ตั้งคำถามมาให้ทนายตอบงั้นทนายก็จะตอบตามคำถามเลยนะครับ...
บริษัทแจ้งยุบแผนก มีเมล์แจ้งพนักงานทั้งบริษัทให้ทราบว่ายุบแผนก ได้ค่าชดเชยกี่เดือน ทำงานมา 20 ปี
ตอบ ค่าชดเชยคิดตามอายุงานครับ กรณีทำงานเกินกว่า 10 ปี จะได้รับเงินค่าชดเชยจำนวน 300 วัน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 ครับ
1.บริษัท หาแผนกใหม่ให้ไม่ได้ ถ้าให้ออก จะมีการให้ออกกี่วิธี (ลาออก , ให้ออก ) และ แต่ละวิธี จะได้เงินชดเชยกี่เดือนครับ
ตอบ โดยปกติถ้าไม่ประสงค์จะเป็นนายจ้าง-ลูกจ้างกันแล้วทั้งสองฝ่ายก็มีสิทธิที่ขอเลิกสัญญาจ้างต่อกันได้ ซึ่งหากฝ่ายลูกจ้างเป็นฝ่ายขอเลิกสัญญาจ้าง จะเรียกว่า “ลาออก” ซึ่งกรณีนี้เป็นการเสนอของลูกจ้างที่ไม่ประสงค์จะทำงานกับนายจ้างอีกต่อไป จึงไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชยแต่อย่างใดครับ แต่กรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายขอเลิกสัญญาจ้าง จะเรียกว่า “ให้ออก , ปลดออก , เลิกจ้าง หรือไล่ออก” ตามแต่จะเรียก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากการเลิกจ้างโดยมีเหตุผลอันสมควรลูกจ้างก็มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยตามอายุงานครับ และเวลานายจ้างจะเลิกจ้างก็ต้องแจ้งเป็นหนังสือพร้อมกับระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ด้วย หากหากเป็นกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างโดยที่ลูกจ้างไม่มีความผิดและไม่มีเหตุผลอันสมควรก็อาจจะเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมได้ซึ่งหากเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ลูกจ้างก็มีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ครับ
2.บริษัท หา Project พิเศษ ให้ทำระยะสั้น ๆ ถ้าผลงานไม่ได้ ถ้าให้ออกยังได้ค่าชดเชยหรือไม่ครับ
ตอบ ถ้าไม่ลาออกเองก็ยังได้ค่าชดเชยครับ
3 ถ้าอีก 2-3 เดือน มี Project ใหม่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เหมือนบีบให้ลาออก ถ้าไม่ทำต่อ ให้ออก ยังได้ค่าชดเชยหรือเปล่าครับ
ตอบ การเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่เป็นอำนาจการบริหารจัดการของนายจ้าง แต่ทั้งนี้ หน้าที่ใหม่ต้องไม่ต่ำกว่าเดิมหรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่าต้องเป็นคุณยิ่งกว่าเดิมหรือจะเท่าเดิมก็ได้ ส่วนถ้าเราทนไม่ไหวไปเขียนใบลาออก อันนี้ไม่ได้ค่าชดเชยละครับ
4 เงินประกันสังคม จะแจ้งเรื่องลักษณะไหนที่จะได้ชดเชย เยอะหน่อย ครับ
ตอบ อัยยะ..จะเอาเยอะๆเลยหราครับและคำถามก็คนละเรื่องเดียวกันเลยนะครับ อย่างนี้ครับโดยปกติผู้ประกันตน (ตัวเราอ่ะ) จะได้รับสิทธิประโยชน์ 7 กรณี คือ เจ็บป่วย , ทุพพลภาพ , ตาย , คลอดบุตร , สงเคราะห์บุตร , ชราภาพ และว่างงาน ซึ่งกรณีว่างงานจะเกิดสิทธิได้ 2 ประเภท คือ หากเป็นกรณีที่ผู้ประกันตนลาออกจะได้เงินทดแทนกรณีว่างงานร้อยละ 30 ของค่าจ้าง เป็นเวลา 3 เดือน และหากเป็นกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างโดยผู้ประกันตนไม่มีความผิด จะได้เงินทดแทนกรณีว่างงานร้อยละ 50 ของค่าจ้างเป็นเวลา 6 เดือนครับ ทีนี้ก็รู้แล้วว่าอย่างไหนได้เยอะกว่ากัน ก็เลือกเอาที่สบายใจละกันครับ...(อิอิ) ส่วนค่าชดเชยกับเรื่องประกันสังคม มันไม่เกี่ยวกันครับ เพราะเป็นกฎหมายคนละฉบับครับ
หมายเหตุ (อยู่ในสายงานขาย มีเงินเดือน มีค่าคอมมิชั่น ค่าสึกหรอ ค่าน้ำมันรถบริษัทให้เป็นแบบใช้บัตรเครดิตควบคุม250 ลิตรต่อเดือน )
ตอบหมายเหตุ – เงินเดือน คือค่าจ้าง , ค่าคอมมิชชั่นและค่าสึกหรอ ถ้าจ่ายเสมอๆ ประจำๆ และนายจ้างจ่ายให้โดยไม่มีเงื่อนไขเพื่อตอบแทนการทำงานก็คือค่าจ้าง แต่ถ้ามีเงื่อนไขการจ่าย ก็ไม่ใช่ค่าจ้างแต่เป็นสวัสดิการ และค่าน้ำมันรถ อันนี้ชัดเจนว่าเป็นสวัสดิการ ไม่ใช่ค่าจ้างครับ ข้อนี้ถือว่าทนายแถมคำตอบให้อีกข้อละกันครับ
ขอให้โชคดีและเอาใจช่วยให้ได้ค่าชดเชยเยอะๆครับ
ทนายพร