ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

“จ้างเหมาบริการ” ในหน่วยงานราชการ ถือว่าเป็น "สัญญาจ้างแรงงาน" หากมิได้คำนึงถึงผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ และต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของหัวหน้า

“จ้างเหมาบริการ” เป็นสัญญาจ้างแรงงาน หรือไม่ ?
โดย นายปกครอง


พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๕ ได้นิยาม “นายจ้าง” “ลูกจ้าง” ไว้โดยมีนิติสัมพันธ์ในลักษณะทำนองเดียวกับ “สัญญาจ้างแรงงาน” ตามมาตรา ๕๗๕ และมาตรา ๕๘๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์


อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายจะบัญญัตินิยามที่มีความหมายเพียงพอจะวินิจฉัยได้ แต่ในทางปฏิบัติยังมีการกำหนดรายละเอียดหรือสภาพการจ้างงานหลากหลายลักษณะ ดังเช่น กรณีที่หน่วยงานราชการตกลงจ้างพนักงาน (ลูกจ้าง) โดยการทำ “สัญญาจ้างเหมาบริการ” กับบุคคลภายนอกโดยเบิกจ่ายค่าตอบแทน จากหมวดค่าตอบแทน ใช้สอยและวัสดุ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๓๕


ถือว่าเป็น ลูกจ้าง นายจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน ที่อยู่ในบังคับตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ หรือไม่ ?


ดังเช่นอุทาหรณ์ที่จะนำมาเล่าในคอลัมน์ “รอบรู้กฎหมาย” ฉบับนี้ เป็นกรณีที่ส่วนราชการ ทำสัญญาจ้างเหมาบริการ นาย ก. ให้ทำหน้าที่ขับรถยนต์ ดูแลทำความสะอาดรถยนต์ ค้นหาแฟ้มเอกสาร ถ่ายเอกสาร จัดเตรียมเอกสาร พิมพ์ทะเบียนพาณิชย์และงานอื่น ๆ โดยจ่ายค่าจ้างแบบเหมาจ่าย แบ่งจ่ายเป็นงวดโดยนาย ก. ต้องส่งมอบงานให้ผู้ว่าจ้างตรวจรับงาน


นาย ก. เห็นว่า สัญญาจ้างเหมาบริการดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงาน เนื่องจากมิได้คำนึงถึงผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ ไม่มีการตรวจรับงานที่ทำ ต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของหัวหน้า ทำให้ตนไม่รับความคุ้มครองจากกองทุนประกันสังคม เป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย


จึงยื่นฟ้องส่วนราชการ (ผู้ว่าจ้างตามสัญญา) ขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่โดยดำเนินการให้ผู้ฟ้องคดีได้รับสิทธิประโยชน์ในฐานะลูกจ้างตามกฎหมายประกันสังคม


คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครอง เนื่องจากเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับ การที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเลยต่อหน้าที่ ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒


ส่วนราชการ (ผู้ว่าจ้างตามสัญญา) ละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายในการจัดให้นาย ก. ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายประกันสังคม จากการจ้างนาย ก. ตามสัญญาดังกล่าวหรือไม่ ?


ประเด็นที่ว่า สัญญาจ้างเหมาบริการดังกล่าว มีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงานหรือสัญญาจ้างทำของ

 

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า มาตรา ๕๗๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดสาระสำคัญของการจ้างแรงงานว่า เป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ให้ลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้าง และนายจ้าง ตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงานให้ ผลสำเร็จของงานจึงไม่เป็นสาระสำคัญในการจ่ายค่าจ้าง และระหว่างการทำงานนายจ้างมีอำนาจสั่งการหรือบังคับบัญชาลูกจ้างได้

 

ส่วนการจ้างทำของตามมาตรา ๕๘๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ให้ผู้รับจ้างทำการงานสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้แก่ ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแก่การงานที่ทำนั้น ผลสำเร็จของการงานที่รับจ้างจึงเป็นสาระสำคัญในการรับสินจ้าง และระหว่างทำงานผู้ว่าจ้างไม่มีอำนาจสั่งการหรือบังคับบัญชาได้


ตามสัญญาจ้างเหมาบริการ นาย ก. จะต้องปฏิบัติงานขับรถยนต์ ยังต้องปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่ผู้แทนของส่วนราชการ (ผู้ว่าจ้างตามสัญญา) มอบหมาย โดยได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือนทุกวันสิ้นเดือน แต่การจ่ายค่าจ้างในการทำงานมิใช่เพียงเพื่อผลสำเร็จของการงานที่ทำ คือ การขับรถยนต์เท่านั้น แต่เป็นการจ่ายค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ไม่ว่าจะเป็นงานในหน้าที่ใด

 

โดย นาย ก. ต้องมาปฏิบัติงานตามวันเวลาราชการ และต้องปฏิบัติงานภายใต้การบังคับบัญชาของผู้แทนของส่วนราชการ (ผู้ว่าจ้างตามสัญญา) หาใช่เป็นการปฏิบัติงานโดยมีอิสระเพียงเพื่อให้ได้ผลสำเร็จของงานเท่านั้น ทั้งข้อเท็จจริงมิได้มีการตรวจรับงาน


สัญญาจ้างเหมาบริการดังกล่าว จึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานไม่ใช่เป็นสัญญาจ้างทำของ และเมื่อเป็นสัญญาจ้างแรงงาน นิติสัมพันธ์ระหว่างนาย ก. กับส่วนราชการ (ผู้ว่าจ้างตามสัญญา) จึงเป็น นิติสัมพันธ์ในฐานะลูกจ้างกับนายจ้างตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓


ดังนั้น การที่ส่วนราชการไม่ได้ขึ้นทะเบียนลูกจ้างเพื่อให้นาย ก. มีสิทธิได้รับประโยชน์ ทดแทนจากกองทุนประกันสังคมตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติกรณีดังกล่าว (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๓๔๙/๒๕๕๖)


คดีนี้ถือเป็นประโยชน์ทั้งต่อหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ นายจ้างและลูกจ้าง ในการพิจารณาสัญญาหรือข้อตกลงว่า เป็นสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่นั้น แม้จะกำหนดชื่อสัญญา ว่าเป็น “สัญญาจ้างเหมาบริการ” หรือฝ่ายลูกจ้างจะลงชื่อตามที่ระบุไว้ในสัญญาในฐานะเป็นผู้รับจ้างหรือฝ่ายนายจ้างจะลงชื่อระบุว่าเป็นผู้ว่าจ้างก็ตาม ในการพิจารณานิติสัมพันธ์ที่แท้จริงจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดขึ้น

 

หากสภาพการจ้างเป็นไปในลักษณะการจ้างงานตามสาระสำคัญมาตรา ๕๗๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่กล่าวข้างต้น ถือเป็น นายจ้าง ลูกจ้างที่ต้องได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายประกันสังคมทั้งสิ้น

 

และอาจกล่าวได้ว่า “สัญญาจ้างเหมาบริการ” มีลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของอำพรางสัญญาจ้างแรงงานอันเป็นนิติสัมพันธ์ที่แท้จริง

 

โดยผู้สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากคำพิพากษา ศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๕๓๑/๒๕๕๗ ซึ่งวินิจฉัยไว้ทำนองเดียวกัน .... ครับ !!



22/May/2018

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา