ผู้ถามคงจะเป็นข้าฯราชการ และบังเอิญไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และเกิดข้อสงสัย จึงถามมาว่า คดีเสพ เป็นคดีลหุโทษมั๊ย แล้วในทางวินัยจะสู้ได้มั๊ย ประมาณนี้
ก่อนอื่น ต้องมาพิจารณาก่อนว่า "ลหุโทษ" หมายความว่าอะไร
อันว่าคดีลหุโทษนั้น หมายถึง ความผิดซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐.- บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๐๒ นั่นเอง
และเมื่อพิจารณาจากคดีที่ผู้ถามได้รับ ในข้อหาเสพยาเสพติดประเภท ๑ ที่กำหนดไว้ใน พรบ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๕๗ ประกอบ มาตรา ๙๑ ได้กำหนดโทษไว้ว่า ต้องโทษจำคุกตั้งแต่ ๖ เดือน ถึง ๓ ปี และปรับตั้งแต่ ๑ หมื่น ถึง ๖ หมื่นบาท
ดังนั้น จึงฟันธงได้ว่า คดีเสพฯ มิใช่คดีลหุโทษครับ
แล้วที่ถามต่อว่า ในทางวินัย จะต่อสู้ได้มั๊ย?
ก็ต้องตอบว่า ตามระเบียบข้าราชการ ได้กำหนดข้อต้องปฎิบัติและข้อห้ามปฎิบัติไว้อย่างชัดเจนแล้ว โดยเฉพาะข้อห้ามในมาตราที่ ๘๓ มีกำหนดไว้ถึง ๑๐ ข้อ นอกจากนี้ยังได้กำหนดลักษณะการกระทำความผิดวินัยไว้ในมาตรา ๘๕ อีกจำนวน ๘ ข้อ โดยเฉพาะ (๔) นั้น ได้เขียนไว้ว่า "กระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง"
และโทษที่จะลงในความผิดร้ายแรง คือภาคทัณฑ์ , ตัดเงินเดือน , ลดเงินเดือน , ปลดออก และไล่ออก
ดังนั้น จะสู้ได้หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากการเสพยาเสพติดนั้นว่ามีพฤติการณ์เป็นเช่นไร เช่น อารมณ์พาไป ไม่รู้ว่าเป็นยา ถูกหลอก เสพครั้งแรก อะไรต่างๆเหล่านี้ ก็สามารถยกขึ้นแก้ข้อกล่าวหาได้ ซึ่งแน่นอนว่า จะต้องถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงเป็นแน่ ก็พาหลักฐานและพยานบุคคลมาประกอบการแก้ข้อกล่าวหา ซึ่งหากว่าเป็นการคึกระนอง ก็มีโอกาสอยู่ครับอาจจะไม่ถึงไล่ออกก็เป็นได้
ให้กำลังใจครับ
ทนายพร.