ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

จ้างงานเผชิญจุดเปลี่ยน ธุรกิจดึงเทคโนโลยีทดแทนคน , กรุงเทพธุรกิจ 2 ธันวาคม 2562

"เอกชน" ชี้ปมสงครามการค้า-บาทแข็ง ทำธุรกิจซบ ส่งผลลดโอที-โบนัส ปัดยังไม่มีแผนเลิกจ้าง เหตุสังคมสูงวัยทำไทยยังขาดแรงงาน ส่งผลธุรกิจเบนเข็มดึงระบบอัตโนมัติร่วมกระบวนการผลิตลดพึ่งพาแรงงาน "อุตฯอิเล็กทรอนิกส์" แนะเสริมทักษะหวังพ้นภาวะเสี่ยงตกงาน 


ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า โดยเฉพาะการส่งออกที่ติดลบอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยเศรษฐกิจโลกซบเซา ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว แต่ขณะนี้เรื่องไกลตัวที่ว่ากำลังจะกลายเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เม็ดเงินในกระเป๋าคนไทยลดลง อันเป็นผลจากการจ้างงานที่ชะลอตัว


นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า สงครามการค้าและเงินบาทแข็ง ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกต้องยอมขายขาดทุน เพื่อรักษาตลาด หากรายใดมีสายป่านยาวจะปรับตัวด้วยการลดรายจ่ายให้มากที่สุด โดยเริ่มตั้งแต่ลดโอที ลดเวลาการทำงาน แต่ถ้ากลุ่มสายป่านสั้น หากปีหน้าสงครามการค้าลดความรุนแรง และค่าเงินบาทอ่อนตัวก็ยังพอไปได้ แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้นก็อาจจะต้องปิดกิจการ

 

"ปีนี้การปิดตัวไม่น่าจะเกิน 5% จากจำนวนกว่า 1 หมื่นราย ซึ่งถือว่าน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นรายเล็กๆ แต่หากในปี 2563 สถานการณ์การค้าโลกไม่ดีขึ้น และค่าเงินบาทยังแข็งค่า ก็มีโอกาสที่จะปิดตัวถึง 10%"

 

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมประเทศไทยยังคงอยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงาน และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น ดังนั้นจึงใช้เวลาในช่วงนี้นำเข้าเครื่องจักรอัตโนมัติ เพื่อลดการพึ่งพาแรงงาน

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% จากระดับ 0.8% ไปเป็น 1% จำนวนคนว่างงาน 3-4 แสนคน ยังถือว่าไม่มาก

 

"รายได้ของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะอยู่ที่โอที หากโอทีลดไป รายได้ก็จะลดลง รวมทั้งเมื่อบริษัทไม่มีกำไรก็จะไม่มีโบนัส และขึ้นเงินเดือน ซึ่งเป็นสถานการณ์ของโรงงานส่วนใหญ่ มีโรงงานเพียงส่วนน้อยที่ยังมีกำไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะคลี่คลายได้ก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจโลกดีขึ้น"

 

ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ยังคงคาดว่าเศรษฐกิจโลกยังคงซบเซา ปัญหาสงครามการค้ายังคงยืดเยื้อไปจนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในเดือนพ.ย. ปี 2563 ซึ่งจะต้องจับตาว่านโยบายของสหรัฐจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด


นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ขณะนี้ไทยยังจ้างงานต่างด้าวที่สูงมาก และแรงงานไทยก็หันไปเป็นฟรีแลนซ์มากขึ้น ส่วนตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติก็ระบุว่า รายได้แรงงานไม่ลดลงและรายได้ครัวเรือนสูงขึ้น ดังนั้นจึงมองว่าสถานการณ์ว่างงานในขณะนี้ยังไม่ส่งผลกระทบที่รุนแรง อัตราการว่างงานไม่เกิน 1% ยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก และยังมีการจ้างงานใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่าเยอะ

 

สำหรับตัวเลขของการปิดโรงงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่ายอดรวมการปิดโรงงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-14 พ.ย.2562 มีโรงงานที่ขอปิดกิจการทั้งสิ้น 1,416 โรง กระทบแรงงาน 36,068 คน ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ปกติเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่มีจำนวนปิดโรงงาน 1,804 โรง กระทบแรงงาน 36,386 คน 


คาดว่าหากนับจำนวนจนครบปี 2562 ยอดการปิดโรงงานก็ไม่น่าจะมากกว่าในปีก่อน และเมื่อเทียบกับปี 2560 มียอดปิดโรงงาน 1,330 โรง กระทบแรงงาน 38,901 คน ซึ่งเห็นได้ชัดว่ายอดการปิดโรงงาน และการตกงานในช่วง 3 ปี ไม่ได้มีเพิ่มมากจนผิดปกติ โดยการปิดโรงงานที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องปกติของภาวะการดำเนินธุรกิจที่จะต้องมีทั้งโรงงานที่เปิดใหม่ และโรงงานที่ปิดกิจการ

 

ในส่วนของตัวเลขการขอเปิดกิจการ ซึ่งเป็นตัวสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจที่สำคัญ พบว่าในปี 2562 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-21 พ.ย.2562 มีผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตเปิดโรงงานใหม่ และขยายโรงงานรวม 3,950 โรง มีการจ้างงานใหม่ 178,733 คน และมูลค่าลงทุนรวม 445,025 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2561 ที่มีโรงงานเปิดใหม่และขยายกิจการจำนวน 4,561 โรง มีการจ้างงาน 178,612 คน และมีมูลค่าการลงทุน 318,701 ล้านบาท 

 

คาดว่าเมื่อรวมยอดจนถึงสิ้นปี 2562 ตัวเลขการเปิดโรงงานและขยายกิจการน่าจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา และหากเปรียบเทียบไปจนถึงปี 2560 จะพบว่ามีโรงงานที่เปิดใหม่และขยายกิจการรวม 4,540 โรง มีการจ้างงาน 179,596 คน มีมูลค่าการลงทุน 437,802 ล้านบาท ก็ยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน

 

ภาคอิเล็กทรอนิกส์การจ้างงานลด 10%


นายสัมพันธ์ ศิลปนาฎ นายกสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ กล่าวถึงภาพรวมตลาดแรงงานในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ โดยยืนยันว่า ปัจจุบันกลุ่มผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ในไทยยัง "ไม่มีแผนปรับลดคน" แต่ยอมรับว่า ภาพรวมการจ้างงานในภาคอิเล็กทรอนิกส์ลดลงแล้วราว 9-10% และไม่มีการทดแทนแรงงานเดิม แต่จะมุ่งจ้างกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมและนักเทคนิคขั้นสูงเพื่อเข้ามารองรับภาคอุตสาหกรรมนี้แทน


"มีการนำเอาระบบออโตเมชั่นเข้ามาในกระบวนการผลิตมากขึ้น ทำให้ใช้คนน้อยลง แต่จะมีกระทบอยู่เรื่องเดียว คือ โอทีของพนักงานในส่วนหน้า คือ ส่วนเดินสายการผลิต หรือ Front Line ที่จะไม่มีโอที เพราะเทรดวอร์ในภาคอิเล็กทรอนิกส์ส่งผลให้มีชะลอคำสั่งซื้อลง"

 

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการด้านอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในสมาคมมากกว่า 30 บริษัท ก็มีการมอนิเตอร์สถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และเตรียมมาตรการรับมือ ซึ่งส่วนใหญ่จะนำระบบออโตเมชั่น โรบ็อท ซึ่งเข้ามาในสายการผลิตแล้วราว 70-80% จากปกติต้องใช้พนักงาน 20 คน ก็จะเหลือพนักงานเพียงแค่ 1-2 คนเท่านั้น

 

อิเล็กทรอนิกส์ คือปัจจัยสำคัญสำหรับโลกยุคนี้ เพราะผลิตภัณฑ์หรือสินค้าต่างๆ ต้องใช้อิเล็กทรอนิกส์ทั้งนั้น เพียงแต่ปีนี้อาจมีข่าวลบเยอะ โดยเฉพาะเทรดวอร์ ซึ่งก็ยอมรับว่ามีส่วนกระทบ เกิดการชะลอการผลิต/บริโภค มีความไม่แน่นอน ซึ่งก็ต้องพัฒนาคนในภาคอุตสาหกรรมนี้ให้มีสกิลที่ดีขึ้นให้เขามีทักษะติดตัว

 

แรงงานอิเล็กทรอนิกส์ชีวิตดีขึ้น 3% 


อย่างไรก็ตาม ไทยยังถือเป็นฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ ทั้งซีเกท และดับบลิวดี ต่างย้ายฐานมาอยู่ไทย โดยเฉพาะดับบลิวดีปิดโรงงานทุกประเทศมาอยู่ไทยทั้งหมด

 

ปัจจุบันภาคอิเล็กทรอนิกส์มีแผนรับความเสี่ยงจากเทรดวอร์ และวิกฤติส่งออก โดยเน้นการใช้วัสดุคงคลังและปรับลดสต็อกลง รวมถึงมาตรการรับมือความเสี่ยงอื่นๆ จากคำสั่งซื้อที่ชะลอตัวลง


"แม้แนวโน้มการจ้างงานในภาคอิเล็กทรอนิกส์จะลดลง แต่ก็มีจ้างงานเพื่อทดแทนคนเก่า แต่มุ่งเน้นช่างเทคนิคสมัยใหม่ และที่สำคัญผมยืนยันว่าแรงงานภาคอิเล็กทรอนิกส์มีความอยู่ดีกินดีเพิ่มขึ้น 3%"


ขณะเดียวกันภาคอิเล็กทรอนิกส์ปัจจุบันยังได้มีแผนพัฒนาแรงงานให้มีคุณภาพระดับเวิลด์คลาสสู่อุตสาหกรรม รับมือการเปลี่ยนงานจะไปทำงานที่ไหนก็ได้ในโลก คนเหล่านี้จะไม่ตกงานเพราะในอุตสาหกรรมต่างๆ มีอิเล็กทรอนิกส์เข้าไปเกี่ยวข้อง



03/Dec/2019

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา