ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน
การนัดหยุดงาน หรือการปิดงาน เป็นวิธีการขึ้นรุนแรงเพื่อบีบบังคับให้อีกฝ่ายต้องยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องหรือข้อเสนอของฝ่ายตน วิธีการเช่นนี้เป็นมาตรการทางแรงงานสัมพันธ์ขั้นสุดท้ายในการระงับข้อพิพาทแรงงานตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านลบเป็นอย่างมาก ทั้งต่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง และความสูญเสียทั้งสองฝ่าย ตลอดจนก่อให้เกิดผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือและกิจการ
นอกจากนี้การนัดหยุดงานและการปิดงานยังก่อให้เกิดผลทางกฎหมายที่ค่อนข้างยุ่งยากและซับซ้อนหลายประเด็นด้วยกัน เนื่องจากการนัดหยุดงานและการปิดงานมีผลทำให้สัญญาจ้างแรงงานระงับลงชั่วคราว แต่ยังไม่สิ้นสุดลง กล่าวคือ สัญญาจ้างแรงงานยังคงมีอยู่ แต่ชะงักหรือระงับชั่วคราวในลักษณะที่ซ้อนกันนั่นเอง
1. ผลการระงับลงชั่วคราวของสัญญาจ้างแรงงาน
การ นัดหยุดงานและการปิดงานก็มีผลเพียงทำให้สัญญาจ้างแรงงานระงับลงชั่วคราวเท่านั้น แต่ไม่ทำให้สัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลง เพราะการนัดหยุดงานไม่ใช่การลาออกจากงานหรือการบอกเลิกสัญญา และการปิดงานก็มิใช่การบอกเลิกจ้างหรือการบอกเลิกสัญญาจ้างเช่นกัน ดังนั้นความสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างและลูกจ้างจึงยังคงมีอยู่ เพียงแต่ทำให้นิติสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างแรงงานรระงับลงหรือหยุดลงชั่วคราว ซึ่งก่อให้เกิดผลทางกฎหมายหลายประการโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับค่าจ้าง การเลิกจ้างและการลงโทษลูกจ้างที่นัดหยุดงาน
1.1 ค่าจ้าง
ตามบทบัญญัติใน ม.575 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะเห็นว่าสัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่นายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างแก่ลูกจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ ดังนั้นเมื่อลูกจ้างไม่ได้ทำงานอันเนื่องมาจากการนัดหยุดงานหรือการปิดงาน นายจ้างก็ไม่จำต้องจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างเป็นการตอบแทน และหากนายจ้างได้จ่ายค่าจ้างล่วงหน้าให้ลูกจ้างแล้ว นายจ้างก็สามารถเรียกค่าจ้างในช่วงระยะเวลาที่ลูกจ้างนัดหยุดงานคืนได้ แต่ถ้าการปิดงานนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ลูกจ้างก็อาจฟ้องเรียกค่าเสียหายในระหว่างการปิดงาน ซึ่งทำให้ลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างนั้นได้ ในทางกลับกันนายจ้างก็อาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากลูกจ้างได้เช่นกัน ถ้าการหยุดงานนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
ในกรณี ที่มีวันหยุดประจำสัปดาห์ หรือวันหยุดตามประเพณีหรือแม้แต่วันหยุดซึ่งเป็นวันแรงงานแห่งชาติ รวมอยู่ในระหว่างการนัดหยุดงานหรือการปิดงาน ซึ่งปกติลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด แม้จะไม่มีการทำงานให้นายจ้างก็ตาม แต่ในกรณีนัดหยุดงานหรือปิดงาน ซึ่งมีผลทำให้สัญญาจ้างแรงงานระงับลงชั่วคราวนี้ ลูกจ้างย่อมไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดดังกล่าว แม้สัญญาจ้างจะยังไม่สิ้นสุดลงก็ตาม เนื่องจากในระยะเวลาดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายไม่มีหน้าที่ต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.575
ในกรณีลูกจ้างเจ็บป่วยในระหว่างการนัดหยุดงานหรือการปิดงาน ซึ่งตามปกติลูกจ้างจะต้องได้รับค่าจ้างตลอดระยะเวลาที่ลาป่วยปีละไม่เกิน 30 วันทำงานตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานนั้น แต่เนื่องจากผลของการที่สัญญาจ้างแรงงานระงับลงชั่วคราว จึงทำให้ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง
ในกรณีที่ลูกจ้างคลอดบุตรในระหว่างที่นายจ้างปิดงานนั้น แม้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์จะมีสิทธิลาเพื่อการคลอด และได้รับค่าจ้างเท่าเวลาที่ลาแต่ไม่เกิน 45 วันตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานก็ตาม แต่ในกรณีนี้ ลูกจ้างก็ย่อมไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างเช่นกัน
1.2 การเลิกจ้างและการลงโทษลูกจ้างที่นัดหยุดงาน
ในระหว่างการนัดหยุดงานโดยชอบด้วยกฎหมาย นายจ้างย่อมไม่มีสิทธิในการเลิกจ้างหรือลงโทษทางวินัยใดๆแก่ลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องด้วยเหตุผล เพียงเพราะลูกจ้างนั้นนัดหยุดงาน
2. ผลจากการคงอยู่ของสัญญาจ้างแรงงาน
การนัดหยุดงานและการปิดงานมีผลเพียงทำให้สัญญาจ้างแรงงานระงับลงชั่วคราวเท่านั้น แต่ไม่ทำให้สัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลง ดังนั้นความสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างและลูกจ้างยังคงมีอยู่ สิทธิและผลประโยชน์อื่นยังคงมีอยู่ตามปกติ เพราะการปิดงานและการนัดหยุดงานเป็นสิทธิตามกฎหมาย
2.1 สวัสดิการอื่นที่ไม่ใช่ค่าจ้าง
สวัสดิการอื่นที่มิใช่ค่าจ้างที่นายจ้างจัดให้แก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน หรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เช่น ที่พัก หรือเงินช่วยเหลือค่าเช่าบ้าน หรือเงินช่วยเหลือค่าทำศพ เป็นต้น นายจ้างจะปฏิเสธไม่จัดให้ลูกจ้างหรือไม่จ่ายให้ลูกจ้างในระหว่างการนัดหยุด งานหรือการปิดงานไม่ได้ เพราะสัญญาจ้างแรงงานยังไม่สิ้นสุดลงและสวัสดิการอื่นก็มิใช่ค่าจ้างที่นาย จ้างต้องจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างได้ทำ(คำพิพากษาฎีกาที่ 1437/2524)
2.2 ตำแหน่งและอายุการทำงาน
การนัดหยุดงานและการปิดงานไม่มีผลให้อายุการทำงานของลูกจ้างสิ้นสุดลง เพราะสัญญาจ้างแรงงานยังไม่สิ้นสุดลงเพียงแต่ระงับชั่วคราว ฐานะความเป็นลูกจ้างและนายจ้างยังไม่สิ้นสุดลงด้วย
ดังนั้น การกลับเข้าทำงานของลูกจ้าง หลังจากการนัดหยุดงานหรือการปิดงาน จึงเป็นการกลับมาในฐานะลูกจ้างเดิม ไม่ใช่ในฐานะลูกจ้างใหม่ เพราะไม่มีการเลิกจ้าง นายจ้างจะถือเป็นเหตุไม่ขึ้นค่าจ้างหรือลดตำแหน่งหรือเปลี่ยนแปลงตำแหน่ง หน้าที่การทำงานโดยลูกจ้างไม่ยินยอมด้วยสาเหตุการนัดหยุดงานและการปิดงานไม่ ได้
กรณีวันหยุดพักผ่อนประจำปี ต้องใช้ระยะเวลาตามปกติโดยนับรวมระยะเวลาในการนัดหยุดงาน หรือการปิดงานมาใช้ในการคำนวณวันหยุดพักผ่อนประจำปี
กรณีมีระยะเวลาทดลองงานในระหว่างที่มีการนัดหยุดงานหรือการปิดงาน จะต้องขยายเวลาทดลองงานเพิ่มตามจำนวนระยะเวลาที่นัดหยุดงานหรือปิดงาน
กรณีคำนวณค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้าง หรือการจ่ายบำเหน็จบำนาญ จะไม่นำระยะเวลาในระหว่างการนัดหยุดงานหรือการนัดปิดงานนั้นมานับรวมกับวัน ทำงานตามปกติเป็นอายุการทำงาน เพราะเหตุแห่งการระงับลงชั่วคราวของสัญญาจ้างแรงงานนั้นเอง
2.3 สิทธิในเงินทดแทนและประโยชน์ทดแทนตามกฎหมาย
ก. สิทธิในเงินทดแทน
เงินทดแทนตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน หมายถึง เงินที่จ่ายให้ลูกจ้างหรือผู้มิสิทธิตามกฎหมายเป็นค่าทดแทน ค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน และค่าทำศพ ในกรณีที่ลูกจ้างประสบอันตราย เจ็บป่วย สูญหาย หรือถึงแก่ความตายอันมีสาเหตุมาจากการทำงานให้นายจ้าง
(1). กรณีประสบอันตราย หมายถึง การที่ลูกจ้างได้รับอันตรายแก่กาย หรือผลกระทบต่อจิตใจ หรือถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง ดังนั้น ในระหว่างการนัดหยุดงานหรือปิดงานซึ่งลูกจ้างไม่ได้ทำงานให้นายจ้างนั้น หากลูกจ้างประสบอันตรายดังกล่าว จึงมิใช่เกิดจากการทำงานให้นายจ้าง ดังนั้น ลูกจ้างจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทน
(2). กรณีเจ็บป่วย หมายถึง การที่ลูกจ้างเจ็บป่วยหรือถึงแก่ความตายด้วยโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะ หรือสภาพของงาน หรือเนื่องจากการทำงานซึ่งกฎหมายได้กำหนดชนิดของโรคไว้ กรณีนี้ไม่ว่าลูกจ้างจะเจ็บป่วยหรือถึงแก่ความตายในระหว่างหรือภายหลังการนัดหยุด งานหรือปิดงาน ลูกจ้างหรือทายาทผู้อยู่ในอุปการะของลูกจ้างย่อมมีสิทธิได้รับเงินทดแทน หากการเจ็บป่วยนั้นเป็นผลเนื่องจากการทำงานให้นายจ้างด้วยโรคดังกล่าว
(3). กรณีสูญหาย หมายถึง การที่ลูกจ้างหายไปในระหว่างการทำงานหรือปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างซึ่งมี เหตุอันสมควรเชื่อว่า ลูกจ้างถึงแก่ความตายเพราะประสบเหตุอันตรายที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำงาน หรือปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้าง ในกรณีเช่นนี้หากลูกจ้างได้สูญหายไปในระหว่างการนัดหยุดงานหรือปิดงานซึ่ง ลูกจ้างไม่ได้ทำงานให้นายจ้าง ทายาทหรือผู้อยู่ในอุปการะของลูกจ้างย่อมไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทน เพราะการสูญหายไม่ได้เกิดขึ้นในระหว่างการทำงานหรือปฏิบัติตามคำสั่งของนาย จ้าง
ข. สิทธิในประโยชน์ทดแทน
ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม ลูกจ้างยังคงมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนตามกฎหมายนี้ทุกประการ หากได้ปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ทั้งนี้ เพราะสัญญาจ้างยังไม่สิ้นสุดลง อีกทั้งการได้รับประโยชน์ทดแทนตามกฎหมายประกันสังคมในกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย หรือกรณีตายนั้นเกิดขึ้น เพราะเหตุอื่นที่มิใช่เนื่องมาจากการทำงานให้นายจ้างหรือปฏิบัติตามคำสั่ง ของนายจ้าง
2.4 กรณีตามสัญญาจ้างแรงงานที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างแน่นอน
สัญญาจ้างแรงงานที่มีกำหนดเวลาการจ้างแน่นอน หมายถึง สัญญาที่ได้กำหนดเวลาสิ้นสุดของการจ้างไว้แน่นอน ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดไม่ได้
กรณีที่เป็นลูกจ้างตามสัญญาการจ้างแรงงานที่มีกำหนดเวลาการจ้างแน่นอน ลูกจ้างหรือนายจ้างจะนำระยะเวลาระหว่างการนัดหยุดงานหรือปิดงานมาหักชดเชย หลังจากที่ครบกำหนดระยะเวลาการจ้างตามที่กำหนดไว้ไม่ได้ เพราะเป็นการขยายระยะเวลาเพิ่มเกินกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญา
ซึ่งต่างจากกรณีลูกจ้างทดลองงานซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้นายจ้างได้มีระยะเวลา ในการทดสอบความรู้ความสามารถก่อน นายจ้างจะนำระยะเวลาระหว่างการนัดหยุดงานหรือการปิดงานมาหักออกจากระยะเวลา ตามสัญญาจ้างทดลองงานไม่ได้ แต่ต้องขยายระยะเวลาทดลองงานเพิ่มตามจำนวนวันที่นัดหยุดงานหรือปิดงานเพื่อ ชดเชยจำนวนวันที่ขาดหายไปให้ครบตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาทดลองงาน
ดร.กิติพงศ์ หังสพฤกษ์
วารสารศาลแรงงานกลาง ฉบับเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2539
click อ่านได้ที่นี่...
อ่านข่าวแรงงาน CLICK ที่นี่...
อ่านข่าว click ที่นี่...
อ่านข่าวมติชน click ที่นี่...
อ่านรายชื่อได้ที่นี่...
ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67 &nb...
CLICK ที่นี่...
ค้นหากดที่นี่...
CLICK ที่นี่...