30/04/24 - 13:16 pm


แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - ทนายพร

หน้า: 1 ... 41 42 [43] 44 45 ... 50
631
ทนายได้รับอีเมล์สอบถามเรื่องสิทธิผู้ต้องขัง มีประเด็นน่าสนใจที่ควรนำมาเผยแพร่ให้ได้เรียนรู้ร่วมกันครับ

เรียนคุณทนายคะ

รบกวนสอบถามสิทธิผู้ต้องขัง อยู่เรือนจำคลองด่านค่ะ พอดีตอนนี้ผู้ต้องขังป่วยหนักมาก เป็นมะเร็งที่จมูก ขั้นที่ 4 ผู้ป่วยอายุ 65 ปี
คุณหมอที่เรือนจำ ย้ายให้มารักษาตัวที่โรงพยาบาลบางบ่อค่ะ อยากสอบถามค่ะว่าสามารถมีสิทธิที่จะขอไปรักษาตัวที่อื่นได้มั้ยคะ ที่เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางเลย กลัวว่าจะไม่ทันค่ะ เพราะตอนนี้ทางโรงพยาบาลบางบ่อ บอกเเค่ว่าต้องรอดูอาการของคนไข้ว่าจะย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรีไหวมั้ยค่ะ

อีก 1 เรื่องพอดีหนูได้เพิ่งเข้ามาอ่านเจอเพจนี้ค่ะ ว่าผู้ต้องขังคดีอาญาสามารถเรียกร้องสิทธิได้กรณีที่ไม่มีความผิด เเต่คดีนี้ เค้าติดมา 2 ปีกว่าเเล้วค่ะ คดีลักทรัพย์ โดนศาลอาญาตัดสินคดี 20 ปี ของกรณีนี้ไม่ทันเเล้วใช่มั้ยคะ รบกวนขอความช่วยเหลืออย่างสูงค่ะ
 
ขอบคุณมากๆค่ะ

632
ตอบ
ปัญหาสำคัญประการหนึ่งของลูกจ้างคือการตกหลุมพรางโดยไปยินยอมเซ็นหนังสือลาออกเอง โดยในทางกฎหมายถือว่าลูกจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้างเอง จึงทำให้หมดสิทธิที่จะได้รับสิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้ ซึ่งมีผลแตกต่างมากมาย หากเป็นกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายเลิกจ้าง ลูกจ้างก็จะมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด เช่น ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกล่าวล่วงหน้าหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ค่าตกใจ” เงินค่าทดแทนวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังไม่ได้ใช้ ค่าจ้างค้างจ่าย หรือแม้แต่ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม กรณีการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม เอาละ ร่ายยาวมาพอสมควรแระ ตอบคำถามเลยดีกว่า

ประเด็นแรก “นายจ้างบังคับให้เขียนใบลาออก” เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่เนื่องๆ แต่ในทางกฎหมายแล้วต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า นายจ้างใช้วิธีการใดในการ “บังคับ” ซึ่งหากไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันว่านายจ้างเอาปืนมาขู่ เอามีดมาจี้ หรือใช้คำพูดว่า ถ้าไม่เซ็นใบลาออกจะทำร้ายร่างกาย โอกาสที่จะชนะคดีมีน้อยมาก ซึ่งศาลมักจะถามสั้นๆง่ายๆว่า “มีใครมาจับมือคุณเซ็นหรือเปล่า?” ถ้าเราตอบว่า “ไม่มีค่ะ หนู่เซ็นเอง แต่เค้าบังคับหนูเซ็นค่ะ” กรณีอย่างนี้น้ำหนักน้อยครับ เพราะศาลจะมองมาเป็นความสมัครใจของเราในการเขียนใบลาออกเองครับ และเมื่อเราเป็นฝ่ายเขียนใบลาออกเอง ทำให้หมดสิทธิที่จะได้รับเงินต่างๆตามที่กล่าวมาครับ

 และก็ฝากไว้ว่า เมื่อเป็นลูกจ้าง หากไม่อยากออกจากงาน “ห้ามเซ็นใบลาออกเอง” โดยเด็ดขาดครับเว้นแต่จะมีข้อแลกเปลี่ยนจากนายจ้างตามที่เราพึงพอใจครับ หากนายจ้างไม่อยากได้เรา ก็ให้นายจ้างทำหนังสือเลิกจ้างมา แล้วนำใบเลิกจ้างนั้นไปขอใช้สิทธิในทางศาลได้ครับ

ประเด็นต่อมา “ฝ่ายบุคคลได้นัดเข้ามาคุยรายละเอียดว่าจะจ่ายเงินให้ 6 เดือน แต่ต้องเซ็นต์เอกสารบันทึกข้อตกลง จึงจะจ่ายเงินให้ ซึ่งข้อความในบันทึกไม่มีการระบุว่ากรรมการมอบอำนาจให้มากระทำการครั้งนี้ ดิฉันอ่านแล้วไม่ได้ตอบตกลงไป” เรื่องนี้ต้องดูรายละเอียดครับว่าข้อตกลงดังกล่าวเขียนไว้ว่าอย่างไร เขียนแล้วผูกพันทำให้เราเสียเปรียบในภายหน้าหรือไม่ หากไม่เสียเปรียบข้อเสนอแนะของทนายก็คงจะแนะนำให้ลองคุยกับบริษัทดูอีกทีว่าเราประสงค์จะทำงานต่อจะได้หรือไม่ หรือหากนายจ้างยืนยันจะให้เราออก ก็ค่อยมาดูเรื่องผลประโยชน์ หาก 6 เดือนมันน้อยไป ก็อาจใช้หลักการเจรจาตามความสามารถในฐานะที่เป็นพนักงานขาย ขอเพิ่มจำนวนเงินให้มากกว่านี้ โดยอ้างเหตุอะไรก็ว่าไป  ก็อาจจะเป็นทางออกที่ดีครับ

ส่วนประเด็น เหตุการณ์ที่ส่งสินค้าด้วยบิลชั่วคราว หรือ ไม่มีการแจ้งเตือนว่าทำผิดวินัยมาก่อนนั้นก็หาใช่เป็นสาระสำคัญ เพราะเรื่องนี้ ปัญหาสำคัญคือการเซ็นต์ใบลาออกของเรา เว้นแต่เราจะมีหลักฐานอย่างเพียงพอว่าเราถูกบังคับก็มีโอกาสที่จะชนะคดีได้ครับ หากเป็นเพียงการกล่าวอ้างลอยๆแล้ว ศาลมักจะไม่รับฟัง ให้กำลังใจนะครับ ขอให้ผ่านเรื่องนี้ไปได้ด้วยดี หรือหากยังสงสัยก็สามารถโทรสอบถามเพิ่มเติมได้ตามเบอร์ในเว็บไซด์นี้นะครับ

ทนายพร

633
ก็น่าเห็นใจทั้งสองฝ่ายครับ เพราะเป็นธุรกิจเล็กๆ จริงๆถ้าคุยกันด้วยความเข้าอกเข้าใจกันก็น่าจะไม่มีปัญหา แต่เมื่อถามมาก็จะตอบในข้อกฎหมายเพื่อท่านอื่นจะได้เรียนรู้ไปด้วยนะครับ

ประเด็นแรก ร้านก๋วยเตี๋ยวต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายแรงงานหรือไม่? 

มาดูกัน  กฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ได้บัญญัติว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ใช้บังคับกับนายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ยกเว้นนายจ้างในกิจการ (1) ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น (2) รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์

ด้วยเหตุนี้ ลูกจ้างร้านก๋วยเตี๋ยวจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายแรงงานครับ

ประเด็นที่สอง ลูกจ้างและนายจ้าง มีสิทธิและหน้าที่ต่อกันอย่างไร?

เห็นว่ากฎหมายได้กำหนดให้แต่ละฝ่ายต่างมีสิทธิที่จะได้รับและมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่ออีกฝ่ายอย่างเป็นธรรม ซึ่งสิทธิของลูกจ้างคือได้รับค่าจ้าง และหน้าที่ของนายจ้างคือจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้าง ขณะเดียวกัน หน้าที่ของลูกจ้างคือต้องทำงานให้กับนายจ้างตลอดระยะเวลาที่อยู่ในเวลาการทำงานและอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของนายจ้าง ส่วนสิทธิของนายจ้างคือได้รับผลประโยชน์จากการใช้แรงงานของลูกจ้าง

นอกจากนี้แล้ว กฎหมายยังกำหนดให้นายจ้างต้องมีหน้าที่ปฎิบัติต่อลูกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กำหนดไว้ด้วย

ประเด็นที่สาม ตอบตามคำถามที่ว่า “แจ้งเลิกจ้างลูกจ้างวันจันทร์ ให้มีผลวันศุกร์ ตอนเย็นพอรับค่าจ้างเสร็จก็มาบอกว่าเราไม่แจ้งล่วงหน้า 30-60 วัน จะไปฟ้องกระทรวงแรงงาน”

กรณีอย่างนี้ ต้องดูว่าได้ตกลงจ่ายค่าจ้างเป็นรายวัน,รายสัปดาห์หรือรายเดือน หากเป็นการจ่ายค่าจ้างเป็นรายวัน ก็ถือว่าได้บอกเลิกจ้างล่วงหน้าถูกต้องแล้ว หากไม่ใช่รายวันก็ถือว่ายังบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนเลิกจ้างไม่ถูกต้อง เพราะตามมาตรา 17 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้ว่า “ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสามเดือน”

คำถามต่อมา “ซึ่งมารู้ภายหลังในวันที่แจ้งลูกจ้างจากผู้ค้าในศูนย์อาหารนั้นว่า ลูกจ้างไม่ค่อยอยู่ประจำร้าน ชอบออกไปเดินซื้อของเวลางาน (ให้ลูกจ้างขายของคนเดียวค่ะ)”

อืมมม...กำลังจะจินตนาการตามความคิดไปว่า ก็เพราะลูกจ้างไม่อยู่ขายของจึงทำให้ยอดขายตกลง และส่งผลต่อยอดขายทำให้ไม่มีกำไร ซึ่งเกิดจากความผิดของลูกจ้าง...(เป็นความคิดของทนายนะครับ.ฮา) จึงจะไม่อยากจ่ายเงินต่างๆที่ลูกจ้างเรียกร้อง...

ต้องทำความเข้าใจอย่างนี้ครับ..ถึงแม้ว่าลูกจ้างจะกระทำอย่างที่เล่ามาก็ไม่ได้หมายความว่าลูกจ้างจะเสียสิทธิที่จะต้องได้รับตามกฎหมายแรงงาน เช่น ค่าจ้าง , ค่าชดเชย, สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า หรือสิทธิอื่นๆที่กฎหมายรับรอง

ดังนั้น เมื่อเราเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้างโดยมิได้กล่าวอ้างว่าลูกจ้างกระทำความผิดอย่างไร จะยกขึ้นว่ากล่าวเพื่อปัดความรับผิดไม่ได้ครับ

ดังนั้น ในความคิดของทนายคิดว่าคดีอย่างนี้ไม่ค่อยยุ่งยากซับซ้อนอะไร หากแต่ละฝ่ายมีความบริสุทธิใจต่อกันก็สามารถจะพูดคุยตกลงกันได้ หรือหากลูกจ้างไปร้องต่อเจ้าพนักงานตรวจแรงงาน เมื่อมีคำสั่งเรียกไปพบ เราก็ไปเพื่ออธิบายความจำเป็นต่างๆซึ่งเจ้าพนักงานตรวจแรงงานก็จะทำการไกล่เกลี่ยให้ได้ข้อยุติบนความพึงพอใจของทั้งสองฝ่ายครับ

หรือหากลูกจ้างไปฟ้องศาลแรงงานก็ให้ไปศาลและเข้าร่วมกระบวนการไกล่เกลี่ย โดยยึดหลักใจเขาใจเราก็จะเป็นประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่ายครับ...ตอบซะยาวแต่อยากให้ได้ความรู้ครับ...

ทนายพร


634
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: ปรึกษาเรื่องแรงงาน
« เมื่อ: พฤศจิกายน 21, 2015, 10:10:59 am »
ทนายต้องขออภัยด้วยนะครับ ที่ตอบช้า เนื่องจากมีภารกิจที่ศาลแรงงาน และให้คำปรึกษาที่สำนักงานทุกวัน เมื่ออ่านจากปัญหาแล้วดูเหมือนว่าสถานการณ์ของบริษัทอยู่ในสภาพไม่ค่อยจะมั่นคงซักเท่าใหร่ อีกทั้งยังสร้างความอึดอัดให้กับลูกจ้างในความมั่นคงในการทำงานอีก ก็ขอให้ตั้งสติให้ดีทั้งนายจ้างและลูกจ้างนะครับ เพราะเรื่องแรงงานมีกฎหมายหลายฉบับควบคุม คุ้มครองอยู่

อย่างไรก็ตามเมื่อถามมา เราก็จะตอบไปตามคำถามเลยนะครับ

ข้อ 1. กรณีที่สถานประกอบกิจการย้ายไปอยู่ที่อื่นและลูกจ้างไม่ประสงค์จะติดตามไปทำงานด้วย มีการบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 ไว้ว่า “ในกรณีที่นายจ้างจะย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่นอันมีผลกระทบสําคัญต่อการดํารงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัว

นายจ้างต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนวันย้ายสถานประกอบกิจการ ในการนี้ถ้าลูกจ้างไม่ประสงค์จะไปทํางานด้วยให้ลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากนายจ้างหรือวันที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ แล้วแต่กรณี

โดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าอัตราค่าชดเชยที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา 118 (ตามอายุงาน)

ดังนั้น เมื่อการย้ายสถานประกอบกิจการดังกล่าวส่งผลกระทบสําคัญต่อการดํารงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัว คุณก็สามารถแจ้งบริษัทไปว่าไม่ประสงค์จะตามไปทำงานที่ใหม่แล้ว และให้บริษัทจ่ายค่าชดเชยให้กับเราครับ

ข้อ 2. การที่นายจ้างลดค่าจ้างของเราลง และการปรับเปลี่ยนเวลาทำงาน ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณต่อลูกจ้าง

หากลูกจ้างไม่ยินยอม ย้ำนะครับว่าลูกจ้างไม่ยินยอม นายจ้างจะเปลี่ยนแปลงโดยพละการไม่ได้ ต้องผ่านขั้นตอนการเจรจากับลูกจ้างให้เรียบร้อยก่อน และหากลูกจ้างยินยอมให้ลดค่าจ้างหรือปรับเปลี่ยนเวลาทำงานก็บังคับได้ตามที่ตกลงกัน

คำถามที่สำคัญคือ คุณจะรับแรงกดดันไหวหรือไม่หากคำตอบของคุณคือ “ไม่ยินยอม” ซึ่งจะส่งผลให้ความมั่นคงในการทำงานของคุณหายไป หรือหากนายจ้างไม่มีใจเป็นธรรมก็อาจจะกลั่นแกล้งคุณได้ ดังนั้นจึงต้องวิเคราะห์สถานให้ดีนะครับ แต่ในข้อกฎหมาย นายจ้างจะลดค่าจ้างหรือปรับเปลี่ยนเวลาทำงานโดยที่ลูกจ้างไม่ยินยอมไม่ได้ครับ

หวังว่าคำตอบคงจะให้ความกระจ่างได้นะครับ หรือยังมีปัญหาสงสัยก็สามารถโทรสอบถามได้ในวันและเวลาราชการนะครับ

ทนายพร

635
เห็นคำถามแล้วไม่เหมือนคำถามเลยนะครับ เสมือนว่ากำลังรู้สึกอึดอัดกับการทำงานและการบริหารงาน แต่ทำอะไรไม่ได้ แต่ที่ถามมาก็เป็นคำถามที่ดีและคิดว่าหลายคนก็อยากจะรู้เหมือนกัน ขอตอบอย่างนี้ครับ


ประการแรก เรื่องสัญญาจ้างแรงงาน คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งที่เรียกว่า ลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่ บุคคลอีกคนหนึ่งที่เรียกว่า นายจ้าง และ นายจ้างตกลงจะให้สินจ้างแก่ลูกจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ ซึ่งสัญญาจ้างแรงงานนั้นกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ว่าต้องทำเป็นหนังสือ

แต่โดยทั่วไปแล้ว นายจ้างมักจะทำสัญญาจ้างกันไว้ ดังนั้น สัญญาจ้างหากมีการเซ็นต์ตกลงกันก็จะมีอยู่เฉพาะตอนที่มาทำงานวันแรกๆ เท่านั้น หากคุณได้เซ็นต์ชื่อในสัญญาจ้าง ก็แสดงว่าคุณทราบเงื่อนไขต่างๆในสัญญาจ้างนั้นโดยชอบแล้ว จะกล่าวอ้างว่าไม่ทราบก็คงจะไม่ได้นะครับ (อยู่ที่เราจะได้อ่านสัญญานั้นดีหรือเปล่าเท่านั้น) ถ้าคุณอยากได้สัญญาจ้างฉบับดังกล่าวก็ให้ไปขอสำเนาที่ฝ่าย HR. ได้ครับ


ประการที่สอง ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ได้มีกฎหมายที่สำคัญที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้อยู่คือ “พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518” ที่บัญญัติเกี่ยวกับนิติสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างในเรื่องสภาพการจ้าง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างด้วย และให้สิทธิลูกจ้างเข้าชื่อยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อนายจ้างได้ เช่น เรียกร้องสวัสดิการค่าจ้าง โบนัส ให้เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ให้สิทธินายจ้างยืนข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างเพื่อขอเปลี่ยนสภาพการจ้างที่มีอยู่เดิมได้ด้วย


ด้วยเหตุนี้ จึงอยากให้ลองหาโอกาสอ่านกฎหมายที่กล่าวมาข้างต้นเพื่อจะได้รู้ถึง “สิทธิและหน้าที่” และเป็นเกราะป้องกันตนเองและเพื่อนๆได้ด้วย รวมทั้งกฎหมายฉบับนี้ให้บัญญัติเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรของลูกจ้างหรือที่เรียกว่า “สหภาพแรงงาน” ได้ด้วย


ซึ่งหากมีองค์กรก็จะทำให้การขับเคลื่อนเกี่ยวกับค่าจ้างสวัสดิการง่ายกว่าการดำเนินการเพียงคนเดียวนะครับ....และหากสนใจที่จะจัดตั้งองค์กรก็สามารถติดต่อเข้ามาได้ยินดีให้คำแนะนำและช่วยเหลือโดยไม่มีค่าใช้จ่ายครับ


ทนายพร

636
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: เลิกจ้างพนักงาน
« เมื่อ: พฤศจิกายน 12, 2015, 11:53:21 pm »
ตอบตามคำถามเลยนะครับ

๑. กรณีที่บริษัทเลิกจ้างพนักงานนั้น ในทางกฎหมายถือว่าเป็นการยกเลิกนิติสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างต่อกัน โดยฝ่านนายจ้างเป็นผู้ขอยกเลิกสัญญาจ้าง ซึ่งกรณีอย่างนี้ กฎหมายได้กำหนดหน้าที่ให้นายจ้างต้องปฎิบัติให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด เพราะการเลิกจ้างพนักงานเพียงหนึ่งคนนั้น ไม่ใช่ส่งผลกระทบต่อลูกจ้างคนที่ถูกเลิกจ้างเพียงลำพัง แต่ส่งผลกระทบไปถึงครอบครัวหรือผู้ต้องอาศัยเงินค่าจ้างจากลูกจ้างคนดังกล่าวเพื่อประทังชีวิตด้วย ดังนั้น กฎหมายแรงงานหลายฉบับจึงมุ่งคุ้มครองลูกจ้างเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมนั่นเอง อย่างไรก็ตาม การขอยกเลิกสัญญาจ้าง(เลิกจ้าง)กับลูกจ้างบางคนก็อาจเป็นสิ่งที่จำเป็นหากไม่สามารถที่จะร่วมงานกันต่อไปได้ ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาต่างๆกันไป อย่างไรก็ตาม กรณีที่นายจ้างเลิกจ้างพนักงานโดยลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดนั้น ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินหลักๆดังนี้
๑.ค่าชดเชย ตามอายุงาน (พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ ม.๑๑๘)
๒.สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๑ งวดการจ่ายค่าจ้าง (กรณีไม่บอกกล่าวล่วงหน้า หรือบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ถูกต้อง)
๓.ค่าจ้างค้างจ่าย (ถ้ามี)
๔.เงินทดแทนวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังไม่ได้ใช้ตามส่วนและวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสม
๕.ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม (พรบ.จัดตั้งศาลแรงงานและพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ ม.๔๙) หากเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด

ตอบข้อ ๒. เนื่องจากการเลิกจ้างเป็นการแสดงเจตนาที่มีผลทำให้นิติสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างยุติลง  การบอกเลิกจ้างจึงต้องทำเป็นหนังสือและต้องมีความชัดแจ้งโดยส่วนใหญ่จะต้องมีข้อความที่สำคัญดังนี้
    ๑ ต้องมีคำว่า  “เลิกจ้าง”  หรือถ้อยคำอื่นที่มีความหมายเข้าใจกันทั่วไปว่าเป็นการเลิกจ้าง
    ๒ วัน  เดือน  ปี  ที่จะเลิกจ้าง
    ๓.เหตุผลแห่งการเลิกจ้าง  ถือเป็นข้อที่สำคัญที่นายจ้างจะต้องระบุเหตุผลไว้ในการบอกเลิกจ้างไม่ว่าจะเป็นการบอกเลิกจ้างด้วยวาจาหรือทำเป็นหนังสือ  เพราะหากนาจ้างไม่แจ้งเหตุหรือไม่ระบุเหตุผลแห่งการเลิกจ้างไว้ด้วย  ต่อไปนายจ้างก็จะไม่สามารถยกเหตุผลใดๆขึ้นใช้ยันลูกจ้างได้โดยเฉพาะในกรณีที่ลูกจ้างฟ้องนายจ้างเพื่อเรียกค่าชดเชย
     ๔ ประเภทของเงิน  จำนวนเงิน  หรือสิทธิประโยชน์อื่นที่นายจ้างจะจ่ายให้แก่ลูกจ้าง  รวมทั้งวันเดือนปีและสถานที่จ่ายเงินดังกล่าว
     ๕ กำหนดเวลาการส่งมอบงานหรือการคืนทรัพย์สินของนายจ้าง และควรที่จะมีลายมือชื่อของผู้มีอำนาจบอกเลิกจ้างด้วย

ทนายพร

637
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: มีปัญหากับนายจ้าง
« เมื่อ: พฤศจิกายน 11, 2015, 01:24:57 pm »
เท่าที่อ่านจากปัญหาที่เล่ามาแล้ว มีข้อแนะนำอย่างเร่งรีบในตอนนี้คือ ให้คุณกลับไปทำงานตามปกติในทันที หรือในวันรุ่งขึ้น เพราะมิเช่นนั้นนายจ้างก็สามารถเลิกจ้างเราได้จากความผิดขาดงานติดต่อกัน 3 วันทำงาน ซึ่งหากเป็นกรณีเช่นนี้คุณจะเสียสิทธิอันควรจะได้

อย่างไรก็ตาม เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาในลักษณะเช่นนี้อยู่มากมาย ซึ่งเกิดจาก "อารมณ์" ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถที่จะร่วมงานกันได้ อย่างเช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3177/2545 เป็นต้น (อ่านรายละเอียดได้ที่หัวข้อ ทำงานในโรงแรมแล้วด่าหรือว่าลูกค้า ซึ่งในกฎระเบียบได้เขียนห้ามกระทำการดังกล่าวไว้แล้ว แม้ถูกเลิกจ้าง นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย แต่ไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม นายจ้างจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายเพิ่มเติมหรือรับกลับเข้าทำงานแค่อย่างใด)

ซึ่งตราบใดที่คุณไม่จดปากลาขอเลิกสัญญาจ้าง(ขอลาออก) นายจ้างก็จะทำอะไรคุณไม่ได้ (แต่ห้ามไปทำความผิดทางวินัยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานนะครับ) เว้นแต่นายจ้างไม่อยากได้คุณเป็นลูกจ้างแล้ว นายจ้างก็คงจะบอกเลิกจ้างคุณเอง (อย่าลืมขอหนังสือบอกเลิกจ้างจากนายจ้างด้วยนะครับ) ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นแล้ว สิทธิที่คุณจะได้รับก็จะมีเงินค่าชดเชยตามอายุงาน , สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า (ถ้าบอกเลิกจ้างไม่ถูกกต้อง) , ค่าจ้างค้างจ่าย , ค่าทดแทนวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังไม่ได้ใช้ , หากการเลิกจ้างนั้น ทำให้คุณเสียหายและเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม คุณก็ยังสามารถเรียกค่าทดแทนจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522

ทนายพร

638
ต้องขออภัยด้วยที่เข้าใจไม่ถูกต้องในกรณีดังกล่าวนี้ สำหรับกรณีของชาวต่างประเทศที่เคยเดินทางเข้ามาประเทศไทยโดยใช้ passport ไม่ถูกต้อง และถูกจับเนื่องจากการทำงานนั้น

เมื่อมาพิจารณาที่คุณสมบัติโดยทั่วไปของผู้ที่จะยื่นขอวีซ่าเข้าไทยได้มีดังนี้         

(1)   ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางที่ถูกต้องสมบูรณ์ และมีอายุการใช้งานไม่น้อยกว่า 6 เดือน       
   
(2)   มีหลักฐานแสดงว่าจะเดินทางออกจากประเทศไทยหลังจากสิ้นสุดการพำนักในไทย เช่น ตั๋วเครื่องบิน  และมีวีซ่าหรือหลักฐานว่าสามารถเดินทางกลับประเทศที่มีถิ่นพำนัก หรือเดินทางต่อไปยังประเทศอื่นได้ (ในกรณีขอเดินทางผ่าน)         
 
(3)   ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามเข้าราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522  เช่น เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาของศาลไทยหรือคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ  มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม หรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขหรือความปลอดภัยของประชาชน  หรือเป็นบุคคลซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างประเทศได้ออกหมายจับ   มีเงินค่าใช้จ่ายเพียงพอในขณะพำนักในไทยตามระเบียบกำหนดคืออย่างน้อยคนละ 20,000 บาท  เป็นต้น

ดังนั้นเมื่อมาพิจารณาในกรณีนี้จึงพบว่า สามารถยื่นขอวีซ่าเข้าประเทศไทยได้อยู่  ทั้งนี้ยกเว้นใน 49 ประเทศที่ไม่ต้องขอวีซ่าเพื่อการท่องเที่ยว และสามารถพำนักอยู่ในไทยได้ไม่เกิน 30 วัน

อย่างไรก็ตามในกรณีไม่ต้องขอวีซ่านี้ ก็ยังจะพบปัญหาในทางปฏิบัติสำหรับการห้ามคนต่างด้าวเข้าประเทศ 2 ประการ อยู่ดี คือ การห้ามเข้าโดยอาศัยข้อกฎหมาย และการห้ามเข้าโดยการใช้ดุลพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง

1. การห้ามเข้าโดยกฎหมาย คือ การห้ามเข้าโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 12 ตามที่กล่าวแล้วข้างต้น

ในกรณีนี้ถ้าหากคนต่างด้าวผู้นั้นไม่พอใจคำสั่งก็อาจอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ ทั้งนี้ต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 48 ชั่วโมงนับแต่ได้รับทราบคำสั่ง โดยยื่นแบบ ตม.11 และต้องเสียค่าธรรมเนียม 1,900 บาท แล้วในเวลาต่อมาถ้ารัฐมนตรีไม่สั่งการภายใน 7 วัน กฎหมายให้ถือว่าไม่เป็นคนต้องห้ามเข้าประเทศ แต่ว่าระหว่างที่รอฟังคำสั่งอยู่นี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองอาจจะให้ไปอยู่ในที่ที่เห็นสมควร หรือจะให้ประกันตัว หรือจะกักตัวไว้เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ก็ได้

สำหรับข้อจำกัดที่ห้ามอุทธรณ์ก็คือ ถ้าไม่มีหนังสือเดินทาง หรือไม่มีวีซ่าและก็เป็นสัญชาติที่ไม่ได้รับยกเว้นไม่ต้องมีวีซ่าด้วย กับผู้ที่รัฐมนตรีมีคำสั่งห้ามเข้าไว้แล้วจะไม่มีสิทธิอุทธรณ์


2. การห้ามเข้าโดยดุลพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งจะดูรายชื่อจากบัญชีเฝ้าดู (Watch List) ที่มีข้อมูลอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์

ดังนั้นเสนอแนะให้ทางเจ้าตัวหรือผู้เกี่ยวข้องกับเจ้าตัว เช่น ครอบครัว สอบถามกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ โทร. 02-141-9889 จะได้ข้อมูลที่ชัดเจนมากกว่า เพราะจะสามารถระบุชื่อเจ้าตัวและเช็คกับฐานข้อมูลได้โดยตรง


639
เนื่องจากรายละเอียดที่ให้ยังไม่ละเอียดพอ แต่เมื่อมาพิจารณาที่คำอธิบายมา คาดว่าแรงงานต่างด้าวคนนี้น่าจะเคยมีใบอนุญาตทำงานมาก่อนและไม่ได้ไปต่อใบอนุญาตที่หมดอายุแล้ว อีกทั้งยังไม่ได้พิสูจน์สัญชาติ ทำให้กลายเป็นผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายและทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อถูกจับ จึงถูกปรับ และส่งกลับประเทศ ซึ่งปกติแล้วถ้าจะกลับมาทำงานที่ประเทศไทยใหม่ นายจ้างต้องดำเนินการให้ถูกกฎหมาย คือ ไปขอโควต้าการจ้างงานแรงงานต่างด้าวที่กรมการจัดหางานหรือสำนักงานจัดหางานในจังหวัดนั้นๆ และตัวแรงงานเองก็ต้องมี passport เข้ามาอย่างถูกต้อง

อย่างไรก็ตามประเทศไทยได้มีข้อตกลงการจ้างงานตาม MOU ระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่า ลาว กัมพูชา ได้ระบุเงื่อนไขหนึ่งไว้ว่า เมื่อแรงงานข้ามชาติจากประเทศ พม่า ลาว กัมพูชา ได้ทำงานในประเทศไทยมาครบ 4 ปีแล้ว ต้องกลับประเทศไป 3 ปี ถึงจะสามารถกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง แต่ในกรณีนี้ก็ต้องเป็นแรงงานที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว

ทั้งนี้สำหรับผู้ที่จะตรวจสอบคำพิพากษาศาลได้นั้นต้องเกี่ยวข้องกับคดี เช่น คู่ความ นอกจากนี้แล้วศาลมักไม่ให้ดูเว้นแต่ ทำคำร้องขอดูสำนวน โดยต้องระบุความเกี่ยวพันว่าเกี่ยวข้องอย่างไร ไม่เช่นนั้นศาลจะไม่อนุญาต

640
กรณีแรงงานต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น เป็นความผิดตามมาตรา 51 พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 โดยตัวแรงงานจะถูกจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 ถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ถ้าแรงงานต่างด้าวยินยอมเดินทางกลับนอกราชอาณาจักรภายในระยะเวลาที่กำหนด คือ ไม่เกิน 30 วันหลังจากถูกจับ  พนักงานสอบสวนจะเปรียบเทียบปรับ และดำเนินการให้คนต่างด้าวนั้นเดินทางกลับออกไปนอกราชอาณาจักรได้

ส่วนตัวนายจ้างที่รับแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน  จะโดนปรับตั้งแต่ 10,000 ถึง 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน (มาตรา 54)

เมื่อถูกส่งตัวกลับประเทศแล้ว แรงงานต่างด้าวจะสามารถกลับเข้ามาประเทศไทยได้อีก ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์การเข้าเมืองที่ถูกกฎหมาย คือ มีหนังสือเดินทาง (passport) เข้ามา ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายเช่นเดิม ซึ่งจะมีโทษตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ดังนี้

มาตรา 63

ผู้ใดนำหรือพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรหรือกระทำการด้วยประการใดๆ อันเป็นการอุปการะหรือช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกแก่คนต่างด้าวให้เข้ามาในราชอาญาจักรโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

มาตรา 64

ผู้ใดรู้ว่าคนต่างด้าวใดเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ ให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท


 และถ้าแรงงานต่างด้าวผู้นั้นจะทำงานก็ต้องมีใบอนุญาตทำงาน (work permit) ที่กรมการจัดหางานเป็นผู้ออกให้ด้วยเช่นเดียวกัน


641
มีคำถามเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาที่จดทะเบียนโดยถูกต้องตามกฎหมาย กับสามีภรรยาที่ไม่จดทะเบียนกัน หรือเรียกกันว่าคู่ชีวิตว่าทรัพย์สินดังกล่าวจะจัดการอย่างไร ผลของกฎหมายเป็นอย่างไร

ทนายก็ขออนุญาตอ้างอิงข้อมูลจากหนังสือ “หลักกฎหมายครอบครัว” ซึ่งเขียนด้วยศาสตราจารย์พิเศษประสพสุข บุญเดช เมื่อปี 2543 ซึ่งเป็นอดีตประธานวุฒิสภา และปัจจุบันเป็นอาจารย์บรรยายวิชากฎหมายครอบครัว ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเนติบัณฑิตยสภา ได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนว่า

-   มาตรา 1457  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5  ได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่า  การสมรสจะมีได้เมื่อได้จดทะเบียนสมรสกันแล้วเท่านั้น  ชายและหญิงที่อยู่ด้วยกันดังกล่าวจึงไม่เป็นคู่สมรสต่อกัน  บุตรที่เกิดมาก็ถือว่าเป็นบุตรของหญิงฝ่ายเดียว  สินส่วนตัวและสินสมรสไม่เกิดขึ้น 

-   แต่อย่างไรก็ตามทรัพย์สินที่ชายหญิงคู่นี้ได้ลงทุนร่วมแรงทำมาหาได้ร่วมกัน ระหว่างที่อยู่กินด้วยกันนั้น  ถือว่าเป็นเจ้าของร่วมกันและมีส่วนในทรัพย์สินเหล่านั้นคนละครึ่งเท่ากัน แม้ทางกฎหมายจะไม่ถือว่าเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย  แต่ก็หาได้กระทบกระเทือนถึงสิทธิในทรัพย์สินที่ชายหญิงจะพึงมีได้ตามกฎหมายทั่วไปไม่

เช่น หญิงชายอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส  ได้ร่วมกันซื้อนาและทำกินเป็นการแสดงเจตนาให้ถือได้ว่าเป็นเจ้าของร่วมกัน  ส่วนเงินที่ซื้อ ฝ่ายใดจะยืมใครมาเป็นอีกเรื่องหนึ่งไม่เกี่ยวกับตัวทรัพย์  ต้องถือว่าต่างมีสิทธิเป็นเจ้าของคนละครึ่ง  เป็นต้น 

-   สำหรับทรัพย์สินที่ต่างคนต่างทำมาหาได้แยกกันนั้นเป็นสิทธิของฝ่ายนั้นผู้เดียว  อีกฝ่ายหนึ่งไม่มีส่วนแบ่งด้วยเพราะไม่ถือว่าเป็นสินสมรสตามมาตรา 1474(1) ฉะนั้น  สามีภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ภรรยาจึงไม่มีสิทธิฟ้องของแบ่งทรัพย์จากสามี ในส่วนทรัพย์ที่ภรรยามิได้ร่วมแรงร่วมทุนทำมาหาได้กับสามีแต่อย่างใด

-   การลงทุนร่วมแรงทำมาหาได้ร่วมกัน  โดยหลักการแล้วหมายถึงเฉพาะการที่ชายและหญิงร่วมกันทำการค้าหรือดำเนินกิจการใดโดยเฉพาะเจาะจงแล้วได้เงินหรือทรัพย์สินมา  เงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวจึงจะถือว่าชายและหญิงเป็นเจ้าของร่วมกันในส่วนเท่ากัน 

-   ตัวอย่างเช่น หากชายรับราชการได้เงินเดือนเดือนละ 15,000  บาท  เงินเดือนและค่าจ้างเป็นของชายโดยเฉพาะ หรือหญิงได้รับมรดกเป็นที่ดิน 3 แปลง  ที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวก็เป็นของหญิงโดยลำพังเช่นเดียวกัน 

-   การที่ชายหญิงมาอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสกัน  ชายประกอบกิจการค้าส่วนหญิงอยู่บ้านเลี้ยงบุตร  ดูแลบ้าน  ทำอาหารเลี้ยงดูครอบครัวเป็นเวลาหลายปี  มีทรัพย์สินหลายสิ่งหลายอย่างเพิ่มขึ้น  จะถือว่าการที่หญิงเป็นแม่บ้านดูแลครอบครัว  เป็นการลงทุนร่วมแรงทำมาหาได้ร่วมกันกับชาย  จึงมีส่วนแบ่งในทรัพย์สินส่วนนี้หรือไม่ 

ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ในปี 2512  ว่า  การที่หญิงดูแลครอบครัวให้ชายเป็นการร่วมกันกับชาย  ทำมาหากินแสวงหาทรัพย์สินมาเป็นสมบัติร่วมกันแล้ว  ชายหญิงจึงมีส่วนในทรัพย์สินดังกล่าวเท่า ๆ กัน

-   สำหรับการที่ชายกับชายก็ดี  หรือหญิงกับหญิงก็ดี  มาอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยานั้น  เนื่องจากบุคคลทั้งสองไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้  เพราะขัดต่อเงื่อนไขของการสมรสที่ฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นชาย  และอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นหญิง  แต่ในทางด้านทรัพย์สินที่บุคคลทั้งสองทำมาหาได้ด้วยกันในระหว่างอยู่กินด้วยกันนี้  ต้องถือว่าบุคคลที่สองมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมกัน  โดยมาตรา 1357  ให้สันนิษฐานว่าผู้เป็นเจ้าของร่วมกันมีส่วนเท่ากัน  จึงต้องแบ่งกันคนละครึ่ง

-   เคยมีคดีที่โจทก์เป็นหญิงแต่มีนิสัยและทำตัวเป็นชาย  มีอาชีพขายเนื้อโค  กระบือ  ส่วนจำเลยก็เป็นหญิงมีอาชีพเป็นนักร้อง  โจทก์และจำเลยได้มาอยู่ร่วมกันในบ้านเดียวกันโดยจำเลยเลิกอาชีพดังกล่าวและทำพิธีเข้าถือศาสนาอิสลามเช่นเดียวกับโจทก์  ระหว่างที่อยู่กินด้วยกันมาเกิดมีทรัพย์สินคือ  ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างรวม 3 แปลง  โดยที่ดินทั้งสามแปลงนี้มีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์  โจทก์จึงมาฟ้องขอแบ่งที่ดินดังกล่าว   

-   ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า  “แม้โจทก์จำเลยเป็นหญิงไม่สามารถจะเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย  แต่ตามพฤติกรรมที่บุคคลทั้งสองได้อยู่ร่วมกันเป็นเวลาเกือบ 20 ปี  โดยจำเลยทำหน้าที่เป็นแม่บ้าน  แต่ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์เองว่าบางครั้งจำเลยก็มาช่วยโจทก์ขายเนื้อในตลาด  ในการซื้อ โค  กระบือนั้น  หากจ่ายเป็นเช็คก็ใช้เช็คของจำเลย 

แสดงให้เห็นว่าโจทก์จำเลยได้ร่วมกันทำมาหากิน แสวงหาทรัพย์สินมาเป็นสมบัติของโจทก์จำเลยร่วมกัน  บรรดาทรัพย์ที่โจทก์หรือจำเลยทำมาหาได้ระหว่างนั้น  ไม่ว่าจะเป็นด้วยแรงหรือเงินของฝ่ายใดหาใช่ข้อสำคัญไม่  แต่ต้องถือเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างที่โจทก์จำเลยอยู่ร่วมกัน  จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมายและความยุติธรรมเป็นอย่างยิ่งที่จะให้โจทก์และจำเลยมีส่วนในทรัพย์สินที่พิพาททั้งหมดคนละกึ่งหนึ่ง”  พิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินทั้งสามแปลงนี้ให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง

-   ในกรณีที่ชายมีภริยาชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว  แต่มาได้หญิงอีกคนหนึ่งเป็นภริยาน้อยชายและภริยาน้อย  ร่วมกันทำมาหาได้ทรัพย์สินใดมา  ทรัพย์สินที่ได้มานี้เป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างชายกับภริยาน้อย โดยภริยาน้อยมีส่วนครึ่งหนึ่ง  อีกครึ่งหนึ่งที่เป็นของชายเป็นสินสมรสชายกับภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย  แต่ถ้าภริยาน้อยไม่มีส่วนร่วมในการทำมาหาได้  ทรัพย์สินที่ได้มาเป็นสินสมรสระหว่างชายกับภริยาหลวงทั้งหมด 

เช่น  ชายกับภริยาน้อยร่วมกันทำการค้าได้กำไรไปซื้อที่ดินแปลงหนึ่ง  หากจะต้องแบ่งที่ดินแปลงนี้ให้ภริยาน้อยครึ่งหนึ่งภริยาหลวงได้เศษหนึ่งส่วนสี่  และชายได้เศษหนึ่งส่วนสี่ เป็นต้น 

นอกจากคำอธิบายจากหนังสือข้างต้นแล้ว ขออธิบายเพิ่มเติมว่า

-   ปกติสามีภริยาหากอยู่ด้วยกันโดยไม่จดทะเบียนสมรส ทรัพย์สินที่หามาได้ร่วมกัน เรียกว่าเป็นกรรมสิทธิ์รวม แต่ถ้าจดทะเบียนสมรส ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้หลังจดทะเบียน คือ สินสมรส ทั้ง 2 กรณี ต้องแบ่งครึ่งเช่นเดียวกัน

-   หากจดทะเบียนสมรส ถือว่าเป็นสินสมรส ต้องฟ้องศาลเยาวชนและครอบครัว เพราะเป็นสิทธิในครอบครัว เป็นคดีครอบครัว

-   แต่หากไม่ได้จดทะเบียนสมรส ไม่ใช่สิทธิในครอบครัว เพราะถือว่าเป็นภรรยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีสิทธิ์ฟ้องแบ่งตามหลักสินสมรส ต้องฟ้องศาลในคดีแพ่ง เพื่อขอให้แบ่งทรัพย์สินในกรรมสิทธิ์รวมนั้น

-   กรรมสิทธิ์รวม ใครหามาคนนั้นได้ไป แต่ถ้าช่วยกันหามาต้องแบ่งตามสัดส่วน หากหาสัดส่วนไม่ได้ก็ต้องแบ่งครึ่ง เช่น ทำไร่ด้วยกัน และเก็บเงินซื้อรถกระบะ ซื้อที่ดิน อันนี้จะเข้าหลักกรรมสิทธิ์รวมที่จะต้องมาแบ่ง แต่ถ้าเป็นการหามาเองหรือเป็นลาภที่เกิดขึ้นจากการถูกหวย จะถือว่าเป็นเงินส่วนตัว ไม่ใช่กรรมสิทธิ์รวมแต่อย่างใด เพราะมิใช่เงินที่ได้มาจากการลงน้ำพักน้ำแรงร่วมกันแต่อย่างใด

ทนายพร.

642
เมื่อสักครู่มี email มาสอบถามทนายว่า บริษัทได้เลิกจ้างพนักงานที่ทำสัญญาจ้างแบบมีระยะเวลาแน่นอน บริษัทต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่

สัญญาจ้างแบบมีระยะเวลาแน่นอน มักมีการระบุวันที่เริ่มจ้าง และวันสิ้นสุดการจ้างไว้ชัดเจน เช่น นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 และสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 31 มีนาคม 2559 เป็นต้น

และมักจะเขียนข้อความระบุอีกว่า “การตกลงว่าจ้างครั้งนี้ เป็นการว่าจ้างชั่วคราวที่ได้กำหนดระยะเวลาไว้แน่นอน และข้อตกลงว่าจ้างครั้งนี้จะหมดผลใช้บังคับโดยทันที เมื่อกำหนดระยะเวลาการจ้างสิ้นสุดลง”

แน่นอนถ้าเลิกจ้างตามสิ้นสุดระยะเวลาที่กำหนดไว้นี้ ลูกจ้างก็จะไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆทั้งสิ้น ทั้งนี้เป็นไปตาม วรรค 3 มาตรา 118 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่ระบุไว้ว่า “ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะ เวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น”

อย่างไรก็ตามมักพบว่า บางบริษัทเมื่อครบระยะเวลาตามสัญญากันแล้ว ก็มักจะมีเงื่อนไขกันว่า หากผลงานที่ผ่านมาเป็นที่น่าพอใจบริษัทก็จะต่อสัญญาไปอีก แต่ถ้าผลงานไม่เป็นที่น่าพอใจก็จะเลิกจ้าง

คำถามก็คือ บริษัทต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานหรือไม่ เนื่องจากพนักงานคนนี้เป็นพนักงานชั่วคราวและทำสัญญาจ้างงานแบบมีระยะเวลาไว้กับบริษัทแล้ว

คำตอบในเรื่องนี้ ต้องมาพิจารณาที่ มาตรา 118 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ดังนี้


มาตรา 118 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง ดังต่อไปนี้

    (1) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวัน แต่ไม่ครบ หนึ่งปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่ง ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

    (2) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งปีแต่ไม่ครบสามปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวัน หรือไม่น้อยกว่า ค่าจ้างของการทำงานเก้าสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับ ค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

    (3) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสามปี แต่ไม่ครบหกปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานหนึ่งร้อยแปดสิบวันสุดท้าย สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

    (4) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหกปี แต่ไม่ครบสิบปีให้ จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสองร้อยสี่สิบวัน หรือไม่ น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสองร้อยสี่สิบวันสุดท้ายสำหรับ ลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

    (5) ลูกล้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสิบปีขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อย กว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยวันหรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตาม ผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

    การเลิกจ้างตามมาตรา นี้ หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะ เป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความ รวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป

    ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะ เวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น

    การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาตามวรรคสามจะกระทำได้ สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจ หรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของ งานที่แน่นอนหรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนด การสิ้นสุด หรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้อง แล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปีโดยนายจ้างและลูกจ้างได้ ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง


ดังนั้นโดยสรุปเมื่อมีการจ้างลูกจ้างตั้งแต่ 120 วันขึ้นไป นายจ้างจะเลิกจ้างโดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดอะไรที่เป็นความผิดร้ายแรงแล้ว นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานให้กับลูกจ้าง

ยิ่งการจ้างลูกจ้างชนิดต่อสัญญากันไปเรื่อย ๆจนเกินกว่า 120 วัน เช่น สมมติต่อสัญญากันมา 3 ปี เมื่อจะเลิกจ้างลูกจ้างก็จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้ตามอายุงาน คือ 180 วัน หรือ 6 เท่าของค่าจ้าง จะอ้างว่าไม่ต้องจ่ายเพราะเป็นลูกจ้างแบบมีระยะเวลาไม่ได้ เพราะการต่อสัญญาไปเรื่อย ๆ แบบนี้ก็คือ “สัญญาไม่มีระยะเวลา” ถือเป็นการจ้างแบบเดียวกับสัญญาจ้างพนักงานประจำทั่วไปนั่นเอง

ประการต่อมา อาจมีนายจ้างบางแห่งอ้างเรื่องการไม่จ่ายค่าชดเชย เพราะลูกจ้างไม่ปฏิบัติตามระเบียบบังคับต่างๆที่นายจ้างกำหนดไว้

ในข้อนี้มาตรา 119  พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ได้ระบุไว้ว่า

นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้
(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนา แก่นายจ้าง
(2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
(3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย อย่างร้ายแรง
(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่ง ของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน
หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด
(5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวัน หยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร
(6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าใน (4) ระบุชัดเจนว่า นายจ้างจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้นั้น ต้องมีการตักเตือนเป็นหนังสือเตือนก่อน อยู่ดีๆจะมาเลิกจ้างโดยทันที ย่อมกระทำมิได้ ถือว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน



อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ http://thanaiphorn.com/boards/index.php?topic=681.0

643
เท่าที่อ่านข้อมูลที่ให้มานี้ มีประเด็นทำนองว่า ออกงานแล้วไม่ได้ค่าคอมมิชชั่น แต่เนื่องจากรายละเอียดที่ให้มายังไม่เพียงพอต่อการวิเคราะห์ ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด ขอให้ติดต่อทางโทรศัพท์ที่เบอร์ทนายโดยตรงเลยนะครับ (081-3424263) เพราะต้องสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมครับ
ทนายพร

644
ยินดีด้วยนะครับ ที่สามารถเจรจาตกลงกันได้ อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการจากกันด้วยดี และที่สำคัญไม่ค่อยจะมีนายจ้างใหนที่ยินยอมให้ฝ่ายลูกจ้างเป็นคนร่างสัญญา เพราะเป็นปกติที่ผู้ใดเป็นคนร่างสัญญาก็มักจะร่างเพื่อให้ฝ่ายผู้ร่างได้เปรียบ

อย่างไรก็ตาม การร่างสัญญาเพื่อขอให้ผ่อนจ่ายค่าชดเชยก็เป็นสัญญาทั่วไป ไม่ได้มีแบบตายตัว แต่ก็ควรกำหนดสาระพอให้เข้าใจได้ดังนี้ครับ

๑ ชื่อสัญญา "สัญญาข้อตกลงการจ่ายเงิน" หรือ "สัญญาประณีประนอมยอมความ" หรือจะตั้งชื่ออย่างไรก็ได้

๒.สัญญานี้ทำที่...บริษัทฯ.......(ทำที่ใหนก็ลงไป)

๓.วันที่ (ให้ลงวันที่ที่ทำสัญญา)

๔. ข้อความเบื้องต้น...สัญญานี้ทำขึ้นระหว่างใครกับใคร.ใส่ที่อยู่ของแต่ละฝ่าย ..สมัครใจที่จะทำสัญญาเพื่อ..........(อะไรก็ว่าไปตามความต้องการ) โดยมีข้อตกลงดังต่อไปนี้.. ข้อ ๑. บริษัทตกลงจ่ายเงินเพื่อเป็นค่า............ให้กับ(รา) จำนวน....บาท โดยตกลงผ่อนจ่าย...งวด ๆละ...บาท ด้วยวิธี...(โอนเงิน,เงินสด ก็ว่าไป)โดยบริษัทจะจ่ายงวดแรกในวันที่.....และงดต่อไปในวันที่...จนกว่าจะชำระเสร็จ
ข้อ๒.หากบริษัทผิดสัญญาไม่ว่างวดหนึ่งงวดใด ยินยอมเสียดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี  และยินยอมให้ฟ้องร้องบังคับคดีได้ทันที โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการฟ้องร้องบังคับคดีบริษัทจะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งสิน
ข้อ ๓.(เรา) ยินยอมตามข้อ ๑ และไม่ติดใจเรียกร้องใดๆอีก
ข้อ ๔. ทั้งสองฝ่ายได้อ่านข้อความดังกล่าวข้างต้นแล้วเห็นว่าถูกต้องตรงตามความประสงค์จึงได้ลงรายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน เอกสารนี้ทำขึ้นสองฉบับมีข้อความถูกต้องตรงกัน ให้แต่ละฝ่ายถือไว้คนละฉบับ

๕. ให้ทั้งสองฝ่ายลงรายมือชื่อ พร้อมกับมีพยานเซ็นต์ชื่อรับรอง ๒ คน เป็นอันเสร็จพิธี

 ก็ประมาณนี้ เอาไปปรับใช้เอาครับ..ขอให้โชคดีครับ
ทนายพร

645
ข้อแนะนำในเบื้องต้นในขณะนี้ก็คือ คุณต้องไม่เซ็นต์ใบลาออก เพราะมิเช่นนั้น คุณจะเสียสิทธิตามกฎหมายแรงงานในทันที เพราะถือว่าคุณเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้างเองและห้ามเซ็นต์เอกสารใดที่ระบุว่า “เราจะไม่ติดใจเรียกร้องใดๆอีก” หากมีข้อนี้ก็พึงระวังไว้ว่ากำลังจะถูกมัดมือชกและตัดสิทธิตามที่เราควรจะได้ครับ เว้นแต่เราจะพอใจตามข้อเสนอของบริษัทครับ

อย่างไรก็ตาม ตอบตามคำถามเลยนะครับ (ไม่รู้จะทันหรือเปล่าเพราะฝ่ายบุคคลจะเรียกเข้าไปพบในวันนี้..) ถ้าบริษัทไห้ไปพบก็ไปตามคำเชิญครับ และรอดูว่าบริษัทจะเสนออะไรให้กับเราบ้าง ถ้าเราพอใจในจำนวนเงินที่บริษัทเสนอก็ถือว่าเป็นการจากกันด้วยดี แต่ถ้าเราไม่พึงพอใจในจำนวนเงินที่บริษัทเสนอเราก็บอกบริษัทไปว่า เรามีสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยตามอายุงาน( พรบ.คุ้มครองแรงงาน ม.118) สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า  (ม.17) เงินทดแทนวันหยุดพักผ่อนประจำปี สะสม(ถ้ามี) และในปีปัจจุบัน ตามส่วน(ม.67) และหากนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ก็สามารถเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้อีกครับ( พรบ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม.49) ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร


หน้า: 1 ... 41 42 [43] 44 45 ... 50