ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

สิทธิของลูกจ้างตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533: เมื่อนายจ้าง “ปิดงาน” เกิน 6 เดือน

สิ้นเดือนเมษายน 2557 ก็จะครบระยะเวลา 6 เดือนพอดีที่นายจ้างบริษัทสแตนเล่ย์ เวิร์คส์ ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ ได้ใช้สิทธิปิดงานเฉพาะสมาชิกสหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ ประเทศไทย รวม 44 คน ทำให้พนักงานกลุ่มนี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงไม่ได้รับค่าจ้างมาตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2556 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน[1]

 

เป็น 6 เดือนที่นำความกังวลใจมาสู่สมาชิกสหภาพแรงงานฯดังกล่าวอย่างยิ่ง เพราะในฐานะความเป็นผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ได้ระบุไว้ว่า “เมื่อผู้ประกันตนสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (ลาออก) สามารถใช้สิทธิประกันสังคมต่อได้อีก 6 เดือน โดยมิต้องเสียค่าใช้จ่าย (กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพและกรณีเสียชีวิต)”

 

แม้ข้อความดังกล่าวนี้ไม่มีคำใดเลยที่เกี่ยวข้องหรือบ่งบอกถึงความเชื่อมโยงกับคำว่า “การปิดงาน” แต่นั้นเองด้วยเพราะการไม่มีคำนิยามที่ชัดเจน ความกังวลจึงทบทวีว่าสุดท้ายแล้วในฐานะผู้ประกันตนที่ถูกนายจ้างปิดงานใกล้ครบ 6 เดือนแล้ว เป็น 6 เดือนที่ยังมาพร้อมกับการยุติส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทั้งในส่วนของลูกจ้างและนายจ้าง คำถามค้างคาใจว่า “พวกเธอยังคงใช้สิทธิประโยชน์ตามมาตรา 33 ได้ต่อไป หรือไม่ อย่างไร และใช้ได้นานเพียงใด?”

 

ก่อนจะคลี่คลายคำถามดังกล่าว เราจักต้องเข้าใจความหมายของคำว่า “การปิดงาน” ร่วมกันก่อนในเบื้องต้นว่า

 

การปิดงาน หมายถึง การที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างเข้าทำงานในโรงงาน เมื่อเกิดข้อพิพาทแรงงาน[2]ที่ไม่สามารถตกลงกันได้ โดยถือเป็นมาตรการที่นายจ้างมักจะนำมาใช้เพื่อต่อรองกับลูกจ้างให้ลูกจ้างยอมรับตามที่นายจ้างเรียกร้อง อีกทั้งยังเป็นการกดดันให้ลูกจ้างยอมถอนข้อเรียกร้องของตน

 

วัตถุประสงค์สำคัญในการปิดงานนั้นก็เพื่อที่จะทำให้ลูกจ้างไม่มีงานทำชั่วคราวและไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งการที่ลูกจ้างไม่มีงานทำชั่วคราวและไม่ได้รับค่าจ้างนั้น จะเป็นมาตรการกดดันทางเศรษฐกิจให้ลูกจ้างยอมตกลงตามที่นายจ้างเรียกร้องหรือยอมถอนข้อเรียกร้องของฝ่ายลูกจ้างไป

 

มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 453/2538 ระบุไว้ว่า "เมื่อมีข้อพิพาทแรงงานระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ไม่ว่าข้อพิพาทนั้นจะเกิดจากฝ่ายใดเป็นฝ่ายยื่นข้อเรียกร้อง ถ้าได้ดำเนินการเจรจาตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว (ในที่นี้หมายถึงตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518) แต่ไม่อาจตกลงกันได้ ถือว่าเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ นายจ้างหรือลูกจ้างย่อมมีสิทธิปิดงานหรือนัดหยุดงานได้แล้วแต่กรณี ไม่ใช่สิทธิเฉพาะฝ่ายที่แจ้งข้อเรียกร้องเท่านั้น"

 

 

อย่างไรก็ตามพบว่ากฎหมายในเรื่องการปิดงานยังขาดความชัดเจนในการนำไปใช้และปฏิบัติ กล่าวคือ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 22 วรรคท้าย ได้กำหนดไว้เพียงว่า “เมื่อมีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้เกิดขึ้น ให้นายจ้างมีสิทธิปิดงานได้”  ข้อความดังกล่าวนี้เองจึงเป็นข้อความที่มี “ปัญหา” เพราะไม่ได้กำหนดถึงสิทธิในการปิดงานของนายจ้างและรูปแบบการปิดงานเอาไว้ว่า จะต้องปิดอย่างไร ปิดได้นานเพียงใด แม้จะเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่านายจ้างจะปิดงานทั้งกิจการหรือปิดงานบางส่วนได้ก็ตาม แต่ก็ยังขาดหลักเกณฑ์ในการคุ้มครองลูกจ้างที่ถูกปิดงานอย่างยิ่ง จากช่องว่างของกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ดังกล่าวนี้เอง จึงทำให้นายจ้างจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะในพื้นที่อุตสาหกรรมภาคตะวันออกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการบีบบังคับหรือกลั่นแกล้งลูกจ้างบ่อยครั้ง

 

 

ผลจากการที่กฎหมายไม่ได้กำหนดสิทธิของลูกจ้างในระหว่างปิดงานเอาไว้ แน่นอนจึงเกิดปัญหาในเรื่องสิทธิต่างๆของลูกจ้างในระหว่างเวลาปิดงานดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในค่าจ้าง สิทธิในสวัสดิการต่างๆ สิทธิในการนับอายุการทำงาน และสิทธิในการขอกลับเข้าทำงานใหม่อีกครั้ง นอกจากนั้นแล้วปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งของกฎหมายฉบับนี้ คือ กฎหมายไม่ได้กำหนดระยะเวลาว่าการปิดงานจะสิ้นสุดเมื่อใด ยิ่งทำให้ส่งผลต่อสิทธิต่างๆของลูกจ้างมากยิ่งขึ้นไปอีก โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์ทดแทนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533

 

ถ้าเรามาพิจารณาคำว่า “การปิดงาน” อย่างละเอียด พบว่า

 

(1) การปิดงาน บางทีก็เรียกว่า การงดการจ้าง (Lock-Out) เพราะเป็นเพียงการที่นายจ้างปฏิเสธไม่ให้ลูกจ้างทำงานชั่วคราว ไม่ใช่การที่นายจ้างปิดกิจการหรือหยุดกิจการแต่อย่างใด การปิดงาน จึงคือ การยุติการจ้างไว้ชั่วคราวเท่านั้นเอง

 

(2) มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4388/2531 และ 862/2529 ระบุไว้ว่า การปิดงานนั้นต้องกระทำเพียงชั่วคราว ชั่วระยะเวลาหนึ่งในระหว่างที่ข้อพิพาทแรงงานยังไม่ยุติเท่านั้น ตราบใดก็ตามที่ข้อพิพาทแรงงานยังคงมีอยู่ เพราะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยังไม่ได้ถอนข้อเรียกร้องของฝ่ายตนหรือยอมรับตามข้อเรียกร้องของอีกฝ่ายหนึ่ง หากปิดงานอย่างถาวรตลอดไปหรือปิดงานหลังจากข้อพิพาทแรงงานยุติลงแล้ว นี้ไม่ใช่การปิดงานตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ และนายจ้างต้องปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลิกจ้าง

 

(3) การปิดงานจึงมีผลทำให้สัญญาจ้างแรงงานระงับลงชั่วคราว แต่ไม่ทำให้สัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลง กล่าวคือ สัญญาจ้างแรงงานยังคงมีอยู่  แต่ชะงักหรือระงับชั่วคราวนั่นเอง เพราะการปิดงานไม่ใช่การลาออกจากงานหรือการบอกเลิกสัญญา และการปิดงานก็มิใช่การบอกเลิกจ้างหรือการบอกเลิกสัญญาจ้างเช่นกัน  ดังนั้นความสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างและลูกจ้างจึงยังคงมีอยู่  สิทธิและผลประโยชน์อื่นยังคงมีอยู่ตามปกติ เพียงแต่ทำให้นิติสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างแรงงานระงับลงหรือหยุดลงชั่วคราว  ซึ่งจะก่อให้เกิดผลทางกฎหมายที่ต้องระงับตามไปด้วย เพียงเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับค่าจ้าง หรือสวัสดิการที่เกี่ยวเนื่องอันเป็นผลมาจากการต้องปฏิบัติหน้าที่หรือดำรงตำแหน่งตามหน้าที่นั้นๆ รวมถึงสิทธิตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 เป็นต้น

 

 

เมื่อการปิดงานมาเกี่ยวเนื่องกับสิทธิตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งมีหลักการในการสร้างหลักประกันให้แก่ลูกจ้างในฐานะผู้ประกันตนในการดำรงชีวิต ตามมาตรา 54 บัญญัติให้ความคุ้มครองผู้ประกันตน 7 กรณี ได้แก่ (1) กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย (2) กรณีคลอดบุตร (3) กรณีทุพพลภาพ (4) กรณีเสียชีวิต (5) กรณีสงเคราะห์บุตร (6) กรณีชราภาพ (7) กรณีว่างงาน

 

 

แต่ในเมื่อความสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างและลูกจ้างยังคงมีอยู่เพราะสัญญาจ้างยังไม่สิ้นสุดลง อีกทั้งตามกฎหมายประกันสังคมแล้วความเป็นผู้ประกันตนจะสิ้นสุดลงก็ต่อเมื่อ (1) ผู้ประกันตนเสียชีวิต กับ (2) ผู้ประกันตนสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง เพียง 2 สาเหตุนี้เท่านั้น ดังนั้นลูกจ้างที่ถูกปิดงานจึงยังคงมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนตามกฎหมายประกันสังคมนี้ทุกประการในตลอดช่วงระยะเวลาของการถูกปิดงาน หากลูกจ้างดังกล่าวได้ปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมาย[3] อีกทั้งการได้รับประโยชน์ทดแทนตามกฎหมายประกันสังคมในกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย หรือกรณีตายนั้นก็เกิดขึ้นเพราะเหตุอื่นที่มิใช่เนื่องมาจากการทำงานให้นายจ้างหรือปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างแต่อย่างใด

 

 

สิทธิประโยชน์ทดแทนที่ลูกจ้างจะยังคงได้รับจากการปิดงานของนายจ้างตามที่กฎหมายประกันสังคมระบุไว้ ได้แก่

 

(1) ลูกจ้างที่ถูกปิดงานย่อมมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันไม่ใช่เนื่องมาจากการทำงาน ก็ต่อเมื่อภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนวันรับบริการทางการแพทย์ ลูกจ้างคนดังกล่าวซึ่งเป็นผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน จะมีสิทธิดังต่อไปนี้ คือ ได้รับบริการทางการแพทย์ ได้ค่าอวัยวะเทียมหรืออุปกรณ์บำบัดรักษาโรคและมีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ ตามเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ในมาตรา 64

 

(2) กรณีลูกจ้างที่ถูกปิดงานประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันไม่ใช่เนื่องจากการทำงานจนถึงขั้นเสียชีวิต ถ้าภายในระยะเวลา 6 เดือนก่อนถึงแก่ความตาย ลูกจ้างดังกล่าวได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 เดือน ลูกจ้างย่อมมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนดังนี้ ได้แก่  เงินสงเคราะห์ซึ่งจ่ายให้แก่ทายาทของลูกจ้างที่ถูกปิดงานซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่ถึงแก่ชีวิต และเงินค่าทำศพซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงกำหนดแต่ต้องไม่น้อยกว่า 100 เท่า ของอัตราสูงสุดของค่าจ้างรายวันตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน หรือประมาณ 30,000 บาท ซึ่งผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทำศพ ได้แก่ บุคคลที่ผู้ประกันตนระบุให้เป็นผู้จัดการทำศพหรือสามี ภรรยา บิดา มารดา หรือบุตรของผู้ประกันตนซึ่งมีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้จัดการทำศพผู้ประกันตน

 

(3) ประโยชน์ทดแทนอันเนื่องมาจากทุพพลภาพอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ลูกจ้างที่ถูกปิดงานจะได้รับประโยชน์ทดแทนก็ต่อเมื่อภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนทุพพลภาพ ลูกจ้างได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน โดยลูกจ้างดังกล่าวจะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนดังนี้ คือ การได้รับบริการทางการแพทย์ การได้อุปกรณ์อวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษา ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย จิตใจ และอาชีพ และมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์กรณีเสียชีวิต และกรณีที่ลูกจ้างที่ถูกปิดงานดังกล่าวมิได้ทุพพลภาพเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง ลูกจ้างยังมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากการขาดรายได้ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างตามมาตรา 57 ตลอดชีวิต

 

(4) ประโยชน์ทดแทนอันเนื่องมาจากการคลอดบุตรสำหรับตนเองหรือภรรยา หรือหญิงซึ่งอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยากับลูกจ้างดังกล่าวโดยเปิดเผยตามระเบียบที่เลขาธิการกำหนด ทั้งนี้ต่อเมื่อภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนวันรับบริการทางการแพทย์ ลูกจ้างดังกล่าวได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 7 เดือน โดยประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรให้ลูกจ้างที่ถูกปิดงานซึ่งเป็นผู้ประกันตนแต่ละคน มีสิทธิได้รับไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 13,000 บาท กรณีลูกจ้างเป็นผู้ชาย จะไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานจากการคลอดบุตร แต่ถ้าเป็นผู้หญิงยังคงได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรตามที่กฎหมายกำหนด คือ ร้อยละ 50 ของค่าจ้างตามมาตรา 57 เป็นเวลา 90 วัน สิทธิในประโยชน์ทดแทน ได้แก่ ค่าตรวจและรับฝากครรภ์ ค่าบำบัดทางการแพทย์ ค่ายาและค่าเวชภัณฑ์ ค่าทำคลอด ค่ารักษาพยาบาลทารกแรกเกิดและบริการอื่นที่จำเป็น

 

(5) ประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร ลูกจ้างที่ถูกปิดงานจะมีสิทธิได้รับเงินก็ต่อเมื่อเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย  ทั้งนี้อายุบุตรที่มีสิทธิได้รับการสงเคราะห์ไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์ เหมาจ่ายเดือนละ 400 บาทต่อบุตรหนึ่งคน คราวละไม่เกิน 2 คน

 

(6) ประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ ในกรณีที่ลูกจ้างถูกปิดงานซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน ให้มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพตั้งแต่เดือนถัดจากเดือนที่อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ เว้นแต่เมื่อมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์และความเป็นผู้ประกันตนยังไม่สิ้นสุดลง ในกรณีที่ลูกจ้างจ่ายเงินไม่ครบ 180 เดือนและความเป็นผู้ประกันตนได้สิ้นสุดลง ให้ลูกจ้างนั้นมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ

 

(7) ประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน สำหรับประโยชน์ทดแทนในข้อนี้ ลูกจ้างที่ถูกปิดงานย่อมไม่มีสิทธิได้รับอย่างแน่นอน เนื่องจากสัญญาจ้างแรงงานระหว่างนายจ้างและลูกจ้างยังไม่สิ้นสุด ลูกจ้างจึงสามารถได้รับเงินดังกล่าวนี้

 

 

ข้อสังเกตสำคัญต่อกฎหมายฉบับนี้ในกรณีเฉพาะสิทธิประโยชน์การว่างงานนั้น โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายประกันสังคมกรณีว่างงานนั้นต้องการจะเยียวยาผู้ประกันตนที่ต้องสูญเสียรายได้เนื่องจากการจ้างงาน โดยที่การว่างงานนั้นไม่ได้อยู่ภายใต้พฤติการณ์ที่อยู่ภายใต้ความควบคุมของลูกจ้าง ซึ่งในกรณีที่นายจ้างปิดงานแม้ทั้ง 2 ฝ่ายยังคงผูกพันเป็นนายจ้างและลูกจ้างกันอยู่ก็ตาม แต่ในระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว ลูกจ้างจะไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งจะเป็นการสูญเสียรายได้โดยไม่อาจจะรู้ได้ว่าจะเป็นระยะเวลายาวนานเพียงใด ซึ่งในกรณีดังกล่าวลูกจ้างจะได้รับความเดือดร้อนอย่างมากจากการขาดรายได้ในการจุุนเจือครอบครัว แต่บทบัญญัติในมาตรา 5 นี้ ไม่ได้นิยามครอบคลุมถึงกรณีการปิดงานไว้ จึงย่อมไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองการไม่มีค่าจ้างของลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตน

 

 

ดังนั้นโดยสรุป ลูกจ้างที่ถูกปิดงานจึงมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนจากกฎหมายประกันสังคมดังที่กล่าวมาทุกประการ เนื่องจากนิติสัมพันธ์ระหว่างความเป็นลูกจ้างกับนายจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานยังคงอยู่ และหากลูกจ้างดังกล่าวได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายประกันสังคมกำหนดแล้ว ลูกจ้างดังกล่าวย่อมมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนตามกฎหมายประกันสังคมในระหว่างปิดงานได้ รวมทั้งในบางกรณีที่ลูกจ้างได้สิ้นความสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างงานแรงงานเพราะถึงแก่ความตาย แต่หากเข้าหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายประกันสังคมกำหนด ตัวลูกจ้างดังกล่าวเองหรือผู้มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนที่ลูกจ้างนั้นระบุไว้ ก็ย่อมมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนตามกฎหมายประกันสังคมดังกล่าวเช่นเดียวกัน

 

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์

17 เมษายน 2557

 

[1] สามารถอ่านเรื่องราวของสหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ ประเทศไทย อย่างละเอียดได้ที่ http://paankanchanadith.blogspot.com/2014/01/blog-post.html

 

[2] ข้อพิพาทแรงงาน หมายถึง ข้อขัดแย้งหรือความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันที่เกี่ยวข้องกับสภาพการจ้าง ระหว่างบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไปในระบบแรงงานสัมพันธ์ ในที่นี้ คือ ระหว่างนายจ้างหรือองค์กรของฝ่ายนายจ้าง กับลูกจ้างหรือองค์กรของฝ่ายลูกจ้าง ข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้นได้ 2 กรณี คือ (1) กรณีที่มีการยื่นข้อเรียกร้องและไม่มีการเจรจากันภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด คือ ภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับข้อเรียกร้อง (2) กรณีที่มีการยื่นข้อเรียกร้องและมีการเจรจากันแล้วแต่ไม่อาจตกลงกันได้ (โดยส่วนใหญ่มักเป็นลักษณะนี้)

 

[3] จากการหารือโดยส่วนตัวกับอดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ,ประกันสังคมจังหวัดขอนแก่น และนักกฎหมายด้านแรงงานบางท่าน



18/Apr/2014

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา