เป็นคำถามสั้นๆ(ที่ทนายก็อยากตอบ)ที่น่าสนใจมากเลยทีเดียวว่า กรณีอย่างนี้จะติดคุกมั๊ย? เพราะมีเยอะแยะมากมายที่ทำของหายแล้วมักจะไม่ได้คืน โดยที่คนเก็บได้ก็เก็บเงียบ..ดีไม่ดี รู้ทั้งรู้ว่าเจ้าของเค้ากำลังตามหาอยู่ก็ทำเนียนบอก ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เกี่ยว อะไรไปโน้นเลย แล้วก็เอาของเค้าไปเป็นของตัวเองอย่างนี้
อย่างไรก็ตาม กฎหมายได้เล็งเห็นแล้วว่า อาจเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นจึงได้บัญญัติกฎหมายขึ้นมารองรับตั้งแต่ พ.ศ.2468 และมีการแก้ไขเรื่อยมากระทั่งเป็นฉบับปัจจุบัน ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่ 2 ฉบับ นั่นก็คือ กฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษติดคุกด้วย
มาดูกันว่ามันเกี่ยวข้องอย่างไร และถ้าคิดจะริบของเค้าที่ทำตกไว้ ต้องได้รับโทษอย่างไร
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้เขียนไว้ใน มาตรา 1323 ว่า
“บุคคลเก็บได้ซึ่งทรัพย์สินหาย ต้องทำอย่างหนึ่งอย่างใด ดั่งต่อไปนี้
(1) ส่งมอบทรัพย์สินนั้นแก่ผู้ของหายหรือเจ้าของ หรือบุคคลอื่นผู้มีสิทธิ จะรับทรัพย์สินนั้น หรือ
(2) แจ้งแก่ผู้ของหายหรือเจ้าของ หรือบุคคลอื่นผู้มีสิทธิจะรับทรัพย์สิน นั้นโดยมิชักช้า หรือ
(3) ส่งมอบทรัพย์สินนั้นแก่ตำรวจนครบาล หรือพนักงานเจ้าหน้าที่อื่น ภายในสามวัน และแจ้งพฤติการณ์ตามที่ทราบอันอาจเป็นเครื่องช่วยในการสืบ หาตัวบุคคลผู้มีสิทธิจะรับทรัพย์สินนั้น
แต่ถ้าไม่ทราบตัวผู้ของหาย เจ้าของ หรือบุคคลอื่นผู้มีสิทธิจะรับทรัพย์สิน ก็ดี หรือบุคคลดั่งระบุนั้นไม่รับมอบทรัพย์สินก็ดี ท่านให้ดำเนินการตามวิธีอัน บัญญัติไว้ในอนุ มาตรา (3)
ทั้งนี้ ท่านว่าผู้เก็บได้ซึ่งทรัพย์สินหายต้องรักษาทรัพย์สินนั้นไว้ด้วย ความระมัดระวังอันสมควรจนกว่าจะส่งมอบ” หมายความว่า ถ้าเก็บของได้ต้องนำไปคืนเจ้าของหรือเจ้าหน้าที่บ้านเมืองโดยเร็วนั่นเอง
และยังมีต่อในมาตรา มาตรา 1324ว่า “
ผู้เก็บได้ซึ่งทรัพย์สินหาย อาจเรียกร้องเอารางวัลจาก บุคคลผู้มีสิทธิจะรับทรัพย์สินนั้นเป็นจำนวนร้อยละสิบแห่งค่าทรัพย์สินภายใน ราคาพันบาท และถ้าราคาสูงกว่านั้นขึ้นไป ให้คิดให้อีกร้อยละห้าในจำนวน ที่เพิ่มขึ้นแต่ถ้าผู้เก็บได้ซึ่งทรัพย์สินหาย ได้ส่งมอบทรัพย์สินแก่ตำรวจ นครบาล หรือพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นไซร้ ท่านว่าให้เสียเงินอีกร้อยละสองครึ่ง แห่งค่าทรัพย์สินเป็นค่าธรรมเนียมแก่ทบวงการนั้น ๆ เพิ่มขึ้นเป็นส่วนหนึ่ง ต่างหากจากรางวัลซึ่งให้แก่ผู้เก็บได้ แต่ค่าธรรมเนียมนี้ท่านจำกัดไว้ไม่ให้ เกินร้อยบาท
ถ้าผู้เก็บได้ซึ่งทรัพย์สินหายมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติใน มาตรา ก่อนไซร้ ท่านว่าผู้นั้นไม่มีสิทธิจะรับรางวัล” สำหรับมาตรานี้ ได้สิทธิคนเก็บได้เรียกเอารางวัล (อิ อิ ชอบละซิ) ร้อยละ 10 ของมูลค่าทรัพย์ หรือง่ายๆ ถ้าเก็บเงินพันได้ จะได้รางวัลร้อยนึง แต่ถ้าเกินไป จะได้รางวัลเพิ่มอีกร้อยละ 5 ของมูลค่าทรัพย์นั้น...เข้าใจตรงกันนะ
และยังมีอีกในมาตรา มาตรา 1325 ว่า
“ถ้าผู้เก็บได้ซึ่งทรัพย์สินหายได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติ มาตรา 1323 แล้ว และผู้มีสิทธิจะรับทรัพย์สินนั้นมิได้เรียกเอาภายในหนึ่งปีนับแต่วัน ที่เก็บได้ไซร้ ท่านว่ากรรมสิทธิ์ตกแก่ผู้เก็บได้
แต่ถ้าทรัพย์สินซึ่งไม่มีผู้เรียกเอานั้นเป็นโบราณวัตถุไซร้ กรรมสิทธิ์แห่ง ทรัพย์สินนั้นตกแก่แผ่นดิน แต่ผู้เก็บได้มีสิทธิจะได้รับรางวัลร้อยละสิบแห่งค่า ทรัพย์สินนั้น” หมายความว่า ถ้าเก็บทรัพย์ได้โดยส่งมอบให้เจ้าหน้าที่แล้ว เมื่อผ่านไปหนึ่งปีไม่มีใครมารับ..อันนี้เราก็ไปขอรับมาเป็นของเราโดยถูกต้องตามกฎหมายได้ เว้นแต่เป็นวัตถุโบราณอะไรเทือกนั้น อันนี้ต้องเข้าหลวงนะครับ
แล้วถ้าไม่คืนละ จะเกิดอะไรขึ้น?
??
คุณกำลังเป็นผู้กระทำผิดฐานยักยอกทรัพย์สินหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ....ติดคุกได้นะตัวเอง...
แล้วมาตรา 352 เค้าเขียนไว้อย่างไรมาดูกัน..
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ได้บัญญัติว่า
“ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่น เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคล ที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์ สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียง กึ่งหนึ่ง” จากคำถาม...ตอบได้เลยว่าก็มีโอกาศติดคุกอยู่นะครับ ส่วนจะติดจริงหรือรอลงอาญาก็อยู่ที่การสู้คดีเป็นกรณีๆไปครับ..
เห็นมั๊ย...ถ้าคิดจะเอาของเค้าก็มีโอกาสติดคุกนะ ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดถ้าเก็บของได้ก็นำไปคืนเค้าซะหรือถ้าไม่รู้ว่าเป็นของใครก็นำไปคืนเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเพื่อตามหาเจ้าของต่อไป ซึ่งท่านก็จะได้รับการขนานนามว่าเป็นคนดี อาจได้รับใบประกาศเกียรติคุณว่าได้ทำความดีติดข้างฝาโก้ๆก็เป็นได้.....
ทนายพร