ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

ทวงหนี้อย่างไรไม่ให้ติดคุก

ข้าพเจ้าในฐานะอัยการแผ่นดินเคยยื่นฟ้องจำเลยหนุ่มนักเลงคนหนึ่ง ฐานกรรโชกทรัพย์และทำให้ผู้อื่นตกใจกลัว ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 337 และมาตรา 392

จำเลยให้การปฏิเสธสู้คดี

ผู้เสียหายเป็นหญิงอายุ 52 เบิกความต่อศาลได้ความโดยย่อ ดังนี้...

“ฉันมีลูกเล็กๆ 5 คน ยากจนมาก ขายข้างแกงที่ตลาด กู้เงินเขาดอกร้อยละห้าสิบ เก็บดอกรายวัน ข้าวแกงขายดีมาก แต่ไม่มีเงินเหลือเลย เพราะขายได้เท่าไรก็เอาไปให้ค่าดอกหมด วันหนึ่งฉันไม่มีเงินจ่ายค่าดอก เจ้าหนี้มันส่งจำเลยคนนี้มาหาฉัน จำเลยให้ฉันดูปืนที่เอว แล้วบอกว่า ถ้าสามวันไม่ได้ดอก จะให้ฉันกินลูกปืน...” 

ข้าพเจ้า จำได้ว่าคดีนั้น จำเลยติดคุกสองปี พี่น้องดูเอาเถอะ มันขูดเลือดคนจนร้อยละห้าสิบ ยังไม่พอ ยังจะให้ลูกหนี้กินลูกปืนอีก คนพวกนี้ช่างใจดำจริงๆ

เจ้าหนี้บางคนได้ดอกเบี้ยมากๆ ดีใจที่ร่ำรวยถึงกับเอ่ยว่า “ชาติก่อนกูทำบุญไว้เยอะ ชาตินี้กูจึงได้ดอกดี” แต่ข้าพเจ้าว่า “ชาตินี้มึงทำชั่วไว้เยอะ ชาติหน้ามึงจะได้เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน” คนที่ยากจนก็ทุกข์อยู่แล้ว กลับไปซ้ำเติมเพิ่มทุกข์ให้เขาอีก ระวัง... นรกจะกินหัว

ลูกหนี้ ไม่มีเงินใช้หนี้ก็ขู่เข็ญจะฆ่า เที่ยวประกาศโพนทะนาว่าเขาเป็นคนชั่วโกงหนี้โกงสิน ลูกหนี้ต้องหนีตายหรือไม่ก็ฆ่าตัวตายเพื่อหนีหนี้ ด้วยความเอาเปรียบของคนรวยต่อคนจน รัฐบาลจึงได้ออกกฎหมายใหม่เรียกว่า พระราชบัญญัติการทวงหนี้ พ.ศ. 2558 เพื่อเล่นงานเจ้าหนี้หน้าเลือดทั้งหลาย เพื่อประโยชน์แก่ลูกหนี้ผู้ยากจนและเพื่อปราบปรามไม่ให้เจ้าหนี้หน้าเลือด ทั้งหลายกดขี่ข่มเหงลูกหนี้โดยวิธีรุนแรงและไม่เป็นธรรม จึงอยากให้พี่น้องทั้งหลายได้มีความรู้เกี่ยวกับการทวงหนี้ที่อาจติดคุกและไม่ติดคุกไว้เพื่อป้องกันตัว

การทวงหนี้ที่ไม่ติดคุก มีวิธีทวงหนี้ดังนี้

(1) สถานที่ติดต่อลูกหนี้ ให้ติดต่อตามสถานที่ที่ลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อทวงหนี้ ถ้าติดต่อไม่ได้ ให้ติดต่อไปยังภูมิลำเนาถิ่นที่อยู่ สถานที่ทำงาน ไม่ใช่ไปประกาศโฆษณาทวงหนี้ทางหนังสือพิมพ์ให้ลูกหนี้เขาอับอายขายหน้า

(2) เวลาในการติดต่อลูกหนี้ ติดต่อในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 08.00 – 20.00 น. วันหยุดราชการ เวลา 08.00 – 18.00 น. หรือเวลาอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด ไม่ใช่โทรศัพท์ไปทวงหนี้เวลาที่ลูกหนี้เขาหลับนอนทุกคืน

(3) จำนวนครั้งที่ติดต่อ ตามจำนวนครั้งที่เหมาะสมและตามที่คณะกรรมการฯ กำหนดจำนวนครั้ง ไม่ใช่โทรศัพท์ทวงวันละ 100 ครั้ง จนลูกหนี้ไม่มีเวลาจะทำงาน

(4) การรับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ ผู้ทวงหนี้ต้องแสดงหลักฐานการมอบอำนาจให้ลูกหนี้ทราบ เพื่อป้องกันไม่ให้คนอื่นอ้างกับลูกหนี้ลอยๆ ว่าได้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ให้มาทวงหนี้แล้ว

การทวงหนี้ที่ติดคุก

กฎหมายใหม่นี้เขาห้ามไม่ให้ใครทวงถามหนี้โดยวิธีการดังต่อไปนี้ มิฉะนั้นเจ้าหนี้หรือคนทวงหนี้จะติดคุก     

(1) ทวงหนี้โดยการข่มขู่ ใช้ความรุนแรงหรือทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น

ตัวอย่าง  ข่มขู่ ถ้าไม่ใช้หนี้ภายใน 7 วันจะยิงลูกหนี้ ใช้ความรุนแรง ปล่อยงูเห่าเข้าบ้านลูกหนี้ ทำให้เสียหายฯ แก่ลูกหนี้ เตะต่อยทำร้ายร่างกาย ทำลายทรัพย์ หมิ่นประมาทลูกหนี้หรือผู้อื่น

2) ทวงหนี้โดยใช้วาจาดูหมิ่นลูกหนี้หรือผู้อื่น

ตัวอย่าง ด่าว่าแม่ของลูกหนี้เป็นกะหรี่

(3) ทวงหนี้โดยเปิดเผยความเป็นลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่น

ตัวอย่าง มีหนังสือถึงผู้บังคับบัญชาของลูกหนี้ ว่าลูกหนี้คนนี้เป็นหนี้เขาอยู่เท่าไร เพื่อประจานลูกหนี้ให้เขาได้รับความอับอาย

(4) ทวงหนี้โดยการติดต่อลูกหนี้ทางไปรษณีย์ เอกสารเปิดผนึก หรือสื่อให้คนอื่นทราบว่าเป็นการทวงถามหนี้

ตัวอย่าง เจ้าหนี้มีจดหมายส่งไปรษณีย์ทวงหนี้ลูกหนี้ โดยเปิดซองให้คนอื่นเปิดอ่านได้ แบบนี้ถือว่าเป็นการประจานลูกหนี้อย่างหนึ่ง

(5) ทวงหนี้โดยใช้ข้อความ เครื่องหมายของผู้ทวงหนี้บนซองจดหมาย ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการทวงหนี้ เช่น มีข้อความบนซองจดหมายว่า ให้ชำระหนี้ หรือเอกสารของเจ้าหนี้

(6) ทวงหนี้ที่ไม่เหมาะสมลักษณะอื่น เช่น การทวงหนี้ทางวิทยุ โทรทัศน์ เอาใบทวงหนี้ไปแปะไว้ที่เสาไฟฟ้า

(7) ทวงหนี้ที่เป็นเท็จหรือทำให้เข้าใจผิดเป็นการกระทำของศาล ทนาย ความ เจ้าพนักงานฯ เจ้าหนี้หัวหมอบางคนใช้เอกสารเกี่ยวกับกฎหมายเพื่อขู่เข็ญให้ลูกหนี้ตกใจกลัวว่าจะติดคุกหรือถูกยึดทรัพย์

ตัวอย่าง  มี หนังสือถึงลูกหนี้อ้างว่าได้ปรึกษาทนายความและผู้พิพากษาแล้ว จึงให้ลูกหนี้ชำระหนี้พร้อมด้วยดอกเบี้ย มิฉะนั้นลูกหนี้จะถูกจำรุกหรือถูกยึด อายัดทรัพย์ออกขายทอดตลาด ลูกหนี้ไม่รู้กฎหมายกลัวจะติดคุก ถูกยึดทรัพย์ จึงยอมชำระหนี้ วิธีการอย่างนี้กฎหมายใหม่เขาห้ามไม่ให้เจ้าหนี้หรือผู้ทวงหนี้กระทำ เพราะเป็นการข่มขู่ลูกนี้โดยผิดกฎหมาย

การร้องเรียนผู้ทวงหนี้โดยผิดกฎหมาย กฎหมายทวงหนี้ฉบับนี้ (พ.ศ. 2558) เขามีคณะกรรมการรวม 3 ชุด

(1) คณะกรรมการชุดใหญ่ เรียกว่า ‘คณะกรรมการกำกับการทวงหนี้’ มีรัฐมนตรีมหาดไทยเป็นประธาน อธิบดีกรมการปกครองเป็นกรรมการและเลขานุการ

(2) คณะกรรมการประจำ กทม. เรียกว่า ‘คณะกรรมการกำกับการทวงหนี้ กทม.’ มีผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นประธาน ผู้บังคับการสืบสวน สอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาลเป็นกรรมการและเลขานุการ

(3) คณะกรรมการประจำจังหวัด เรียกว่า ‘คณะกรรมการกำกับการทวงหนี้ประจำจังหวัด’ มี ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ปลัดจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการฯ มีอำนาจวินิจฉัยคำร้องเรียนการทวงหนี้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและมีอำนาจหน้าที่ สั่งปรับผู้ทวงถามหนี้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย

ตัวอย่าง  แดง เจ้าหนี้เขียวได้ติดต่อกับเหลืองซึ่งมิใช่ลูกหนี้ ให้เหลืองบังคับให้เขียวชำระหนี้ให้แดง ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ห้ามไม่ให้แดงกระทำเช่นนั้น คณะกรรมการฯ ดังกล่าวสั่งห้ามไม่ให้แดงทวงหนี้โดยวิธีนั้น แต่แดงก็ยังฝ่าฝืนคำสั่งของคณะกรรมการฯ อยู่อีก ดังนี้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งปรับแดงในทางปกครองได้ไม่เกินหนึ่งแสนบาท แต่แดงก็มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการถือว่าเป็นที่สุด

ปัญหาว่าผู้เสียหายจะร้องเรียนนี้ต่อใคร ที่ไหนได้นั้น คำตอบก็คือร้องเรียนเรื่องทวงหนี้โดยผิดกฎหมายได้ที่

(1) คณะกรรมการฯ ในเขตอำนาจนั้น

(2) ที่ว่าการอำเภอ

(3) สถานีตำรวจในเขตอำนาจนั้น โทษของความผิดฐานทวงหนี้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย โทษมีหลายระดับด้วยกันตั้งแต่จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จนถึงจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับแล้วแต่ฐานความผิด โทษที่สูงเช่นทวงหนี้โดยการข่มขู่ โดยไร้ความรุนแรง โดยการแสดงให้เชื่อว่าเป็นการทวงหนี้ของทนายความ มีโทษจำคุกสูงไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เพราะฉะนั้นจึงขอเตือนเจ้าหนี้และผู้ทวงทั้งหลายจงทวงหนี้อย่างเป็นธรรม อย่าทวงหนี้โดยใช้อิทธิพล ใช้อาวุธข่มขืนใจลูกหนี้โดยใช้นักกฎหมายหรืออ้างศาล อ้างกฎหมายมาข่มขู่ประชาชนเพื่อบังคับให้พวกเขาต้องหาเงินมาใช้หนี้และ ดอกเบี้ยโคตรโหดให้แก่เจ้าหนี้ มิฉะนั้นท่านเจ้าหนี้หรือผู้ทวงหนี้อาจจะต้องเข้าไปทวงหนี้ในคุก ให้เขากู้ได้ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีก็พอสมควรแล้ว อย่าไปขูดเลือดขูดเนื้อคนจนถึงร้อยละ 30 – 40 ต่อเดือนเลยครับ

มันโหดร้ายเกินไป             

ดอกเบี้ยตามกฎหมายเหมือนกับดอกไม้ที่งดงาม

ดอกเบี้ยโหดเหมือนกับดอกไม้ฆาตกร

 

HUG Magazine ปีที่ 8 ฉบับที่7 // กฎหมายสามัญประจำบ้าน



18/Jul/2016

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา