ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

บิ๊กตู่ใช้ ม.44 สั่งผู้โดยสารรถยนต์ต้องรัดเข็มขัดนิรภัย -ไม่จ่ายค่าปรับ โดนฟ้องศาล มติชนออนไลน์ 23 มีค.60

วันที่ 21 มีนาคม ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2560 เรื่องมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก โดยที่ปัจจุบันมีผู้ขับขี่รถหรือเจ้าของรถที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกจํานวนมาก โดยมีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงและเพิกเฉยต่อการบังคับใช้ทางกฎหมาย ซ้ำยังปรากฏว่ามีการกระทําความผิดดังกล่าวซ้ำอีกในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งความสงบเรียบร้อยของประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน จึงจําเป็นต้องปรับปรุงกลไกและกําหนดมาตรการทางกฎหมายเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย อันเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูประบบการคมนาคมขนส่งและความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม

 

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่งดังต่อไปนี้

 

ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในวรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ ของมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2535 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

 

“เจ้าพนักงานจราจร หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ภายใต้การควบคุมดูแลของบุคคลดังกล่าว มีอํานาจเคลื่อนย้ายรถที่หยุดหรือจอดอยู่อันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือใช้เครื่องมือบังคับไม่ให้เคลื่อนย้ายรถดังกล่าวได้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติกําหนด การเคลื่อนย้ายรถหรือใช้เครื่องมือบังคับให้รถที่หยุดหรือจอดอยู่ไม่ให้เคลื่อนย้ายได้ตามวรรคสอง เจ้าพนักงานจราจร หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ไม่ต้องรับผิดสําหรับความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามมาตรานี้ เว้นแต่ความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นจากการกระทําโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ เจ้าของรถหรือผู้ขับขี่ต้องชําระค่าใช้จ่ายในการที่รถถูกเคลื่อนย้ายหรือการใช้เครื่องมือบังคับไม่ให้เคลื่อนย้าย ตลอดจนค่าดูแลรักษารถระหว่างที่อยู่ในความครอบครองของเจ้าพนักงานจราจร หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ ตามอัตราที่กําหนดในกฎกระทรวง”

 

ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2538 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

 

“ผู้ขับขี่รถยนต์ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งในขณะขับขี่รถยนต์ และต้องจัดให้คนโดยสารรถยนต์รัดร่างกายไว้กับที่นั่งด้วยเข็มขัดนิรภัยขณะโดยสารรถยนต์ และคนโดยสารรถยนต์ดังกล่าวต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งในขณะโดยสารรถยนต์ด้วย”

 

ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 141 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2535 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา 141/1 ในกรณีที่ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถซึ่งได้รับใบสั่งไม่ปฏิบัติตามมาตรา 141 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่และนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก มีหน้าที่และอํานาจ ดังต่อไปนี้

 

(1) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตําแหน่งตั้งแต่สารวัตรขึ้นไปมีหนังสือแจ้งการไม่ปฏิบัติตามใบสั่งและจํานวนค่าปรับที่ค้างชําระให้ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ครบกําหนดชําระค่าปรับตามที่ระบุในใบสั่ง และให้ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถทําการชําระค่าปรับที่ค้างชําระด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามมาตรา 141 ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง การแจ้งตามวรรคหนึ่ง ให้ทําเป็นหนังสือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับให้ผู้ขับขี่ หรือเจ้าของรถ แล้วแต่กรณี ณ ภูมิลําเนาของผู้นั้น ทั้งนี้ ตามแบบที่ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติกําหนด และให้ถือว่าผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถได้รับแจ้งเมื่อพ้นกําหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ส่ง

 

(2) ในกรณีที่ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถคันใดไม่ชําระค่าปรับตาม (1) ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้

 

(ก) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งจํานวนค่าปรับที่ค้างชําระพร้อมหลักฐานตาม (1) ไปยังนายทะเบียน และให้นายทะเบียนตรวจสอบข้อมูลและแจ้งให้ผู้มาติดต่อขอชําระภาษีประจําปีสําหรับรถคันนั้นทราบ เพื่อไปชําระค่าปรับที่ค้างชําระภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ถ้าผู้มาติดต่อขอชําระภาษีประจําปีเป็นเพียงตัวแทนเจ้าของรถ ให้ผู้มาติดต่อแจ้งให้เจ้าของรถทราบเพื่อไปชําระค่าปรับภายในระยะเวลาดังกล่าว ในการนี้ให้นายทะเบียนรับชําระภาษีประจําปีสําหรับรถคันนั้นไว้โดยออกหลักฐานชั่วคราวแทนการออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจําปีให้เจ้าของรถหรือตัวแทนเจ้าของรถแทน หลักฐานชั่วคราวตามวรรคหนึ่งให้ใช้แทนเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจําปีโดยให้มีอายุสามสิบวันนับแต่วันที่นายทะเบียนได้ออกให้

 

(ข) ในกรณีที่เจ้าของรถได้ชําระค่าปรับที่ค้างชําระครบถ้วนภายในระยะเวลาตามที่กําหนด ใน (ก) ให้เจ้าของรถหรือตัวแทนเจ้าของรถนําหลักฐานแสดงการชําระค่าปรับที่ได้รับจากพนักงานเจ้าหน้าที่ มาแสดงต่อนายทะเบียนเพื่อให้ออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจําปีสําหรับรถคันนั้น

 

(ค) ในกรณีที่เจ้าของรถหรือตัวแทนเจ้าของรถที่ได้รับหนังสือแจ้งตาม (ก) ประสงค์จะชําระค่าปรับในวันที่มาติดต่อขอชําระภาษีประจําปี ให้นายทะเบียนมีอํานาจรับชําระค่าปรับตามจํานวนที่ค้างชําระแทนได้ โดยให้นายทะเบียนรับชําระภาษีประจําปีสําหรับรถคันนั้นและออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจําปีให้เจ้าของรถหรือตัวแทนเจ้าของรถ


(ง) ในกรณีที่เจ้าของรถไม่ชําระค่าปรับที่ค้างชําระหรือชําระไม่ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กําหนดใน (ก) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งนายทะเบียนให้งดการออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจําปีสําหรับรถคันนั้น และแจ้งให้พนักงานสอบสวนดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจต่อไป ในกรณีที่ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถผู้ใดเห็นว่า ตนมิได้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับรถนั้น ให้ทําหนังสือโต้แย้งข้อกล่าวหานั้นภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากนายทะเบียนตาม (ก) ส่งไปยังสถานที่ที่ระบุไว้ในใบสั่งหรือสถานที่ที่ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ การทําหนังสือโต้แย้งให้ใช้วิธีส่งทางไปรษณีย์ตอบรับหรือสํานักงานตํารวจแห่งชาติจะกําหนดวิธีการอื่นใดด้วยก็ได้

 

เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานจราจรได้รับหนังสือโต้แย้งตามวรรคสอง หากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานจราจรยังคงยืนยันและเห็นสมควรดําเนินคดีต่อผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถผู้นั้น ให้ส่งเรื่องไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดําเนินการฟ้องต่อศาลต่อไป แล้วแจ้งผลให้ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถทราบ เมื่อได้มีการชําระค่าปรับครบถ้วนถูกต้องแล้ว ให้คดีเป็นอันเลิกกัน และในกรณีที่มีการเรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่ไว้ ให้ผู้ขับขี่นําหลักฐานการชําระค่าปรับไปขอรับใบอนุญาตขับขี่คืนจากพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้เรียกเก็บ ทั้งนี้ ในระหว่างที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตขับขี่คืน ให้ถือว่าหลักฐานแสดงการชําระค่าปรับเป็นใบแทนใบอนุญาตขับขี่มีกําหนดสิบวันนับแต่วันที่ชําระค่าปรับ การรับชําระและการนําส่งเงินค่าปรับให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่สํานักงานตํารวจแห่งชาติและกรมการขนส่งทางบกกําหนด

 

เงินที่ได้รับตามวรรคหนึ่ง (2) (ก) ให้อธิบดีกรมการขนส่งทางบกหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย หักไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บหรือค่าใช้จ่ายในการดําเนินงานในอัตราร้อยละห้าของจํานวนเงินที่ได้รับ โดยให้นําไปใช้จ่ายได้เช่นเดียวกับเงินงบประมาณตามระเบียบที่อธิบดีกรมการขนส่งทางบกกําหนด ส่วนเงินที่เหลือให้นําส่งสํานักงานตํารวจแห่งชาติ การดําเนินการใดๆ ของพนักงานเจ้าหน้าที่และนายทะเบียนตามมาตรานี้ สามารถใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่นใดตามที่สํานักงานตํารวจแห่งชาติและกรมการขนส่งทางบกกําหนด”

 

ข้อ 4 บทบัญญัติในมาตรา 141/1 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคําสั่งนี้ มิให้ใช้บังคับกับใบสั่งที่เจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ออกให้ ก่อนวันที่คําสั่งนี้ใช้บังคับ โดยให้นําบทบัญญัติในมาตรา 141 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2535 ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่คําสั่งนี้ใช้บังคับ มาใช้บังคับกับใบสั่งดังกล่าว

 

ข้อ 5 ในกรณีเห็นสมควรนายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีอาจเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแก้ไขเปลี่ยนแปลงคําสั่งนี้ได้

 

ข้อ 6 คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป


สั่ง ณ วันที่ 21 มีนาคม พุทธศักราช 2560

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ



23/Mar/2017

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา