จากที่ถามสรุปได้ว่า ทำงานมากว่า ๑๕ ปี ได้ปรับเงินขึ้นในเกรดดี (ไม่ไช่ D) มาโดยตลอด อยู่มาวันหนึ่ง เคมีไม่ตรงกับหัวหน้า ทำให้การประเมินผลการทำงานด้อยลงไป (ซึ่งจะถูกต้องเป็นจริงหรือไม่ อันนี้ต้องได้รับการพิสูจน์อีกครั้ง) จึงสร้างความคลางแคลงใจว่า การประเมินไม่น่าจะเป็นธรรม พอทักท้วงก็พาลหาเรื่องเลิกจ้าง แล้วถามว่า จะเรียกร้องอะไรได้บ้าง
ทนายก็ตอบว่า
อย่างเเรก หากถูกเรียกไป และเสนอให้เซ็นต์ใบลาออก อันนี้ขอสั่ง (ฮั่นแนะ..มีอำนาจสั่งด้วยหรา..ฮา) ห้ามเซ็นต์ใบลาออกโดยเด็ดขาด เว้นแต่คุณจะได้รับข้อเสนอที่คุณพอใจ เพราะถ้าคุณเซ็นต์ใบลาออก คุณจะเรียกร้องสิทธิต่างๆต่อไปไม่ได้นะครับ
และหากบริษัทอยากจะเลิกจ้างจริงๆ ก็ให้ทำหนังสือแจ้งมา หรือถ้าบริษัทบอกหนังสือก็ไม่ทำ ก็ให้ถามว่า "คุณเลิกจ้างเราแล้วใช่ใหม" ถ้าบริษัท ตอบว่า "ใช่ พรุ่งนี้ไม่ต้องมาทำงานอีกแล้วนะ" ก็ถือได้ว่า บริษัทได้แจ้งเลิกจ้างคุณแล้ว ทั้งนี้ ต้องดูด้วยนะครับว่า ผู้ที่ตอบคุณเป็นผู้มีอำนาจจริงๆ เช่น ผู้จัดการโรงงาน เป็นต้น
เมื่อได้หนังสือเลิกจ้างหรือถือว่าเลิกจ้างแล้ว ก็กลับบ้านครับ...นอนหายใจทิ้งซักสองสามวัน ถือว่าพักผ่อนก่อนไปสู้ต่อครับ
เมือ่พักผ่อนเป็นที่พอใจแล้วก็ถึงเวลาที่จะต้องตัดสินใจว่า จะสู้ทางใหน?
ทางแรก ไปร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน (คร.๗) เพื่อเรียกร้อง ค่าชดเชย , สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า , วันหยุดพักผ่อนประจำปีที่เหลือ , ค่าจ้างค้างจ่าย หรือเงินอื่นๆที่ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ ซึ่งจะใช้เวลาไม่นาน ประมาณ ๖๐ ถึง ๙๐ วัน คำวินิจฉัยของพนักงานตรวจแรงงานก็ออกแล้วครับ
แต่ถ้าพิจารณาแล้ว มันยังไม่สะใจ มาเลิกจ้างโดยที่เราไม่ได้ทำความผิด ก็ต้องไปอีกทางครับ คือ ฟ้องศาลแรงงานครับ
ซึ่งกรณีฟ้องศาลก็สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ตามมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ ได้ครับ ซึ่งเรื่องค่าเสียหายนี้ กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะสามารถเรียกได้เท่าใด เป็นดุลพินิจของศาลที่จะกำหนดให้ แต่ก็มีแนวคำพิพากษาฏีกาได้วางแนวบรรทัดฐานไว้ว่า ให้คำนวณตามอายุงานของลูกจ้างว่าทำงานมาเท่าใด เช่น คุณทำงานมา ๑๕ ปี ศาลก็อาจจะกำหนดค่าเสียหายให้เท่ากับค่าจ้างอีก ๑๕ เดือน หรือในวงการเรียกว่า ค่าเสียหายปีละเดือนครับ
ทนายพร