ต้องขออภัยด้วยนะครับที่มาตอบช้า ช่วงนี้ทนายงานเยอะมากจริงๆครับ ขอตอบทีละข้อดังนี้
(1) เมื่อมีการเปลี่ยนท่อไอเสียมาแล้ว ซึ่งไม่เกี่ยวว่ามีมอก. หรือ ไม่มีมอก. นะครับ เพราะท่อไอเสียจะไม่ผิดกฎหมายก็ต่อเมื่อความดังของท่อไอเสียนั้นต้องไม่เกิน 95 เดซิเบล ซึ่งการที่จะทราบความดังของท่อไอเสียต้องใช้เครื่องวัดในการพิสูจน์เท่านั้น ทั้งนี้หากมีการตรวจวัดความดังของท่อไอเสียแล้วเกิน 95 เดซิเบล จะทำให้มีโทษปรับ 1,000 บาท และออกใบเตือนให้ไปเปลี่ยนท่อ (ความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 10 ทวิ และข้อกำหนดกรมตำรวจ เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าควันดำ ก๊าซ และระดับเสียงของรถ ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ยินยอมให้นำมาใช้ในทางเดินรถได้ นำรถที่เครื่องยนต์ก่อให้เกิดเสียงเกินเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนดมาใช้ในทางเดินรถ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท)
ในระหว่างตรวจ ตำรวจต้องมีเครื่องวัดในการพิสูจน์ข้อกล่าวหาด้วย จะใช้หูฟังแล้วกล่าวอ้างลอยๆ ไม่ได้ เหมือนกรณีคนเมายังต้องมีการเป่าหลอด ท่อดังก็ต้องมีเครื่องวัดเช่นกัน และต้องวัดตามวิธีที่ถูกต้องด้วย
ทั้งนี้ 95 เดซิเบล อ้างอิงมาจากพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดระดับเสียงของรถจักรยานยนต์ โดยได้ระบุไว้ว่า ระดับเสียงในขณะที่เดินเครื่องยนต์อยู่กับที่โดยไม่รวมเสียงแตรสัญญาณ ต้องมีระดับเสียงไม่เกิน 95 เดซิเบล เมื่อตรวจวัดระดับเสียงในระยะห่างจากรถจักรยานยนต์ 0.5 เมตร
ประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนดระดับเสียงและวิธีการตรวจวัดระดับเสียงของรถจักรยานยนต์ พ.ศ. 2548 ก็ระบุไว้เช่นกันว่า ระดับเสียงในขณะที่เดินเครื่องยนต์อยู่กับที่โดยไม่รวมเสียงแตรสัญญาณ ต้องมีระดับเสียงไม่เกิน 95 เดซิเบล เมื่อตรวจวัดระดับเสียงในระยะห่างจากรถจักรยานยนต์ 0.5 เมตร
(2) ความหมายของการดัดแปลงสภาพรถคือต้องผิดไปจาก มาตรา 14 ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ 2522 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดเปลี่ยนแปลงตัวรถหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของรถ ให้ผิดไปจากรายการที่จดทะเบียนไว้ ซึ่งโดยข้อเท็จจริงในเอกสารที่จดทะเบียน จะไม่ได้ระบุว่าคุณใช้ท่อไอเสียแบบไหน ซึ่งตราบใดที่รถคุณยังเป็น 2 ล้อ 1 ท่อ ใช้โซ่ขับ สีถูกต้อง ความจุถูกต้อง ไม่ได้เปลี่ยนไปใช้แก๊สหรือดีเซล ก็ถือว่าไม่ได้ดัดแปลงสภาพรถหรือผิดกฎหมายแต่อย่างใดครับ