ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

10 ตุลาคม 2564 : ผ่าทางตัน “แรงงานถูกเลิกจ้าง” ยื่นรัฐ 5 ข้อ สร้างหลักประกันความเสี่ยง , ประชาชาติธุรกิจ

เวทีเสวนาออนไลน์ “วิกฤตแรงงานถูกเลิกจ้าง VS กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง” จัดขึ้นวันที่ 7 ต.ค. 2564 “วันงานที่มีคุณค่าสากล” (International Day on Decent Work)


วันสำคัญที่แรงงานทั่วประเทศรณรงค์เรียกร้องเพื่อการจ้างงานที่มั่นคง ซึ่งแรงงานแถวหน้าร่วมแลกเปลี่ยนสถานการณ์แรงงานแต่ละประเภท และปัญหาการถูกเลิกจ้างจากวิกฤตโควิด-19


การจ้างงานไม่มั่นคง


นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย และคณะที่ปรึกษา รมว.แรงงาน กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2563 กลุ่มลูกจ้างแรงงานจำนวนมากได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมภาคบริการ โรงแรม ซึ่งมีพนักงานบริการ มัคคุเทศก์หลายล้านคนตกงาน แม้รัฐจะผลักดันเปิดประเทศ จากภูเก็ตแซนด์บอกซ์สู่พื้นที่อื่น ๆเช่น กรุงเทพฯ จะเปิด 1 พ.ย.นี้ ขณะที่มาตรการช่วยเหลือเยียวยาแม้มีหลายโครงการ แต่ส่วนใหญ่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

 

อุตสาหกรรมสิ่งทอก็มีปัญหาหนัก ไม่มีความยั่งยืนด้านการจ้างงาน เป็นการจ้างรายวัน หรือตามค่าแรงขั้นต่ำ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นนายทุนข้ามชาติ เข้ามาลงทุนในไทยแบบกระเป๋าใบเดียว

 

พร้อม know-how การเย็บผ้า จากนั้นเช่าโกดังตั้งโรงงาน โดยไม่ต้องมีทุนจดทะเบียนมาก เมื่อเกิดปัญหาก็ย้ายฐานผลิตไปประเทศอื่น ทิ้งผู้บริหารไทยที่ไม่ใช่เจ้าของจริง ๆ โดนฟ้อง ขณะที่แรงงานไทยเผชิญปัญหาตกงาน สูญเสียรายได้

 

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์หลายบริษัทย้ายฐานผลิตไปประเทศอื่น อุตสาหกรรมยานยนต์แม้ยังลงทุนเหนียวแน่นในไทยแต่ต้องเน้นส่งออก ซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงในการทำงาน

 

ตั้งกองทุนประกันเสี่ยง-สำรองเลี้ยงชีพ


“ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับเรื่องนายทุนต่างชาติต้องมีหลักประกันให้ลูกจ้าง ควรให้แต่ละบริษัทมีกองทุนสมทบ กองทุนประกันความเสี่ยง เพื่อให้บริษัทของนายทุน หากปิดโรงงาน จะได้มีเงินจากกองทุนชดเชยให้กับลูกจ้าง”


ปัจจุบันมีแรงงานหลายบริษัทประสบปัญหาในลักษณะนี้และได้ร้องเรียนที่กระทรวงแรงงาน ที่ทำเนียบรัฐบาล เช่นบริษัทแห่งหนึ่งที่ศาลตัดสินให้ลูกจ้างได้รับค่าชดเชย เนื่องจากบริษัทปิดตัว แต่ยังไม่สามารถจ่ายเงินให้ลูกจ้างได้ เนื่องจากบริษัทมีนายทุนข้ามชาติ ไม่มีหลักประกันคุ้มครองลูกจ้าง และมีทรัพย์สินจดทะเบียนเพียง 1 ล้านบาท


“ต้องหาทางออกให้ลูกจ้างมีความมั่นคง เพราะแม้จะมี พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 11/1 ที่แก้ไขเมื่อปี 2550 แต่การบังคับใช้ยังไม่เป็นรูปธรรม ถ้าไม่เร่งแก้ปัญหาก็ไม่จบ”

 

เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ได้เข้าพบ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เพื่อหารือการตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง ช่วยคนที่ต้องออกจากงานให้มีเงินเก็บ และเสนอให้ออกเป็น พ.ร.บ. บังคับให้ผู้ประกอบการทุกรายต้องทำ ไม่ใช่สมัครใจ ทั้งเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ. ให้นายจ้างมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้พนักงานแบบบังคับ และให้ตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ในบริษัท เป็นต้น


“การบังคับใช้กฎหมาย” ปัญหาใหญ่


สำหรับมุมมองฝ่ายนายจ้าง นางสิริวัน ร่มฉัตรทอง เลขาธิการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นักลงทุนจำนวนมากสนใจมาตั้งสถานประกอบการในไทย แต่พอเห็นกฎหมายเกี่ยวกับการลงทุนในไทยแล้วมักกังวลเพราะมีข้อกฎหมายมากมาย ในที่ประชุมระดับอาเซียนครั้งหนึ่งได้เปรียบเทียบกฎหมายคุ้มครองแรงงานทุกประเทศในภูมิภาค ปรากฏว่าไทยมีกฎหมายครอบคลุมทุกหัวข้อ

 

“แม้มีข้อกฎหมายมากมาย แต่ในความเป็นจริง การบังคับใช้กฎหมายบ้านเราอ่อนมาก สิ่งที่ควรแก้ไขไม่ใช่เพิ่มเงื่อนไขเพราะจะเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน เมื่อเทียบในระดับอาเซียน”

 

แต่ควรแก้เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย กลไกการติดตามที่จะทำให้คนเคารพกฎหมาย การสื่อสารให้แรงงานรู้ว่า เขามีสิทธิ์อะไรบ้าง ถ้าบังคับใช้ข้อกฎหมายที่มีอยู่แล้วให้เข้มงวดขึ้น มีกลไกประชาสังคม กลไกลูกจ้าง กลไกภาครัฐที่เอาจริง

 

จะช่วยคัดกรองนักลงทุนที่ดีเข้ามาในไทยได้ ไม่ใช่นักลงทุนที่พร้อมจะออกไปง่าย ๆ เมื่อเกิดปัญหา ทิ้งภาระให้กับคนทำงาน

 

ซึ่งต้องวิเคราะห์ว่า ปัจจัยอะไรที่ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มาแล้วก็ย้ายไป

 

“สมัยนี้สิ่งที่นายจ้างคิดเมื่อทำธุรกิจจะต่างจากสมัยก่อน เมื่อก่อนต้องได้กำไรสูงสุด แต่ตอนนี้ต้องเป็นคอนเซ็ปต์ทำธุรกิจที่ไม่ได้มุ่งกำไรอย่างเดียว ต้องยั่งยืนในการจ้างงาน จะเห็นว่านายจ้างที่รู้ว่าลูกจ้างคือ ทรัพยากรที่มีค่าส่วนใหญ่จะเลือกรักษาลูกจ้างไว้แม้ยามมีวิกฤต เพราะรู้ว่าถ้าธุรกิจกลับมาได้ แต่ไม่มีแรงงานก็จะเดินต่อไปไม่ได้”


ดูแลลูกจ้างสร้างความเข้มแข็งธุรกิจ


นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ให้มุมมองเกี่ยวกับกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง เพื่อสงเคราะห์ลูกจ้างกรณีออกจากงานว่า แม้จะช่วยลูกจ้างที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเลิกจ้าง


และอาจไม่ได้รับการชดเชยตามกฎหมาย ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนช่วงที่ลูกจ้างยังหางานทำไม่ได้ แต่เป็นการช่วยเหลือและแก้ปัญหาที่ปลายน้ำ


ดังนั้น การแก้ปัญหาต้องเริ่มจากการสร้างความเข้มแข็งในการประกอบธุรกิจต้องดูแลลูกจ้างให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งสภาพการจ้าง สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ มีการทำงานอย่างปลอดภัย การประกอบธุรกิจจึงจะอยู่รอดได้ มีศักยภาพในการแข่งขันและช่วยพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ


อย่างไรก็ตาม ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบเศรษฐกิจไทยรุนแรง กระทบลูกจ้างในวงกว้าง มีการเลิกจ้าง และอาจไม่ได้รับชดเชยตามกฎหมาย กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างจึงมีบทบาทสำคัญในการเยียวยาเบื้องต้น นอกเหนือจากเงินจากกองทุนประกันสังคม


ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ย. 2564 มีลูกจ้างถูกเลิกจ้างและขอใช้เงินช่วยเหลือจากกองทุนสงเคราะห์ รวม 2,884 คน คิดเป็นวงเงิน 41 ล้านบาท และคาดการณ์ว่า สิ้นปี 2564 อาจมีลูกจ้างมารับเงินกองทุนสงเคราะห์เพิ่มอีกกว่า 8 ล้านบาท


5 ข้อเรียกร้องด้านแรงงาน


ด้าน นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน และที่ปรึกษา รมว.แรงงาน กล่าวว่า วันที่ 4 ต.ค. คณะที่ปรึกษาด้านแรงงาน คณะทำงานของ รมว.แรงงาน ได้ร่วมหารือกับ รมว.แรงงาน


ก่อนนำข้อเรียกร้องของภาคแรงงานยื่นต่อรัฐบาล 5 ประเด็น คือ 1.ให้จัดตั้งธนาคารแรงงาน หรือธนาคารผู้ประกันตน ที่ผู้ใช้แรงงานได้เรียกร้องมาทุกปี


2.จัดตั้งโรงพยาบาลประกันสังคมหรือสถาบันให้ความรู้/ให้การศึกษาบุตรหลานของผู้ใช้แรงงานเกี่ยวกับการแพทย์


3.จัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง และจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 118 ของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน


4.ให้สถานประกอบการต้องมีระเบียบการเกษียณอายุ 60 ปี จึงบอกเลิกสัญญาจ้างได้ หากละเมิด นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย 400 วัน ซึ่งตอนนี้มีเกือบ 3 หมื่นโรงงานที่ไม่มีคำว่าเกษียณอายุในกฎข้อบังคับ 


5.การงดจ่ายภาษีกรณีได้รับเงินก้อนสุดท้าย เนื่องจากออกจากงาน


“ผมหวังว่าการพูดคุยถึงแนวทางและข้อเสนอแนะ จะเป็นการร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคม ในการพัฒนา ปรับปรุง แก้ไข รูปแบบการบริหารจัดการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ให้ลูกจ้างมีหลักประกันมากขึ้น” นายมนัสกล่าว



26/Oct/2021

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา