อ่านคำถามเหมือนว่าทนายจะเคยตอบคำถามทำนองนี้ไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่ว่าหาไม่เจอ..555
เอาเป็นว่า ตอบใหม่ละกันตามคำถามและมั่นใจว่า คำตอบก็จะเหมือนเดิมทุกประการ
ดังนี้ครับ จากการที่อ่านเรื่องราวดูเหมือนว่าจะเป็นคนละเรื่องเดียวกัน กรณีทำงานอื่นควบคู่กับงานประจำ และมีปัญหาว่าบริษัทกล่าวอ้างว่าคุณสุรพล มีผลประโยชน์ซ้ำซ้อน ทั้งๆที่ได้แจ้งขออนุญาตผู้หลักผู้ใหญ่ไว้แล้ว แต่บริษัทก็จะเชิญให้ออกสิ้นเดือนนี้ (วันนี้คงให้ออกแล้วมั๊ง) แล้วถามว่า ควรทำอย่างไร?
ทนายก็ตอบว่า อย่างแรกที่คุณสุรพล ไม่ควรทำคือการเขียนใบลาออกนะครับ และก็ทำถูกแล้วที่ไม่ยอมเซ็นต์เอกสารใดๆ แต่จริงๆหากมีหนังสือเลิกจ้างก็เซ็นต์รับมาได้นะครับ แต่ต้องดูให้ดีว่า หนังสือเลิกจ้างนั้น ต้องไม่ระบุว่า "จะไม่เรียกร้องหรือฟ้องร้องบริษัทอีก" แต่ถ้ามีข้อความข้างต้นนี้ ก็ห้ามเซ็นต์นะครับ มิเช่นนั้นจะไม่สามารถฟ้องร้องได้ หรือฟ้องได้ก็ไม่ชนะคดีครับ
ดังนั้น หากบริษัทเลิกจ้างหรือถูกเชิญให้ออก ก็สามารถไปใช้สิทธิได้สองทาง คือ
๑.หากประสงค์จะเรียกร้องค่าชดเชย , สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ก็ไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ซึ่งในช่องทางนี้จะใช้เวลาประมาณ ๖๐ วันครับ
๒. ไปใช้สิทธิทางศาล หากประสงค์จะเรียกค่าชดเชย , สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ก็ไปใช้สิทธิทางศาล ซึ่งระยะเวลาในศาลชั้นต้นก็ไม่น่าจะเกิน ๑ ปี ครับ
เลือกช่องทางเอาครับ
ทนายพร