ขอตอบแบบยาวๆ เพื่อเป็นประโยชน์กับบุคคลอื่นด้วยนะครับ...ก่อนอื่นให้กำลังใจนะครับหากเรื่องราวที่เล่ามาเป็นความจริง อย่างไรก็ตาม เมื่อมีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน กระบวนการต่างๆก็จะเดินไปตามขั้นตอนที่ได้กำหนดไว้ นั่นก็หมายความว่า เมื่อพนักงานสอบสวนได้สอบสวนแล้วว่าคดี “มีมูล” เพียงพอที่จะสั่งฟ้อง ก็จะต้องส่งเรื่องให้กับพนักงานอัยการ เพื่อดำเนินการสั่งฟ้องต่อศาลต่อไปครับ ส่วนข้อแนะนำมีดังนี้ครับ
๑. หากพี่ของคุณไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดและไม่รู้จักจริงๆ ความจริงก็คือความจริง ยังงัยก็ต้องมีหลักฐานยืนยันความบริสุทธิ์ได้ เช่น ในวันเวลาดังกล่าว พี่ของคุณไม่ได้อยู่ในสถานที่เกิดเหตุ หรือไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องก็ต้องหาพยานบุคคลและพยานหลักฐานอื่นมายืนยัน ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นรายละเอียดซึ่งจะต้องหาทนายความเข้าให้ความช่วยเหลือทางคดีครับ
๒. ไม่แน่ใจว่าวันที่ ๓๑ สิงหาคม นี้อัยการเรียกไปทำอะไร ซึ่งอาจจะเป็นการนำตัวพี่ของคุณส่งฟ้องต่อศาล ซึ่งหากเป็นอย่างนี้ คงต้องหาหลักทรัพย์เพื่อขอประกันตัวต่อสู้คดีต่อไป ซึ่งต้องใช้หลักประกันประมาณ ๑๕๐,๐๐๐-๒๐๐,๐๐๐ บาท (หลักทรัพย์อาจเป็นเงินสด,ที่ดิน,บุคคล ก็ได้ หรือหากหาไม่ได้จริงๆ ก็จะมีบริษัทขายประกันอิสรภาพอยู่ที่ศาลนั่นแหละลองติดต่อดูครับ ซึ่งจะเสียเบี้ยประกันประมาณ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของทุนประกัน เช่น หากศาลเรียกหลักประกัน ๑๕๐,๐๐๐ บาท ก็จะต้องเสียเงินซื้อประกันประมาณ ๑๕,๐๐๐ บาท)
๓. ให้กำลังใจนะครับ ใจเย็นๆ ค่อยๆเรียบเรียงเรื่องราวแล้วพยายามหาหลักฐานให้ได้มากที่สุดและจงเชื่อมั่นในความยุติธรรม แล้วทุกอย่างจะเป็นทางออกเองครับ ซึ่งหากผลสุดท้ายออกมาแล้วว่าพี่ของคุณไม่ได้ทำจริงๆ ผู้ที่กล่าวหาคุณก็จะมีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน ซึ่งมีโทษทางอาญาครับ
๔. ข้อกฎหมาย – ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๖ “ผู้ใดข่มขืนกระทําชําเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กําลังประทุษร้ายโดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้ ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่สี่ปี่ถึงยี่สิบปี่ และปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท”
ทนายพร