ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน
การเลือกตั้งที่เป็นโมฆะในตัวเอง ( Per se ) เป็นการเลือกตั้งที่กระทำขึ้นโดยผิดกฎหมาย อันเป็นสาระสำคัญของการเลือกตั้ง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำอื่นใดที่จะทำให้การเลือกตั้งนั้นเป็นโมฆะได้อีก โดย การกระทำที่ผิดกฎหมายนั้น ได้กระทำโดยผู้มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการเลือกตั้ง ไม่ว่าผู้มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการเลือกตั้งนั้น จะรู้หรือไม่รู้ถึงการกระทำอันผิดกฎหมายนั้นหรือไม่ก็ตาม การเลือกตั้งดังกล่าวย่อมเป็นโมฆะในตัวเองทั้งสิ้น ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.2557 คือ คณะกรรมการการเลือกตั้งและนายกรัฐมนตรีกับรัฐบาลรักษาการ ซึ่งมีลำดับการกระทำที่ผิดกฎหมายคือ
1. การเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.2557 ไม่ได้เกิดจากอายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 104 , 107 แต่เป็นเรื่องที่สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง เพราะมีการยุบสภาตามมาตรา 106 โดยนายกรัฐมนตรีได้ประกาศยุบสภาให้สาธารณชนทราบไว้ก่อนแล้วว่า จะยุบสภาเพื่อให้ประชาชนที่จะมาร่วมชุมนุมขับไล่รัฐบาล ในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 นั้นไม่ต้องมาชุมนุม โดยประกาศว่าจะยุบสภานั้นเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนเพื่อไปเลือกตั้งกันใหม่ การประกาศเจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรีในการยุบสภา จึงขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญตามมาตรา 108 เพราะพระมหากษัตริย์เท่านั้นที่ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทน ราษฎร เพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ กรณีการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญยุบสภาตามมาตรา 108 ไม่ใช่เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี แต่เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะและไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีการใช้พระราชอำนาจไว้อย่างไร
เมื่อนายกรัฐมนตรี ต้องการยุบสภาโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 108 นายกรัฐมนตรีจะต้องนำหลักประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุขมาเป็นหลักปฏิบัติ โดยต้องขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยก่อนที่จะเสนอพระราชกฤษฎีกาให้ทรงลงพระ ปรมาภิไธย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 7 การออกพระราชกฤษฎีกาให้ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 แล้ว เสนอไปตามลำดับขั้นตอนของทางราชการเพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธยนั้น พระราชกฤษฎีกาให้ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 ย่อมขัดต่อรัฐธรรมนูญและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 7 และมาตรา 108 ซึ่งทำให้พระราชกฤษฎีกาให้ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 เป็นโมฆะทั้งฉบับ นายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้รับผิดชอบการใช้พระราชกฤษฎีกาซึ่งเป็นโมฆะนั้น เพราะเป็นผู้สนองพระบรมราชโองการ เพราะรัฐธรรมนูญได้บัญญัติคุ้มครองพระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ ขัดต่อกฎหมายไว้แล้วตามมาตรา 187
การใช้พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในการเลือกตั้ง การเลือกตั้งจึงเป็นโมฆะในตัวเอง
2. พระราชกฤษฎีกาให้ยุบสภาผู้แทนราษฎรฯมาตรา 5 ที่บัญญัติ ให้นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาให้ยุบสภาผู้แทนราษฎรฯ นั้น เป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 235 , 236 ให้อำนาจหน้าที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งได้เท่านั้น แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2557 นายกรัฐมนตรีรักษาการ ( หรือในฐานะคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้วตาม รธน.มาตรา 181 ) ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี และจังหวัดสมุทรปราการ โดยให้มีผลใช้บังคับระหว่างวันที่ 22 มกราคม 2557 ถึงวันที่ 22 มีนาคม 2557 และมีคำสั่งจัดตั้งศูนย์รักษาความสงบ หรือ ศรส. มีคำสั่งตั้งบุคคลซึ่งเป็นรัฐมนตรีรักษาการเป็นผู้อำนวยการศูนย์ แต่งตั้งรัฐมนตรีรักษาการและข้าราชการตำรวจหลายคนเป็นที่ปรึกษา
นายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ได้มอบหมายให้ศรส.ดูแลความเรียบร้อยการเลือกตั้ง รวมทั้งมีข่าวออกสู่สาธารณะว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มอบหมายให้ ศรส.เป็นผู้ควบคุมดูแลการเลือกตั้งด้วย ซึ่งก็ปรากฏว่าศรส.เข้าไปควบคุมดูแลการเลือกตั้ง โดยศรส.ได้ประกาศให้สาธารณชนทราบว่า ศรส.ได้เข้าไปควบคุมการดำเนินการและจัดการในการเลือกตั้งเองทั้งหมด ศรส.เป็นผู้เข้าไปสั่งการให้คณะกรรมการการเลือกตั้งปฏิบัติตามคำสั่งของศรส. ในกรณีปัญหาบัตรเลือกตั้งที่ติดค้างอยู่ที่ทำการไปรษณีย์บางแห่งในเขตสาม จังหวัดชายแดนภาคใต้ แสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจในการควบคุมการเลือกตั้งของศรส.ซึ่งมิได้มีแต่ เฉพาะในเขตพื้นที่ที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเท่านั้น แต่ศรส.สามารถใช้อำนาจในการควบคุม ดำเนินการจัดการเลือกตั้งได้ทั่วราชอาณาจักร และใช้อำนาจในการบังคับบัญชาคณะกรรมการการเลือกตั้งได้โดยใช้วิธีการข่มขู่ ที่จะดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญากับคณะกรรมการการเลือกตั้งให้กระทำการ หรือไม่ให้กระทำการตามที่ศรส.ต้องการ มีการข่มขู่และกล่าวหาว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งจงใจไม่จัดการเลือกตั้ง ฯลฯ
การกระทำของนายกรัฐมนตรีที่ได้ออกพระราชกฤษฎีกาให้ยุบสภาฯโดยกำหนด ให้ตนเองกับประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาฯแล้ว ใช้อำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงโดยมอบหมายให้ศรส.เป็นผู้ ดำเนินการและจัดการเลือกตั้งนั้น จึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาโดยชัดแจ้งของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลรักษาการที่ ต้องการจะเป็นผู้ควบคุมและดำเนินการหรือจัดการเลือกตั้งเสียเอง และ/หรือเข้ามาแทรกแซง ก้าวล่วง ควบคุม และดำเนินการหรือจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
พระราชกฤษฎีกาให้ยุบสภาฯมาตรา 5 จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 235 , 236 ซึ่งใช้บังคับไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 6 การเลือกตั้งจึงเป็นโมฆะในตัวเอง
ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงโดยมอบหมายให้ศรส.ควบคุมดูแล การเลือกตั้งได้ทั่วราชอาณาจักร ทั้งในเขตพื้นที่ประกาศและนอกเขตพื้นที่ประกาศนั้น การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และภายใต้การควบคุมดูแลการเลือกตั้งของศรส.นั้น การเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 จึงเป็นโมฆะในตัวเอง
3. คณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรที่ต้องมีอำนาจ หน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายต่างๆและมีอำนาจชี้ขาด ปัญหาต่างๆได้ด้วยอำนาจของตนเอง นอกจากกฎหมายบัญญัติให้คณะกรรมการ การเลือกตั้งต้องใช้อำนาจทางศาลหรือองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ เมื่อพระราชกฤษฎีกาให้ยุบสภาออกใช้บังคับ ในการใช้อำนาจดำเนินการเลือกตั้งตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องตรวจสอบถึงฐานแห่งการใช้อำนาจหน้าที่ของตนเอง ว่า การตราพระราชกฤษฎีกาให้ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 นี้ได้ออกมาโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่
และการที่พระราชกฤษฎีกาฯได้บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีร่วมกับประธานกรรมการการ เลือกตั้งเป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกา ซึ่งทำให้นายกรัฐมนตรีจะสามารถเข้ามาดำเนินการควบคุมและดำเนินการเลือกตั้ง ได้นั้น จะมีอำนาจหน้าที่เพียงใดและจะขัดกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามที่รัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจไว้หรือไม่ ถ้าเห็นว่าพระราชกฤษฎีกาให้ยุบสภาฯที่ออกใช้บังคับนั้น ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ขัดต่ออำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ อันจะเป็นเหตุให้การเลือกตั้งนั้นไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ด้วยความสุจริตและ เป็นธรรมแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องดำเนินการกำจัดอุปสรรคที่เข้ามาเกี่ยวข้องแทรก แซงการทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งให้เสร็จสิ้นเสียก่อน โดยต้องวินิจฉัยเองหรือขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พระราชกฤษฎีกาให้ยุบสภาฯนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขัดต่อเจตนารมณ์และใช้บังคับได้หรือไม่เสียก่อน เพราะมิฉะนั้นจะเกิดข้อขัดข้องและความขัดแย้งดังเช่นที่เกิดขึ้นให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้ว
การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราช กฤษฎีกาให้ยุบสภาฯ แล้วดำเนินการเลือกตั้งโดยอาศัยพระราชกฤษฎีกาให้ยุบสภาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแล้ว การเลือกตั้งที่ได้ดำเนินการไปนั้น จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญและเป็นโมฆะในตัวเอง
4. การเลือกตั้งที่เป็นโมฆะในตัวเอง รัฐบาลรักษาการหรือคณะกรรมการการเลือกตั้งก็ไม่อาจดำเนินการใดๆเกี่ยวกับการ เลือกตั้งที่เป็นโมฆะนั้นได้อีกต่อไป ซึ่งเป็นไปตามหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า “ สิ่งที่ไร้ผลแต่แรกแล้ว ไม่มีทางทำให้มีผลได้ในภายหลัง ” [ Quae ab initio inutilis fuit institutio ex post facto vconvalescere non potest - หลักก.ม.ละติน] หรือ “ การใช้สิทธิผิดๆไม่ทำให้กลายเป็นเรื่องที่ถูกต้องขึ้นได้” [ Ab abusu ad usum non valet consequential ] ดังนั้นการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะเสนอให้รัฐบาลรักษาการดำเนินการออก พระราชกฤษฎีกาเพื่อให้มีการเลือกตั้งเฉพาะในจังหวัดหรือในเขตที่เลือกตั้ง ไม่ได้นั้น หรือรัฐบาลรักษาการจะเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งออกประกาศให้มีการเลือก ตั้งเอง ก็ไม่มีผลที่จะทำให้การเลือกตั้งที่เป็นโมฆะในตัวเองนั้น กลายเป็นการเลือกตั้งที่ไม่เป็นโมฆะได้แต่อย่างใดไม่ แต่การดำเนินการต่อมาเพื่อที่จะให้การเลือกตั้งมีผลในภายหลังนั้นย่อมเป็น การปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ อันเป็นความผิดอาญาซึ่งประชาชนทั่วไปเป็นผู้เสียหายได้
การเลือกตั้งที่เป็นโมฆะในตัวเอง แม้ในขณะที่มีการจัดการเลือกตั้งจะมีประชาชนเข้าขัดขวางการเลือกตั้งไม่ว่า จะกระทำโดยวิธีใดๆก็ตาม ก็ไม่มีผลทำให้การเลือกตั้งที่เป็นโมฆะในตัวเองนั้นแปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้
5. การเลือกตั้งที่เป็นโมฆะในตัวเองจะเกิดสุญญากาศในทางอำนาจการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะรัฐบาลรักษาการนั้นไม่อาจอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ได้อีกต่อไป เนื่องจากไม่มีคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ได้โดยแน่แท้ เพราะไม่อาจเปิดสภาเรียกประชุมครั้งแรกได้ในกำหนด 30 วัน ตามมาตรา 127 ไม่อาจตั้งนายกรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 อัน เป็นที่ประจักษ์โดยชัดแจ้งแล้วว่า การอยู่ในหน้าที่จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่เพื่อเข้ารับหน้าที่ แทนนั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้อย่างแน่แท้ การอยู่ในตำแหน่งของคณะรัฐมนตรีรักษาการจึงหมดสิ้นลงตามหลักกฎหมายที่ว่า “ข้อความที่ชัดแจ้งอยู่แล้ว ย่อมไม่ต้องการคำอธิบาย ” ( Absoluta sententia expositore non indiget )
6. การเลือกตั้งที่เป็นโมฆะในตัวเอง เกิดจากการยุบสภาอันเนื่องมาจากมีการกระทำของรัฐบาล ในขณะที่รัฐบาลมีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะได้ดำเนินการบริหารราชการแผ่นดินและดำเนินการทางรัฐสภาในการแก้ไขรัฐ ธรรมนูญว่าด้วยเรื่องที่มาของวุฒิสมาชิก แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ออกกฎหมายนิรโทษกรรมและฯลฯ จนมีการฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญและศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยในเรื่องที่มาของ วุฒิสมาชิกว่า ประธานรัฐสภา รองประธานรัฐสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภารวม ๓๑๔ คน ซึ่งเป็นสมาชิกพรรครัฐบาลได้กระทำผิดรัฐธรรมนูญ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๕ -๑๘ /๒๕๕๖ แล้ว เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้ยุบสภาฯ เพราะถูกประชาชนชุมนุมประท้วงให้ลาออก และรัฐบาลได้รักษาการต่อมา จึงเป็นกรณีที่ผู้กระทำความผิดได้มีอำนาจในการรักษาการในฐานะรัฐบาล การใช้บังคับรัฐธรรมนูญในเรื่องที่รัฐบาลจะอยู่ในตำแหน่งรักษาการนั้น จะต้องตีความโดยเคร่งครัดและจำกัดสิทธิ เพราะรัฐบาลจะถือเอาประโยชน์จากการกระทำความผิดของตนที่ได้กระทำไว้ก่อนยุบ สภาเพื่อที่จะรักษาการต่อไปเรื่อยๆนั้นไม่อาจกระทำได้ ซึ่งเป็นไปตามหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า “ ไม่มีใครจะถือเอาประโยชน์จากการกระทำความผิดของตนเองได้ ” ( Nullus commodum capere potest de injuria sua propria )
การที่รัฐบาลได้ออกพระราชกฤษฎีกาให้ยุบสภาฯโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญและ เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการการกเลือกตั้งกับรัฐบาลรักษาการได้ร่วมกันใช้พระราชกฤษฎีกาให้ ยุบสภาฯนั้นดำเนินการเลือกตั้ง อันเป็นการใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิมหาชน ซึ่งมีความสำคัญกว่าสิทธิเอกชน ความผิดพลาดโดยการนำเอากฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและเจตนารมณ์ทางรัฐธรรมนูญ มาใช้บังคับในการเลือกตั้ง จึงเกิดผลร้ายแก่มหาชนในทางละเมิดต่อสิทธิ เสรีภาพและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของประชาชน ข้อตกลงที่จะให้มีการเลือกตั้งต่อไป ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆก็ตาม เพื่อให้การเลือกตั้งที่เป็นโมฆะในตัวเองนั้นดำเนินให้เป็นผลสำเร็จ ย่อมเป็นการกระทำความผิดอาญาทั้งสิ้น เพราะการใช้พระราชกฤษฎีกาให้ยุบสภาฯโดยไม่รู้หรือไม่มีความชำนาญที่จะรู้ว่า พระราชกฤษฎีกาฯนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ตามหลักกฎหมายทั่วไปก็ถือว่า “ ความไม่รู้ ไม่มีความชำนาญนั้นเป็นความผิดแล้ว ” ( Imperatia culpae adnumeratur )
เขียนโดยยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
เผยแพร่ในผู้จัดการออนไลน์ 18 กุมภาพันธ์ 2557
click อ่านได้ที่นี่...
อ่านข่าวแรงงาน CLICK ที่นี่...
อ่านข่าว click ที่นี่...
อ่านข่าวมติชน click ที่นี่...
อ่านรายชื่อได้ที่นี่...
ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67 &nb...
CLICK ที่นี่...
ค้นหากดที่นี่...
CLICK ที่นี่...