ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

การที่นายจ้างแสวงหาประโยชน์โดยอาศัยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และเป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมายดังกล่าว ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 , ไม่นับระยะเวลาในระหว่างปิดงานคำนวณเป็นอายุงานของลูกจ้าง

คดีนี้โจทก์ (นายจ้าง) ฟ้องว่า โจทก์มีวัตถุประสงค์ในการผลิตเครื่องยนต์และขายอะไหล่เครื่องยนต์ จำเลยมีคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่.../2561 ชี้ขาดว่ากรณีโจทก์ปิดงานไม่รับนาย A กับพวกรวม 5 คน ผู้กล่าวหากลับเข้าทำงานและมอบหมายงานให้ เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม

 

ให้โจทก์รับผู้กล่าวหากับพวกกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายนับแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 จนถึงวันรับกลับเข้าทำงาน เป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย

 

การที่ลูกจ้างเพียง 6 คน ยื่นหนังสือ ยอมรับข้อเรียกร้องทุกข้อของโจทก์ เป็นการยอมรับข้อเรียกร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะลูกจ้างไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนกระบวนการเจรจาและไกล่เกลี่ย ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 จึงไม่ทำให้ข้อพิพาทแรงงานระหว่างโจทก์และผู้กล่าวหายุติลง

 

การยอมรับข้อเรียกร้องของผู้กล่าวหาเป็นเพียงคำเสนอทางแพ่ง ไม่ใช่คำสนองยอมรับข้อเรียกร้องที่มีการตั้งตัวแทนลูกจ้างทั้งหมด นอกจากนี้อายุงานของผู้กล่าวหา จำเลยคำนวณระยะเวลาที่ถูกปิดงานเข้าไปด้วยจึงไม่ถูกต้อง ขอให้เพิกถอน คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่.../2561

 

 

จำเลยให้การว่า ข้อเรียกร้องฝ่ายนายจ้างมีลักษณะเป็นคำเสนอเพื่อให้อีกฝ่ายตกลงทำคำสนองให้เกิดสัญญา

 

เมื่อผู้กล่าวหากับพวกยอมรับข้อเรียกร้องโดยมีเงื่อนไข ถือว่าตกลงคำสนองตอบรับคำเสนอของโจทก์ สัญญาย่อมเกิดขึ้นแล้ว

 

แม้โจทก์จะอ้างว่ายังไม่มีการจัดทำข้อตกลงและนำไปจดทะเบียนตามมาตรา 18 ก็ตาม ข้อพิพาทแรงงานที่เกิดขึ้นย่อมยุติลง ในการปิดงานย่อมระงับไปด้วย

 

เมื่อโจทก์ยังคงปิดงานไม่รับผู้กล่าวหากับพวกกลับเข้าทำงาน เชื่อว่ามาจากสาเหตุที่ผู้กล่าวหากับพวกยื่นข้อเรียกร้องและ ชุมนุมหน้าโรงงาน จนจำเลยมีคำสั่งคณะกรรมการฯ ที่.../2556 ให้โจทก์รับผู้กล่าวหากับพวกกลับเข้าทำงาน และจ่ายค่าเสียหาย...

 

การกระทำของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 121 (1) เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ไม่มีเหตุเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการ.../2561

 

ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า วันที่ 9 และ 15 มกราคม 2556 สหภาพแรงงาน A และโจทก์ ยื่นข้อเรียกร้อง มีการเจรจากันแต่ตกลงกันไม่ได้จนเกิดเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้

 

สหภาพแรงงานฯ นัดหยุดงานตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2556 วันเดียวกันโจทก์ใช้สิทธิปิดงานเฉพาะสหภาพแรงงาน

 

วันที่ 28 พฤษภาคม 2556 โจทก์เลิกจ้างผู้กล่าวหากับพวกทั้ง 6 คน ผู้กล่าวหายื่นคำร้องกล่าวหาต่อจำเลย จำเลยมีคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่.../2556 ว่าโจทก์เลิกจ้างฝ่าฝืนมาตรา 121 จึงสั่งให้โจทก์รับผู้กล่าวหากลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหายตั้งแต่เลิกจ้างจนถึงวันรับกลับ แต่โจทก์ไม่รับ

 

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2556 โจทก์แจ้งข้อเรียกร้องต่อผู้กล่าวหากับพวกที่ถูกเลิกจ้าง 42 คน รวม 11 ข้อ พร้อมตั้งผู้แทนเข้าร่วมเจรจา 4 คน แต่ผู้กล่าวหากับพวกไม่ได้ตั้งผู้แทนเข้าร่วมเจรจาตามที่กฎหมายกำหนด

 

โจทก์ถือเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ แล้วโจทก์ปิดงานตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2557 เป็นต้นมา

 

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559 และวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 ผู้กล่าวหากับพวก ยื่นหนังสือถึงจำเลยยอมรับข้อเรียกร้อง โดยไม่มีเงื่อนไขและขอกลับเข้าทำงาน แต่โจทก์ยังคงปิดงานไม่รับกลับ ผู้กล่าวหาจึงยื่นคำร้องต่อจำเลย และจำเลยได้มีคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่.../2561

 

ศาลแรงงานกลางเห็นว่า

 

การปิดงานของโจทก์ในครั้งแรกสิ้นผลและระงับลงด้วยเหตุโจทก์รับผู้กล่าวหากลับเข้าทำงานเช่นเดิม แม้โจทก์จะอ้างว่าผู้กล่าวหาไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518

 

แต่การดำเนินการในส่วนของกิจการด้านแรงงานสัมพันธ์มิใช่อาศัยเพียงแต่บทบัญญัติของกฎหมายเท่านั้น ต้องคำนึงถึงความสงบสุขเรียบร้อยการรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ในการร่วมกันพัฒนากิจการให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไป อันจะเป็นประโยชน์ต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศ

 

เมื่อโจทก์มิได้หยิบยกขั้นตอนการเจรจาหรือขั้นตอนการนัดหยุดงานขึ้นมากล่าวอ้าง ว่าผู้กล่าวหาไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ เท่ากับโจทก์ไม่ได้ถือว่า การที่ผู้กล่าวหาจะได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 หรือไม่ เป็นสาระสำคัญอีกต่อไป

 

และยอมรับการดำเนินการดังกล่าวมาแล้วทั้งหมด โดยพยายามประนีประนอมยอมความ และหาทางออกในการแก้ปัญหา เนื่องจากพื้นฐานในด้านแรงงาน แม้จะเป็นสิทธิพื้นฐานของลูกจ้างอันมีลักษณะเชิงมหาชนอยู่ส่วนหนึ่ง

 

แต่ในด้านของสัญญาจ้างแรงงานก็มีพื้นฐานจากสัญญาจ้างแรงงาน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 ซึ่งสามารถตกลงกันได้ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมาย ขั้นตอนตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เป็นขั้นตอนระงับข้อพิพาทด้านแรงงานลักษณะหนึ่งเท่านั้น

 

เมื่อโจทก์มิได้ถือข้อดังกล่าวเป็นสาระสำคัญและโจทก์ปิดงาน ทำให้ผู้กล่าวหาไม่ได้รับค่าจ้าง ถือว่าโจทก์สละสิทธิไม่ประสงค์ให้ผู้กล่าวหาต้องดำเนินการตามขั้นตอนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518

 

โจทก์จึงไม่อาจโต้แย้งในส่วนนี้ได้

 

ส่วนการนับอายุงานของผู้กล่าวหา เมื่อผู้กล่าวหาเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ย่อมต้องผูกพันต่อคำสั่งปิดงาน จึงไม่อาจนับระยะเวลาในระหว่างปิดงาน คำนวณเป็นอายุงานของผู้กล่าวหาได้

 

พิพากษาให้แก้ไขคำสั่งของจำเลยที่.../2561 ในส่วนของผู้กล่าวหาที่ 2 มีอายุงาน 2 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของจำเลย โจทก์อุทธรณ์

 

ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นว่า แม้จำเลยมีคำสั่งที่.../2556 ให้โจทก์รับผู้กล่าวหาที่ 2 กับพวก กลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหาย...ทั้งโจทก์และผู้กล่าวหากับพวกต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาด แม้โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างจะไม่พอใจคำสั่งและมีอำนาจฟ้องต่อศาลแรงงานให้เพิกถอนหรือแก้ไขคำสั่งจำเลยได้

 

แต่ตราบใดที่ศาลแรงงานยังไม่เพิกถอนหรือแก้ไขคำสั่งดังกล่าว โจทก์ย่อมยังคงต้องผูกพันถือปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว การที่โจทก์ไม่รับผู้กล่าวหาที่ 2 กับพวกกลับเข้าทำงาน ทั้งยังใช้สิทธิเลือกปฏิบัติต่อลูกจ้างบางส่วน ด้วยการแจ้งข้อเรียกร้อง 11 ข้อ ต่อผู้กล่าวหาที่ 2 กับพวกที่ถูกเลิกจ้างรวม 42 คน

 

จนกลายเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ แล้วปิดงานตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2557 เป็นต้นมา เป็นระยะเวลาอีก 3 ปีเศษ

 

เป็นเหตุให้ผู้กล่าวหากับพวกยื่นหนังสือยอมรับข้อเรียกร้องโดยไม่มีเงื่อนไขและขอกลับเข้าทำงาน แต่โจทก์ยังคงปิดงานไม่รับกลับเข้าทำงาน จนผู้กล่าวหากับพวกต้องยื่นคำร้องต่อจำเลย และจำเลยมีคำสั่งที่.../2561 สั่งให้โจทก์รับผู้กล่าวหากับพวกเข้าทำงาน

 

แม้โจทก์รับผู้กล่าวหาที่ 2 -6 กลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหาย ตามคำสั่งจำเลยแล้ววันที่ 7 มีนาคม 2561 แต่ก็เป็นเวลาหลังจากโจทก์ยื่นข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง 42 คน รวมผู้กล่าวหาที่ 2 ด้วย

 

การที่โจทก์ไม่รับผู้กล่าวหาที่ 2 กับพวก ซึ่งถูกเลิกจ้างกลับเข้าทำงานตามคำสั่งจำเลยที่.../2556 ก็ดี การแจ้งข้อเรียกร้องเพิ่มเติม 11 ข้อ แล้วมีการปิดงาน จนผู้กล่าวหาไปร้องจำเลย อีกครั้งซึ่งจำเลยมีคำสั่งที่..../2561 สั่งให้โจทก์รับผู้กล่าวหากับพวกกลับเข้าทำงาน แล้วโจทก์เรียกผู้กล่าวหา กับพวกไปฝึกอบรมหลายครั้ง มีการเจรจาต่อรองจูงใจให้ลาออก

 

ตามพฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวแสดง ให้เห็นว่า โจทก์ไม่ต้องการรับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างกลับเข้าทำงานตามคำสั่งจำเลยที่.../2556

 

ทำให้ผู้กล่าวหาเสียสิทธิที่จะกลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิมหรือสิทธิประโยชน์อื่นที่พึงได้รับตามกฎหมาย

 

ถือเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยอาศัยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และเป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมายดังกล่าว

 

ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 และยังผลให้โจทก์ไม่อาจอ้างเหตุที่โจทก์ฟ้องขอเพิกถอนหรือแก้ไขคำสั่งจำเลยที่.../2556

 

และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาเพื่อให้โจทก์ได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ มาแจ้งข้อเรียกร้องและเจรจาต่อรองการกลับเข้าทำงานของผู้กล่าวหาที่ 2 ได้ กรณีไม่มีเหตุเพิกถอนคำสั่งจำเลยที่.../2561

 

ปัญหาเกี่ยวกับการใช้สิทธิไม่สุจริตเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีสิทธิยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดี แรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 57

 

พิพากษายืน

 

อ้างอิงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 72/2562



02/Jul/2020

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา