ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

หลังจากลูกจ้างทำข้อตกลงสภาพการจ้างกับนายจ้างแล้ว บริษัทได้ทยอยเรียกลูกจ้างเข้าทำงานเป็นชุด ส่วนลูกจ้างที่ยังไม่ได้เรียกให้รออยู่ที่พักและยังจ่ายค่าจ้างและให้สวัสดิการ ดังนั้นการที่นายจ้างกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีของลูกจ้างโดยแจ้งให้ทราบล่วงหน้าในช่วงที่รอเรียกตัวเข้าทำงาน ถือได้ว่าจัดให้ลูกจ้างหยุดพักผ่อนตามกฎหมายแล้ว จึงไม่ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามมาตรา 64

อ้างอิงจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่  17020 - 17021/2557 ระหว่างบริษัทสยามมิชลิน จำกัด ในฐานะโจทก์ กับนายธนกร สมสิน จำเลยร่วม นายนิสัย สุขระ ในฐานะพนักงานตรวจแรงงาน จำเลย

 

คำพิพากษาย่อสั้น

 

หลังจากผู้แทนลูกจ้างทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับโจทก์แล้ว โจทก์ได้ทยอยเรียกให้ลูกจ้างที่เกี่ยวข้องเข้าทำงานเป็นชุดโดยวิธีโทรศัพท์แจ้งลูกจ้างเป็นรายบุคคล ส่วนลูกจ้างที่ยังไม่ได้เรียกโจทก์ให้รออยู่ที่พัก ไม่ต้องเข้ารายงานตัวหรือลงเวลาที่บริษัท ไม่ได้มอบหมายงานให้ ลูกจ้างมีอิสระที่จะไปไหนได้ แต่ถ้าโจทก์โทรศัพท์แจ้งให้เข้าทำงานลูกจ้างต้องเข้าทำงานตามที่โจทก์กำหนด และโจทก์ยังจ่ายค่าจ้างและให้สวัสดิการตามระเบียบของบริษัท

 

พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์มีคำสั่งเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของลูกจ้างในวันทำงานตามปกติ ดังนั้นการที่โจทก์ได้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีของลูกจ้างโดยแจ้งให้ทราบล่วงหน้าในช่วงที่รอเรียกตัวเข้าทำงานดังกล่าวอันเป็นวันทำงานตามปกติ จึงเป็นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง และถือได้ว่าโจทก์จัดให้ลูกจ้างหยุดพักผ่อนประจำปีตามกฎหมายแล้ว โจทก์จึงไม่ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่ลูกจ้างตามมาตรา 64

 

คำพิพากษาย่อยาว

 

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานภาค 2 สั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน

 

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี ที่ 144/2553 ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2553, ที่ 170/2553 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2553 และที่ 259/2553 ลงวันที่ 28 กันยายน 2553 ของจำเลย

 

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

 

ระหว่างพิจารณา ศาลแรงงานภาค 2 อนุญาตให้นายธนกร ลูกจ้างของโจทก์เข้าเป็นจำเลยร่วมในสำนวนแรก

 

ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี ที่ 144/2553ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2553 ที่ 170/2553 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2553 และที่ 259/2553 ลงวันที่ 28 กันยายน 2553 ของจำเลย

 

จำเลยและจำเลยร่วมอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

 

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงตามที่คู่ความแถลงรับกันโดยไม่มีการสืบพยานว่า โจทก์กำหนดสภาพการทำงานของลูกจ้างไว้คือ วันทำงาน จันทร์ถึงอาทิตย์ วันหยุดประจำสัปดาห์ 1 วัน หมุนเวียนกันเวลาทำงาน แบ่งเป็น 3 กะ กะที่ 1 ตั้งแต่เวลา 6 ถึง 14 นาฬิกา กะที่ 2 ตั้งแต่เวลา 14 ถึง 22 นาฬิกา กะที่ 3 ตั้งแต่เวลา 22 ถึง 6 นาฬิกา หมุนเวียนกันพักคนละ 1 ชั่วโมง

 

โจทก์กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างคนละไม่น้อยกว่าหกวันทำงานแล้วแต่อายุงาน หากพนักงานหยุดพักผ่อนประจำปีไม่หมดโดยมีวันหยุดพักผ่อนประจำปีเหลืออยู่ ให้นำวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่เหลือในปีนั้นไปสมทบกับวันหยุดพักผ่อนประจำปีของปีถัดไปได้ แต่ไม่เกินหกวันทำงานปกติ

 

หากโจทก์มิได้จัดให้พนักงานหยุดพักผ่อนประจำปีหรือวันหยุดพักผ่อนประจำปีน้อยกว่าที่กำหนดไว้ โจทก์จะจ่ายเงินเป็นค่าทำงานในวันหยุดเสมือนเป็นการทำงานในวันหยุด

 

หลังจากที่ผู้แทนลูกจ้างได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับโจทก์เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2552 โจทก์ได้รับลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงกลับเข้าทำงานโดยทยอยเรียกให้ลูกจ้างที่เกี่ยวข้องเข้าทำงานเป็นชุด ชุดละประมาณ 10 ถึง 30 คนโดยวิธีโทรศัพท์แจ้งลูกจ้างเป็นรายบุคคล ซึ่งโจทก์ได้จ่ายค่าจ้างและสวัสดิการให้แก่ลูกจ้างทุกคนตามปกติตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2552 เป็นต้นมา

 

ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้เรียกเข้าทำงานโจทก์ให้ลูกจ้างดังกล่าวรออยู่ที่พัก ไม่ต้องเข้าไปรายงานตัวหรือลงเวลาที่บริษัท ไม่ได้มอบหมายงานให้แก่ลูกจ้าง ลูกจ้างมีอิสระที่จะไปไหนก็ได้ แต่ถ้าโจทก์โทรศัพท์แจ้งให้ลูกจ้างเข้าทำงานลูกจ้างต้องเข้าทำงานตามที่โจทก์กำหนด คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและถือว่าลูกจ้างทำงานในเวลาทำงานปกติ

 

การที่โจทก์จ่ายค่าจ้างและให้สวัสดิการตามระเบียบหาใช่เป็นเพียงการรักษาสถานภาพการเป็นลูกจ้างของลูกจ้างไม่ ดังนั้น เมื่อโจทก์มีอำนาจในการจัดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างทั้งสิบแปด และแจ้งให้ลูกจ้างทั้งสิบแปดทราบล่วงหน้าและกำหนดระยะเวลาดังกล่าวเป็นวันทำงานปกติ

 

โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างทั้งสิบแปด คำสั่งของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยและจำเลยร่วมว่า โจทก์ได้จัดให้ลูกจ้างทั้งสิบแปดคนหยุดพักผ่อนประจำปีตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า

 

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปีมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่าหกวันทำงาน โดยให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้าหรือกำหนดให้ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน

 

และตามมาตรา 5 วันทำงาน หมายถึงวันที่กำหนดให้ลูกจ้างทำงานตามปกติ

 

คดีนี้แม้โจทก์ยังไม่เรียกให้ลูกจ้างทั้งสิบแปดเข้าทำงาน โดยให้รออยู่ที่พัก ไม่ต้องเข้ามารายงานตัวที่บริษัท ไม่ต้องลงเวลาทำงาน ไม่มอบหมายงานให้ทำ แต่โจทก์ก็ยังคงจ่ายค่าจ้างและให้สวัสดิการตามระเบียบของบริษัท และแม้ลูกจ้างมีอิสระที่จะไปไหนก็ได้ แต่ถ้าโจทก์โทรศัพท์แจ้งให้ลูกจ้างเข้าทำงาน ลูกจ้างต้องเข้าทำงานตามที่โจทก์กำหนด

 

พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์มีคำสั่งเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของลูกจ้างทั้งสิบแปดในวันทำงานตามปกติ

 

ดังนั้น การที่โจทก์ได้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีของลูกจ้างทั้งสิบแปด โดยแจ้งให้ทราบล่วงหน้าในช่วงที่รอเรียกตัวเข้าทำงานดังกล่าวอันเป็นวันทำงานตามปกติ จึงเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง และถือได้ว่าโจทก์ได้จัดให้ลูกจ้างทั้งสิบแปดหยุดพักผ่อนประจำปีตามกฎหมายแล้ว

 

โจทก์จึงไม่ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้าง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 64 ที่ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยมานั้น

 

ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยและจำเลยร่วมฟังไม่ขึ้น

 

พิพากษายืน

 

(วาสนา หงส์เจริญ - นิยุต สุภัทรพาหิรผล - สุนันท์ ชัยชูสอน )

 

ศาลแรงงานภาค 2 - นายธวัชชัย ถาวรสุจริตกุล



04/Mar/2016

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา