดีแทนหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า

 

โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายสมทัตดำเนินคดีแทนตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจ จำเลยทั้งสิบเอ็ดให้การว่า สำเนาหนังสือมอบอำนาจ ไม่ได้ระบุให้นายสมทัตผู้รับมอบอำนาจฟ้องเพิกถอนคำสั่งที่ 5/2548 ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ให้จำเลยที่ 11 รับโจทก์กลับเข้าทำงานและให้ชดใช้ค่าเสียหาย เท่ากับจำเลยทั้งสิบเอ็ดยอมรับว่าโจทก์มอบอำนาจให้นายสมทัตตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจจริง แต่อ้างว่าตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจนั้นโจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้นายสมทัตฟ้องคดีแทนเท่านั้น

 

จำเลยทั้งสิบเอ็ดไม่ได้ให้การคัดค้านความถูกต้องแท้จริงของเอกสารสำเนาหนังสือมอบอำนาจว่าไม่มีต้นฉบับ หรือต้นฉบับนั้นปลอมทั้งฉบับหรือบางส่วน หรือสำเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับ จึงไม่มีประเด็นในคดีว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้นายสมทัตตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจหรือไม่

 

ถือได้ว่าจำเลยทั้งสิบเอ็ดให้การยอมรับถึงการมีอยู่และความแท้จริงของต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจ รวมทั้งยอมรับว่าสำเนานั้นถูกต้องกับต้นฉบับ แม้ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางลงวันที่ 27 มีนาคม 2550 ระบุว่าทนายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และทนายจำเลยที่ 11 ตรวจเอกสารท้ายคำฟ้องแล้วแถลงรับว่า “เป็นเอกสารที่มีอยู่จริงและมีข้อความดังปรากฏในเอกสารดังกล่าว ยกเว้น (สำเนา) หนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้อง” ก็ไม่ทำให้เกิดประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยว่ามีต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจหรือไม่

 

ศาลย่อมรับฟังสำเนาหนังสือมอบอำนาจเป็นพยานหลักฐานการมอบอำนาจได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 (4) (มาตรา 93 (1) เดิม) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจ ระบุว่าโจทก์มอบอำนาจให้นายสมทัต “(1)...ดำเนินการแทนข้าพเจ้า (โจทก์) ในฐานะโจทก์หรือจำเลยในคดีของศาลแรงงานกลางได้ทุกประการ (2) ดำเนินกระบวนการพิจารณาแทนข้าพเจ้าไปในทางจำหน่ายสิทธิของข้าพเจ้าได้เช่น... (3) แต่งตั้งทนายความ หรือ...” เป็นข้อความที่ระบุให้นายสมทัตมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ในฐานะเป็นโจทก์ในคดีของศาลแรงงานกลางไว้โดยชัดแจ้ง เป็นการมอบให้นายสมทัตมีอำนาจยื่นฟ้องและดำเนินคดีในศาลแรงงานกลางโดยไม่จำกัดตัวบุคคลที่จะต้องถูกฟ้อง

 

อีกทั้งการมอบอำนาจให้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 801 (5) ไม่จำต้องระบุบุคคลที่ต้องถูกฟ้องไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าเป็นจำเลยทั้งสิบเอ็ดหรือเป็นผู้ใด นายสมทัตจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสิบเอ็ดต่อศาลแรงงานกลางแทนโจทก์

 

มีปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้ายว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 รับฟังข้อเท็จจริงในการเลิกจ้างนอกเหนือจากหนังสือเลิกจ้างได้หรือไม่ และจำเลยที่ 11 เลิกจ้างโดยโจทก์ไม่ได้ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของจำเลยที่ 11 ในกรณีร้ายแรงได้หรือไม่

 

พิเคราะห์แล้วเห็นว่าศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยไว้อย่างละเอียดแล้วว่าพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 121 ไม่ได้บัญญัติให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ต้องวินิจฉัยว่าการเลิกจ้างที่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมต้องใช้เหตุเลิกจ้างเฉพาะที่ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้างเท่านั้น จะยกเหตุอื่นนอกเหนือไม่ได้ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 จึงวินิจฉัยเหตุเลิกจ้างที่ได้จากข้อเท็จจริงที่ได้จากโจทก์และจำเลยที่ 11 ได้ ซึ่งต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว

 

ดังนั้นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 จึงยกข้อเท็จจริงที่ได้จากการสอบสวนพยานฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยที่ 11 ขึ้นวินิจฉัยได้ว่าจำเลยที่ 11 เลิกจ้างเพราะโจทก์ใช้วาจาไม่เหมาะสม แสดงกิริยาวาจาไม่เคารพและเชื่อฟังผู้บังคับบัญชา มีความเห็นขัดแย้งกับผู้บังคับบัญชาโดยตลอด ไม่อาจทำงานร่วมกันอย่างราบรื่นได้

 

แม้จะไม่ใช่เหตุเลิกจ้างที่จำเลยที่ 11 อ้างในหนังสือเลิกจ้างก็ตาม โจทก์ยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยที่ 11 ต่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2547 ว่าจำเลยที่ 11 เลิกจ้างเพราะโจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานและเป็นประธานอนุกรรมการสหภาพแรงงานสายโรงแรมฮิลตัน หัวหิน

 

เป็นการยื่นคำร้องว่าจำเลยที่ 11 กระทำการอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา 121 (2) ที่บัญญัติห้ามไม่ให้นายจ้างเลิกจ้างเพราะเหตุที่ลูกจ้างเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน ไม่ใช่การห้ามไม่ให้นายจ้างเลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดมีผลใช้บังคับ ซึ่งยกเว้นให้นายจ้างเลิกจ้างได้ในกรณีลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งในกรณีร้ายแรงตามมาตรา 123 (3)

 

ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 11 ไม่ได้เลิกจ้างเพราะโจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน และไม่ใช่การเลิกจ้างที่อยู่ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดมีผลใช้บังคับ แม้โจทก์ไม่ได้ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งในกรณีร้ายแรง จำเลยที่ 11 ก็เลิกจ้างโจทก์ได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 121 (2), 123 (3)

 

อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นในเรื่องโจทก์มีอำนาจฟ้อง แต่ฟังไม่ขึ้นในเรื่องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ต้องวินิจฉัยสาเหตุเลิกจ้างเฉพาะที่ระบุในหนังสือเลิกจ้าง และจำเลยที่ 11 เลิกจ้างไม่ได้เพราะโจทก์ไม่ได้ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งในกรณีร้ายแรง

 

พิพากษายืน

(วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์ - ชัยวัฒน์ เวียงธีรวัฒน์ - อนันต์ ชุมวิสูตร )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายเกษมสันต์ วิลาวรรณ

 

หมายเหตุ : รูปประกอบจาก internet



22/Jan/2016

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา