อ่านเล้วก็น่าเห็นใจ..เจอนายจ้างใช้เล่ห์เหลี่ยมหลอกล่อจนไม่เห็นทางออกเลย
อย่างไรก็ตาม ขอให้เข้าใจว่ากฎหมายได้วางหลักเกณฑ์เพื่อให้สงคมเกิดความเป็นธรรม โดยไม่ให้ผู้มีอำนาจเหนือกว่าเอาเปรียบจนเกินไปนัก หรือเรียกว่า "หลักสุจริตใจ" ซึ่งได้กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕ ที่บัญญัติว่า "ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต"
แต่ใช่ว่าในสังคมนี้จะไม่มีการเอาเปรียบกัน ซึ่งการกดขี่ ขูดรีด เอารัดเอาเปรียบนั้น พบเห็นอยู่มากมาย เพียงแต่ว่าไม่ค่อยมีใครจะอยากต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิมากนัก เพราะเป็นเรื่องยุ่งยาก มีค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขึ้นโรงขึ้นศาลไม่ใช่เรื่องน่าสนุก
เอาละ มาเข้าทำถามกัน...ถามมาว่า..
1.เราควรมีสิทได้รับค่าชดเชย เดือนนี้เต็มเดือน และเดือนหน้า บวกกับ ค่าตกใจ 1 เดือนใช่หรือไม่คะ
ตอบ เรื่องค่าชดเชยจะได้กี่เดือน ต้องดูว่าเราทำงานมาแล้วกี่เดือน?กี่ปี โดยกำหนดไว้ในมาตรา ๑๑๘ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ ซึ่งต่ำสุดก็ ๓๐ วัน หรือหากทำงานมาแล้วเกินกว่า ๒๐ ปี ก็จะได้ ๔๐๐ วันครับ
ส่วน "ค่าตกใจ" หรือที่เรียกว่า "ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า" มีกำหนดไว้ในมาตรา ๑๗ ซึ่งบัญญํติว่า หากสัญญาจ้างนั้นเป็นสัญญาจ้างที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาจ้างที่แน่นอน ในการบอกเลิกสัญญานั้น จะต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนหรือในวันกำหนดการจ่ายค่าจ้าง เพื่อให้มีผลการเลิกจ้างในคราวการจ่ายค่าจ้างถัดไป เช่น กำหนดวันเงินเดือนออกทุกวันที่ ๓๐ หากจะบอกเลิกจ้างก็ต้องบอกก่อนวันที่ ๓๐ หรืออย่างชัาในวันที่ ๓๐ เพื่อให้มีผลในวันที่ ๓๐ เดือนหน้า ดังนั้น การที่จะให้ตอบว่า ได้ค่าตกใจ ๑ เดือนใช่มั๊ย ก็ตอบว่า คงไม่ใช่ เพราะถ้าให้วิเคราะห์ ถ้าเงินเดือนออกวันที่ ๓๐ บอกเลิกจ้างวันที่ ๑๑ เม.ย. คุณมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย ๔๙ วันครับ (ถ้าเงินเดือนออกไม่ใช่วันที่ ๓๐ การคำนวณก็จะไม่ใช่ ๔๙ วัน)
ส่วนเงินเดือน ก็จะได้เท่ากับวันที่ทำงานมาครับ
2. เงินเดือนที่เราจะได้รับ จะได้แค่ 50% หรือต้องเป็นเงินจำนวนเต็มที่เราเคยได้มาก่อนคะ เนื่องจากลองอ่านดู เค้าบอกว่าต้องเป็นอัตราล่าสุด แต่เราเพิ่งเซ็นยินยอมลดเงินเดือนไปเมื่อวันก่อนที่เค้าจะไล่เราออก ถ้าเค้าจ่ายแค่ 50% ของเงินเดือนจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ได้ไหมคะ
ตอบ ไฮไลน์ อยู่ตรงนี้แหละครับว่าคิดคำนวณจากค่าจ้างใหม่หรือค่าจ้างเก่า
อย่างแรก หากดูพฤติกรรมการทำเอกสารมาให้ลงชื่อเพื่อขอลดค่าจ้าง เมื่อเรายินยอมแล้ว ก็มาเลิกจ้าง เห็นได้ชัดเจนว่า "เจตนาไม่สุจริต" และหลอกลวงเพื่อให้เราหลงเชื่อ เป็นการกระทำอันเห็นแก่ตัว เมื่อเป็นการกระทำที่มีเจตนาไม่สุจริตเสียแล้ว ผลของการลดค่าจ้างจึงเป็นโมฆะ คุณมีสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างเดิมเต็มๆครับ
ส่วนจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ตามมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ หรือไม่นั้น ต้องดูเหตุผลแห่งการเลิกจ้างว่ามีเหตุผลอันสมควรหรือไม่ หากไม่มีเหตุผลอันสมควร เช่น บอกเลิกจ้างเพราะเศรษฐกิจไม่ดี แต่ผลประกอบการยังมีกำไรอยู่ เช่นนี้ ก็ถือเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม คุณมีสิทธิได้รับความเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมครับ
ข้อแนะนำของทนายคือ
๑. ไปขึ้นทะเบียนว่างงานกับกรมจัดหางาน(แจ้งได้ทางออนไลน์) แล้วนำเอกสารไปที่ สำนักงานประกันสังคมเพื่อขอรับสิทธิว่างงานครับ
๒. ให้ไปที่ศาลแรงงาน ไปแจ้งกับนิติกร ประจำศาล เพื่อทำคำฟ้อง โดยให้มีคำขอท้ายฟ้องคือ ค่าชดเชย , สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า , ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม , ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี (ถ้ามี)
ไม่ต้องรอแล้วครับ ลุยเลย นายจ้างอย่างนี้ ถือว่าใช้ไม่ได้ครับ >:[/color][/size]
ให้กำลังใจครับ
ทนายพร.