21/11/24 - 20:35 pm


ผู้เขียน หัวข้อ: เลิกจ้างลูกจ้างที่ทำสัญญาจ้างแบบมีระยะเวลาแน่นอน บริษัทต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่  (อ่าน 52502 ครั้ง)

ทนายพร

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 758
    • ดูรายละเอียด
เมื่อสักครู่มี email มาสอบถามทนายว่า บริษัทได้เลิกจ้างพนักงานที่ทำสัญญาจ้างแบบมีระยะเวลาแน่นอน บริษัทต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่

สัญญาจ้างแบบมีระยะเวลาแน่นอน มักมีการระบุวันที่เริ่มจ้าง และวันสิ้นสุดการจ้างไว้ชัดเจน เช่น นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 และสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 31 มีนาคม 2559 เป็นต้น

และมักจะเขียนข้อความระบุอีกว่า “การตกลงว่าจ้างครั้งนี้ เป็นการว่าจ้างชั่วคราวที่ได้กำหนดระยะเวลาไว้แน่นอน และข้อตกลงว่าจ้างครั้งนี้จะหมดผลใช้บังคับโดยทันที เมื่อกำหนดระยะเวลาการจ้างสิ้นสุดลง”

แน่นอนถ้าเลิกจ้างตามสิ้นสุดระยะเวลาที่กำหนดไว้นี้ ลูกจ้างก็จะไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆทั้งสิ้น ทั้งนี้เป็นไปตาม วรรค 3 มาตรา 118 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่ระบุไว้ว่า “ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะ เวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น”

อย่างไรก็ตามมักพบว่า บางบริษัทเมื่อครบระยะเวลาตามสัญญากันแล้ว ก็มักจะมีเงื่อนไขกันว่า หากผลงานที่ผ่านมาเป็นที่น่าพอใจบริษัทก็จะต่อสัญญาไปอีก แต่ถ้าผลงานไม่เป็นที่น่าพอใจก็จะเลิกจ้าง

คำถามก็คือ บริษัทต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานหรือไม่ เนื่องจากพนักงานคนนี้เป็นพนักงานชั่วคราวและทำสัญญาจ้างงานแบบมีระยะเวลาไว้กับบริษัทแล้ว

คำตอบในเรื่องนี้ ต้องมาพิจารณาที่ มาตรา 118 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ดังนี้


มาตรา 118 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง ดังต่อไปนี้

    (1) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวัน แต่ไม่ครบ หนึ่งปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่ง ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

    (2) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งปีแต่ไม่ครบสามปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวัน หรือไม่น้อยกว่า ค่าจ้างของการทำงานเก้าสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับ ค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

    (3) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสามปี แต่ไม่ครบหกปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานหนึ่งร้อยแปดสิบวันสุดท้าย สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

    (4) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหกปี แต่ไม่ครบสิบปีให้ จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสองร้อยสี่สิบวัน หรือไม่ น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสองร้อยสี่สิบวันสุดท้ายสำหรับ ลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

    (5) ลูกล้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสิบปีขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อย กว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยวันหรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตาม ผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

    การเลิกจ้างตามมาตรา นี้ หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะ เป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความ รวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป

    ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะ เวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น

    การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาตามวรรคสามจะกระทำได้ สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจ หรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของ งานที่แน่นอนหรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนด การสิ้นสุด หรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้อง แล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปีโดยนายจ้างและลูกจ้างได้ ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง


ดังนั้นโดยสรุปเมื่อมีการจ้างลูกจ้างตั้งแต่ 120 วันขึ้นไป นายจ้างจะเลิกจ้างโดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดอะไรที่เป็นความผิดร้ายแรงแล้ว นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานให้กับลูกจ้าง

ยิ่งการจ้างลูกจ้างชนิดต่อสัญญากันไปเรื่อย ๆจนเกินกว่า 120 วัน เช่น สมมติต่อสัญญากันมา 3 ปี เมื่อจะเลิกจ้างลูกจ้างก็จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้ตามอายุงาน คือ 180 วัน หรือ 6 เท่าของค่าจ้าง จะอ้างว่าไม่ต้องจ่ายเพราะเป็นลูกจ้างแบบมีระยะเวลาไม่ได้ เพราะการต่อสัญญาไปเรื่อย ๆ แบบนี้ก็คือ “สัญญาไม่มีระยะเวลา” ถือเป็นการจ้างแบบเดียวกับสัญญาจ้างพนักงานประจำทั่วไปนั่นเอง

ประการต่อมา อาจมีนายจ้างบางแห่งอ้างเรื่องการไม่จ่ายค่าชดเชย เพราะลูกจ้างไม่ปฏิบัติตามระเบียบบังคับต่างๆที่นายจ้างกำหนดไว้

ในข้อนี้มาตรา 119  พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ได้ระบุไว้ว่า

นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้
(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนา แก่นายจ้าง
(2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
(3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย อย่างร้ายแรง
(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่ง ของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน
หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด
(5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวัน หยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร
(6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าใน (4) ระบุชัดเจนว่า นายจ้างจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้นั้น ต้องมีการตักเตือนเป็นหนังสือเตือนก่อน อยู่ดีๆจะมาเลิกจ้างโดยทันที ย่อมกระทำมิได้ ถือว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน



อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ http://thanaiphorn.com/boards/index.php?topic=681.0
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 02, 2015, 01:59:42 pm โดย ทนายพร »

joeysocute

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 1
    • ดูรายละเอียด
เป็นข้อมูลที่ดีมากเลยนะครับ