24/11/24 - 19:47 pm


ผู้เขียน หัวข้อ: แพทย์พาร์ทไทม์ กับการถูกเลิกจ้าง และขอถามเรื่องการคิดดอกเบี้ยค่าจ้างคงค้างจ่าย กับสินจ้างแทนการบอกก  (อ่าน 8029 ครั้ง)

phol.p.md

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 2
    • ดูรายละเอียด
สวัสดีครับ
ทางตัวผมทำงานเป็นแพทย์ ทำหน้าที่ตรวจรักษาอยู่. ณ คลินิกแห่งหนี่ง โดยตกลงกันด้วยวาจาว่าทำงานที่แห่งนี้สัปดาห์ละ 2 วัน
เริ่มงานตั้งแต่ 12.00-20.00 (ทีแรกนายจ้างจะให้มาเริ่มงานเวลา 11 น.แต่ผมปฏิเสธขอเป็น 12.00)
เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม ซึ่งระยะแรกผมได้มาทำงานสัปดาห์ละสามวันเนื่องจากมีแพทย์ท่านอื่นลาหยุด
ต่อมาวันที่ 25 มีนาคมได้มีการส่องข้อความมาแจ้งเลิกจ้างและให้มีทันที

ผมขอปรึกษาถามดังนี้ครับ

1.สินจ้างแทนกการบอกกล่าวล่วงหน้า ผมควรจะคิดจากว่าในหนึ่งสัปดาห์ผมทำงาน 2 วันต่อสัปดาห์(คิดเป็นจำนวน 64,000 บาทต่อเดือน)ตามที่ตกลง หรือคิดจากเดือนปัจจุบันที่ถูกเลิกจ้างซึ่งทำงานที่นี่สัปดาห์ละ 3 วันต่อสัปดาห์(96,000 บาทต่อเดือน)

2.ในวันที่ 27 มีนาคม นายจ้างโอนเงินมาให้โดยคิดเป็นจำนวน 6 วัน แต่ก็ไม่ครบจำนวน 48,000 บาท(8,000 * 6)เนื่องจากอ้างว่าหักมาสาย ซึ่งตามกฎหมายห้ามมิให้หักค้าจ้างโดยอ้างการมาทำงานสาย โดยโอนมาเป็นจำนวน 32,016 บาท ขาดไปเป็นจำนวน 15,984 บาท
เงินจำนวน 15,984 บาทถือเป็นค่าจ้างคงค้างใช่หรือไม่

3.หากนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างคงค้างพร้อมดอกเบี้ยเพิ่มร้อยละ 15 จากเงินคงค้างจ่าย และทบจากเงินต้นทุกๆ 7 วัน หมายถึงหลังจากที่นายจ้างโอนเงินมาให้ผม(27 มีนาคม) หรือ 7 วันหลักจากรอบการจ่ายเงินตามปกติของแพทย์คนอื่นๆครับ(ทุกๆวันที่ 30 ของทุกเดือน)

4.สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ถือเป็นค่าจ้างคงค้างจ่ายที่ต้องบวกดอกเบี้ยตามคำถามข้อที่ 3 หรือไม่ครับ ควรจะดำเนินการหลังถูกเลิกจ้างกี่วัน
หากไม่ใช่สามารถคิดดอกเบี้ยได้หรือไม่อย่างไรครับ

5.ในวันที่นายจ้างนัดสัมภาษณ์และมีการตกลงการจ้างงานนั้น ผมได้มีการแจ้งแก่นายจ้างไปแล้วว่า ไม่ว่าการจ้างงานจะมีการเซ็นสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร หรือปากเปล่าก็ตาม ทำงานไม่ว่าจะเป็นฟูลไทม์หรือพาร์ทไทม์ก็ตาม กฎหมายแรงงานก็คุ้มครองลูกจ้างตามที่กฎหมายระบุไว้อยู่แล้ว และแจ้งด้วยว่าไม่ว่าผมจะทำงานที่นี่สัปดาห์ละกี่วัน หากเลิกจ้าง ยังไงก็ต้องบอกก่อนครบกำหนดรอบชำระค่าจ้างไม่ต่ำกว่า 1 รอบ และหากมีสัญญาที่ขัดต่อกฎหมาย สัญญานั้นก็บังคับใช้ไม่ได้ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ทางนายจ้างไม่ได้ตอบรับใดๆและแจ้งว่าไม่เคยเลิกจ้างหรือไล่ใครออกกะทันหันในลักษณะนี้อยู่แล้ว
ผมจะฟ้องร้องยังไงให้ศาลเชื่อว่านายจ้างมีเจตนาละเมิดกฎหมาย ทั้งๆที่รู้กฎหมายอยู่แล้ว ถึงแม้ไม่รู้ แต่ผมก็ได้มีการแจ้งข้อกฎหมายแต่ทีแรกเอาไว้แล้ว
และหากพิสูจน์ได้ว่านายจ้างมีเจตนาละเมิดกฎหมายจริงๆ จะเป็นผลดีต่อทางแรงงานหรือไม่อย่างไรครับ

ขอบคุณมากครับ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 03, 2016, 03:49:30 am โดย phol.p.md »

ทนายพร

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 758
    • ดูรายละเอียด
สวัสดีครับคุณหมอ นานๆจะมีคุณหมอสนใจเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซด์ทนายพร และคิดถูกแล้วที่ถามเกี่ยวกับปัญหาแรงงานที่เว็บไซด์ทนายพร และโอกาสหน้าผมคงได้ถามคุณหมอในปัญหาสุขภาพบ้างนะครับ...เอาละ เข้าประเด็นตามที่คุณหมอถามมาเลยละกัน เมื่อถามเป็นข้อ ทนายก็จะขอตอบเป็นข้อๆ ดังนี้ครับ

1.สินจ้างแทนกการบอกกล่าวล่วงหน้า ผมควรจะคิดจากว่าในหนึ่งสัปดาห์ผมทำงาน 2 วันต่อสัปดาห์(คิดเป็นจำนวน 64,000 บาทต่อเดือน)ตามที่ตกลง หรือคิดจากเดือนปัจจุบันที่ถูกเลิกจ้างซึ่งทำงานที่นี่สัปดาห์ละ 3 วันต่อสัปดาห์(96,000 บาทต่อเดือน)?

ตอบ จากคำถามคงต้องการคำตอบว่า จำนวนเงินที่จะได้รับกรณีการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ถูกต้องจะต้องคิดคำนวณจากฐานค่าจ้างใด ขอตอบอย่างนี้ครับ ก่อนอื่นต้องพิจารณาจากสัญญาจ้างครับว่าได้ตกลงเรื่องการจ้างงานกันว่าอย่างไร หากในสัญญากำหนดเวลาทำงานปกติสัปดาห์ละ 2 วัน ต้องคิดจากค่าจ้างตามสัญญาที่ตกลงกันครับ คือ 2 วันครับ ส่วนที่ทำเกินเวลาที่ตกลงกันคือการทำงานล่วงเวลาครับ เมื่อรู้ว่าในสัญญาจ้าง(จะทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือหรือจะจ้างกันด้วยวาจา หากตกลงกันได้เกี่ยวกับวันเวลาทำงาน ค่าจ้าง ก็ถือว่าเป็นสัญญาจ้างแรงงานอันสมบูรณ์แล้ว) เป็นแบบใดแล้วก็กลับมาพิจารณาดูว่านายจ้างได้บอกกล่าวล่วงหน้าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2551 ตามมาตรา 17 ได้กำหนดมีการบอกกล่าวล่วงหน้าให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกําหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกําหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไป ถ้าบอกกล่าวไม่ถูกต้องก็มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าค่าตกใจครับ

2.ในวันที่ 27 มีนาคม นายจ้างโอนเงินมาให้โดยคิดเป็นจำนวน 6 วัน แต่ก็ไม่ครบจำนวน 48,000 บาท(8,000 * 6)เนื่องจากอ้างว่าหักมาสาย ซึ่งตามกฎหมายห้ามมิให้หักค้าจ้างโดยอ้างการมาทำงานสาย โดยโอนมาเป็นจำนวน 32,016 บาท ขาดไปเป็นจำนวน 15,984 บาทเงินจำนวน 15,984 บาทถือเป็นค่าจ้างคงค้างใช่หรือไม่?

ตอบ  เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานานว่า บริษัทสามารถหักค่าจ้างกรณีที่ลูกจ้างมาทำงานสายได้หรือไม่ และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คดีประเภทนี้ก็ยังไม่เคยขึ้นสู่ศาลฏีกาเพื่อวินิจฉัยให้ออกเป็นบรรทัดฐานว่านายจ้างสามารถหักค่าจ้างกรณีมาสายได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 ได้อนุญาตให้นายจ้างสามารถหักค่าจ้างได้จำนวน 6 เรื่องเท่านั้น และไม่ได้อนุญาตให้นายจ้างสามารถหักค่าจ้างกรณีลูกจ้างมาทำงานสาย แต่ที่กล่าวมานี้คือข้อกฎหมายโดยทั่วๆไป แต่อย่างไรก็ตาม มาตรา 76 กำหนดข้อห้ามไม่ให้นายจ้างหักค่าจ้าง แต่กรณีที่ลูกจ้างมาทำงานสาย นายจ้างสามารถ “ไม่จ่ายค่าจ้าง” ตามจำนวนเวลาที่ไม่มาทำงานได้ ซึ่งจะเป็นคนละด้านกับการที่นายจ้าง “หักค่าจ้าง” ซึ่งเป็นข้อห้าม แต่การที่ไม่จ่ายค่าจ้างเนื่องมากลูกจ้างมาทำงานสายตามจำนวนนาทีที่ลูกจ้างมาสาย ก็เป็นสิทธิของนายจ้างที่จะไม่จ่ายได้เนื่องจากลูกจ้าง “ไม่ได้ทำหน้าที่” ของตนเองตามสัญญาจ้างอีกทั้งสุ่มเสี่ยงที่จะถูกลงโทษทางวินัยฐานมาทำงานสายอีกด้วยครับ หากผิดซ้ำคำเตือนนายจ้างก็จะนำมาเป็นเหตุในการเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้ครับ ดังนั้นจะเป็นค่าจ้างค้างจ่ายหรือไม่นั้นก็พิจารณาจากข้อความข้างต้นให้ได้ข้อยุติก่อนครับ

3.หากนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างคงค้างพร้อมดอกเบี้ยเพิ่มร้อยละ 15 จากเงินคงค้างจ่าย และทบจากเงินต้นทุกๆ 7 วัน หมายถึงหลังจากที่นายจ้างโอนเงินมาให้ผม(27 มีนาคม) หรือ 7 วันหลักจากรอบการจ่ายเงินตามปกติของแพทย์คนอื่นๆครับ(ทุกๆวันที่ 30 ของทุกเดือน)?

อืมม..คำถามนี้ ไม่ค่อยเข้าใจว่าต้องการให้ทนายตอบอะไร ถ้าให้เดาใจก็คงอยากจะรู้ว่าการคิดดอกเบี้ยผิดนัดและเงินเพิ่มร้อยละ 15 ทุก 7 วัน คิดกันอย่างไร ขอขยายความตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2551 ได้กำหนดให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี หากไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทํางานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดหรือค่าชดเชย และหากพ้นระยะเวลา 7 วันไปแล้ว นายจ้างไม่จ่ายโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร นายจ้างก็จะต้องรับผิดชอบจ่ายเงินเพิ่ม(ลักษณะเดียวกันกับเบี้ยปรับ) ให้กับลูกจ้างอีกร้อยละ 15 ทุกระยะ 7 วัน เช่น ค้างค่าจ้าง 10,000 บาท เงินเพิ่มร้อยละ 15 ก็จะเท่ากับ 1,500 บาท ดังนั้น หากนายจ้างเจตนาไม่จ่ายค่าจ้างจำนวน 21 วัน นายจ้างก็ต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก 4,500 บาท และหากยังไม่จ่ายก็ให้คิด 1,500 ทุกระยะ 7 วันครับ

4.สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ถือเป็นค่าจ้างคงค้างจ่ายที่ต้องบวกดอกเบี้ยตามคำถามข้อที่ 3 หรือไม่ครับ ควรจะดำเนินการหลังถูกเลิกจ้างกี่วันหากไม่ใช่สามารถคิดดอกเบี้ยได้หรือไม่อย่างไรครับ?

ตอบ ต้องดูที่เจตนาครับว่า เป็นการเจตนาที่จะไม่จ่ายหรือไม่ ถ้าเจตนาก็ต้องเสียเงินเพิ่ม แต่ถ้าไม่เจตนาศาลหรือพนักงานตรวจแรงงานมักจะไม่คิดให้ครับ ประเด็นนี้ศาลหรือพนักงานตรวจแรงงานจะเป็นผู้วินิจฉัยเองครับว่าเจตนาหรือไม่มีเจตนา แต่สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่ใช่เงินตามมาตรา 9 จึงไม่สามารถคิดเงินเพิ่มได้ ส่วนระยะเวลาที่ดำเนินการนั้น ในกฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้โดยตรงแต่อนุมานได้ว่า หลังจาก 7 วันผ่านไปแล้วครับ

5.ในวันที่นายจ้างนัดสัมภาษณ์และมีการตกลงการจ้างงานนั้น ผมได้มีการแจ้งแก่นายจ้างไปแล้วว่า ไม่ว่าการจ้างงานจะมีการเซ็นสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร หรือปากเปล่าก็ตาม ทำงานไม่ว่าจะเป็นฟูลไทม์หรือพาร์ทไทม์ก็ตาม กฎหมายแรงงานก็คุ้มครองลูกจ้างตามที่กฎหมายระบุไว้อยู่แล้ว และแจ้งด้วยว่าไม่ว่าผมจะทำงานที่นี่สัปดาห์ละกี่วัน หากเลิกจ้าง ยังไงก็ต้องบอกก่อนครบกำหนดรอบชำระค่าจ้างไม่ต่ำกว่า 1 รอบ และหากมีสัญญาที่ขัดต่อกฎหมาย สัญญานั้นก็บังคับใช้ไม่ได้ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ทางนายจ้างไม่ได้ตอบรับใดๆและแจ้งว่าไม่เคยเลิกจ้างหรือไล่ใครออกกะทันหันในลักษณะนี้อยู่แล้ว ผมจะฟ้องร้องยังไงให้ศาลเชื่อว่านายจ้างมีเจตนาละเมิดกฎหมาย ทั้งๆที่รู้กฎหมายอยู่แล้ว ถึงแม้ไม่รู้ แต่ผมก็ได้มีการแจ้งข้อกฎหมายแต่ทีแรกเอาไว้แล้ว และหากพิสูจน์ได้ว่านายจ้างมีเจตนาละเมิดกฎหมายจริงๆ จะเป็นผลดีต่อทางแรงงานหรือไม่อย่างไรครับ?

ตอบ คุณหมออธิบายหลักกฎหมายแรงงานได้ถูกต้องแล้วครับ แต่กรณีจะใช้สิทธิทางศาลนั้น ไม่ต้องกังวลว่าศาลจะไม่เชื่อ เพราะศาลแรงงานเป็นศาลชำนัญพิเศษที่ใช้ระบบ “ไต่สวน” ที่ศาลสามารถแสวงหาข้อเท็จจริงเองได้ ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่านายจ้างละเมิดกฎหมายแรงงาน ศาลจะเป็นผู้กำหนดความเป็นธรรมกับคู่ความต่อไปครับ และปัญหาสำคัญประการหนึ่งของผู้ใช้แรงงานคือไม่รู้สิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายแรงงาน ทั้งๆที่ต้องอยู่กับเรื่องเหล่านี้ตั้งแต่เป็นลูกจ้าง อีกทั้งรัฐบาลเองก็ไม่ส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้กฎหมายแรงงานเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันคนเองและบุคคลรอบข้าง ก็น่าหนักใจอยู่ครับ

ทนายพร
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 05, 2016, 01:30:43 am โดย ทนายพร »

phol.p.md

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 2
    • ดูรายละเอียด
จากข้อสามผมอาจจะถามไม่ตรงจุดครับ
จริงๆผมแค่อยากทราบว่า สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
กฎหมายกำหนดให้คิดดอกเบี้ยอย่างไรครับ

แพทย์หลายๆคนไม่ค่อยรู้กฎหมายครับ
เลยมักมีการทึกทีกกันเอาเองในหมู่แพทย์ว่า
การเป็นลูกจ้างพาร์ทไทม์จะถูกให้ออกเมื่อไรก็ได้
บางคนถูกนายจ้างเอาเปรียบก็ไม่คิดจะทวงสิทธิ์ของตัวเอง

ยังไงก็ขอบคุณมากเลยครับที่กรุณาให้ความรู้ครับ

ทนายพร

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 758
    • ดูรายละเอียด
ตอบคำถามเก็บตก สำหรับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า มิใช่ค่าจ้าง หรือเงินตามมาตรา ๙ จึงคิดดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละ ๗.๕ ต่อปีเท่านั้นครับ
และยินดีตอบคำถามทุกคำถามและขอเป็นกำลังให้นะครับ
ทนายพร